มิติหุ้น – CIBA DPU จับมือ กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน นำร่องใน 5 บริษัท 4 อุตสาหกรรม เป็นที่ปรึกษาช่วยผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคในรูปแบบการค้าตลาดอีคอมเมิร์ซ
ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ CIBA จัดโครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าคงคลังเพื่อการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมศักยภาพองค์กรด้วยหลักการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ภายใต้กิจกรรมพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ โดยได้มีการให้คำปรึกษา ช่วยผู้ประกอบการ ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 5 บริษัท ใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก
“ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ จะมีการขายสินค้าเป็นล็อตใหญ่ๆ ให้แก่ห้างร้านใหญ่ ในลักษณะ B2B เพื่อส่งขายไปยังร้านขายปลีก แล้วจึงจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไป แต่ในปัจจุบัน เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาซื้อสินค้าผ่านแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องหันมาขายในแพล็ตฟอร์มนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นในลักษณะ B2C คือขายสินค้าในลักษณะขายปลีก แบบแยกชิ้น ให้กับลูกค้าแต่ละราย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกระบวนการหลังบ้าน ตั้งแต่ระบบจัดเก็บสินค้า ระบบแพ็คสินค้าและการขนส่ง ให้สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจประเภทนี้ นอกเหนือจากนั้น การที่แพล็ตฟอร์มออนไลน์ มีโปรโมชั่นเช่น 11/11, 12/12 บริษัทก็จะต้องมีระบบการทำงานที่ดีที่รองรับความต้องการในปริมาณมากๆ ได้ เพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ และในราคาที่เหมาะสมที่สุด”ดร.รชฏ กล่าว
นางนิสารัตน์ ศุภสวัสดิ์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมโลจิสติกส์องค์กร กองโลจิสติกส์ กล่าวถึงหัวใจหลักของการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ดี คือ 1) การมีข้อมูลปริมาณสินค้าในคลังที่ถูกต้องแม่นยำ 2) การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ไปสู่หน่วยงานอื่นๆ เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายควบคุมคุณภาพ และทุกหน่วยงาน อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) การพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าที่แม่นยำ ปัจจัยทั้ง 3 นี้ จะเป็นพื้นฐานของการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง สำหรับการค้าในรูปแบบออนไลน์ ปัญหาที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังขาดการพัฒนาระบบการจัดการพื้นฐานเหล่านี้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้บางครั้งไม่มีการจัดส่งสินค้าเพียงพอ ขาดสต็อก หรือบางครั้งของสต็อกมากเกินไป ทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อที่จะทำให้การบริหารจัดการสินค้าคงคลังในรูปแบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยืดหยุ่น
นายธนรัตน์ บาลทิพย์ นักวิชาการ กองโลจิสติกส์ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทราบจำนวนสินค้าที่คงเหลือและจัดการรายการสินค้าที่จะจำหน่ายในแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และจัดส่งไปยังลูกค้าได้อย่างรวดเร็วทันเวลา และลดการตีกลับของสินค้า สร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านการลดเวลาการดำเนินงาน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ถึง 15%
ดร. รชฏ กล่าวต่อว่า เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของผู้ประกอบการ จึงต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการบริหารจัดการสินค้าเพื่อการค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ดี โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กร ประกอบด้วยกิจกรรม การจัดซื้อจัดหาสินค้า การจัดการสต็อก ทาง CIBA DPU ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการให้คำปรึกษา และความรู้ในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และมีการติดตาม โดยตั้งทีมเข้าไปช่วยแนะนำ เครื่องมือพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า เครื่องมือการจัดการข้อมูลสินค้าคงคลัง การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาสินค้าคงคลัง ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับกิจกรรมในโครงการนี้ มีบริษัทที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 5 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท นิวสปอง จำกัด 2) บริษัท ศรีพิพัฒน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 3) บริษัท สยาม วอเตอร์ เฟลม จำกัด 4) บริษัท แสงรุ่งเรือง เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ 5) บริษัท เอื้ออารี ฟู้ดโปรดักท์ จำกัด โดยแต่ละบริษัทเลือกแนวทางและเครื่องมือในการปรับปรุงการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้บริหาร
การค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ ต้องการการขับเคลื่อนด้วยระบบ “โลจิสติกส์” ที่มีประสิทธิภาพ และต้องย้ำอีกครั้งว่า โลจิสติกส์ ไม่ใช่เพียงเรื่องการขนส่ง แต่รวมไปถึงการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การจัดหาสินค้า กระบวนการผลิต การเก็บสต็อกสินค้าและบริการ รวมถึงการส่งมอบลูกค้า ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ และการจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อมาวิเคราะห์ต่อเนื่อง เพื่อทำให้ระบบหลังร้านตอบโจทย์กับระบบหน้าร้านแบบอีคอมเมิร์ช หากผู้ประกอบการธุรกิจใดสนใจเข้าร่วมการอบรม หรือ เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน CIBA DPU
นอกจากนี้ CIBA DPU ยังเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสอนโดยคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ โดยเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 100% ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า บัณฑิตที่จบไปเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/program/bachelor/logistics/