สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย” ตอกย้ำองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าจัดงาน “มารักษ์กัน เพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วยฉลากเขียว” ชวนผู้ประกอบการ สร้างความยั่งยืนให้ภาคธุรกิจ

36

มิติหุ้น –  ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันการสร้างความยั่งยืนเป็นประเด็นที่ภาคเอกชน ตื่นตัวและให้ความสำคัญมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนผ่านเกณฑ์ของฉลากสิ่งแวดล้อม ก็ยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ การสร้างการรับรู้ที่ยังไม่ทั่วถึง การสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของฉลากสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพอ รวมถึงข้อเสนอหรือแรงจูงใจในการสนับสนุนการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมยังไม่เอื้ออำนวยต่อภาคเอกชนเท่าที่ควร ดังนั้น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม ที่น่าเชื่อถือและพึ่งพาได้ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงรุก สู่การปฏิบัติร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ด้วยหลัก ธรรมาภิบาล จึงเดินหน้าเปิดเวทีเสวนา ในหัวข้อ มารักษ์กัน เพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วย ฉลากเขียว โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนชั้นนำ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมบัญชีกลาง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์สำหรับบ้านและที่อยู่อาศัย ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สำนักงาน ผลิตภัณฑ์กระดาษ และผลิตภัณฑ์ยานยนต์ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงประเด็น “ฉลากสิ่งแวดล้อมกับการส่งเสริมธุรกิจ ทิศทางการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Production) และการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption)” ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติเพื่อที่จะพัฒนาการผลิตที่สะอาดและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล นำไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนต่อไป

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ประเด็นปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลและต่างผนึกกำลังร่วมมือเพื่อหาทางรับมือ โดยประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายไว้สามระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง ปี 2030 (พ.ศ.2573) ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน และเทคโนโลยี ระยะที่สอง เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และระยะที่สาม เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 (พ.ศ.2608) หลังเข้าร่วม COP26 ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ส่วนเรื่องการลดอุณหภูมิประเทศไทยอยู่ในทิศทางที่จะลดลงมาอยู่ระหว่าง 1.6-1.7 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ในขณะเดียวกันการรณรงค์ให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภคในรูปแบบยั่งยืน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายภาคส่วนตื่นตัวและให้ความสำคัญ โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในฐานะองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม จึงเดินหน้าร่วมขับเคลื่อนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว สู่การปฏิบัติร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ด้วยการเปิดเวทีเสวนาในครั้งนี้

           การแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสภาพภูมิอากาศไม่ใช่หน้าที่หลักของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่ประชากรของโลกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ในฐานะสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มีหน้าที่เผยแพร่ชุดข้อมูล สร้างการตระหนักรู้ โดยเฉพาะ “ฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม” ให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชน ในการทำความเข้าใจ ให้รับรู้ถึงความหมายที่แท้จริง เพื่อผลดีของการเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้าและบริการที่มีฉลากเขียวกำกับ”

ด้าน ดร.ฉัตรตรี ภูรัต ผู้อำนวยการฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นฉลากเขียว ฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ผ่านการประเมินและตรวจสอบว่าได้มาตรฐานทางด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยป้องกันรักษาธรรมชาติผ่านทางการผลิตและการบริโภค สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจึงสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการในการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า  ปลอดภัย และไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมทั้งยังเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว และเกิดผลลัพธ์คือความยั่งยืนในทุกมิติ

            การจัดงานมารักษ์กัน เพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วยฉลากเขียว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย หากเราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและตรงจุด ควรเริ่มที่การผลิตและการบริโภค เบื้องต้นเราอาจจะต้องถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ เพื่อชี้ให้เห็นข้อดีของการผลิตสินค้าและบริการที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจสำรวจกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ และชักจูงให้ผู้ประกอบการผลิตและขอการรับรองฉลากเขียว ในขณะเดียวกันภาครัฐ ก็ได้มีพื้นที่แสดงนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐ ซึ่งถือเป็นมาตรการเชิงรุกที่สำคัญเพื่อให้เกิดตลาดผลิตภัณฑ์สีเขียว ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเร่งให้เกิดการแข่งขันในการปรับปรุงคุณภาพสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตเองในระยะยาว

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้บริโภค การสร้างความตระหนักรู้ และการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียว ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งควรให้มีสื่อการสอนในชั้นเรียนมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เราควรปลูกฝังให้เด็กยุคดิจิทัลให้มีความเข้าใจอย่างแท้จริง ในขณะที่ภาครัฐควรมีข้อบังคับอย่างจริงจังในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำหนดเป้า หรือกลุ่มสินค้าและบริการให้ชัดเจน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี การคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ อาจต้องใช้เวลา แต่ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มตระหนักกันมากขึ้นแล้ว ทั้งการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาป เราแค่ต้องสื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่า การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว หรือองค์กรเดียว ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของคนทุกคน

#ฉลากเขียว #สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย #TEI #ฉลากสิ่งแวดล้อม #มารักษ์กัน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon