PwC คาดการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินของไทยฟื้นตัวในปี 67

47

มิติหุ้น – กรุงเทพฯ, 3 เมษายน 2567 – PwC ประเทศไทย คาดปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินของประเทศไทยในปี 2567 จะกลับมาฟื้นตัวจากปีก่อนที่กิจกรรมดีลชะลอตัวหลังต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มต่ำลงตามความคาดหวังของการลดอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งการออกใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (virtual bank) การปรับโครงสร้างหนี้ และการเปลี่ยนสู่ดิจิทัลขององค์กรเป็นปัจจัยสนับสุนน พร้อมแนะสถาบันการเงินไทยต้องทบทวนเป้าหมายของการทำดีล พิจารณาความคุ้มค่าของต้นทุน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าดีลนั้น ๆ สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ

นาย ภูวิณ หน่อชูเวช หุ้นส่วนสายงานดีลส์ บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังการควบรวมกิจการในธุรกิจบริการทางการเงินของประเทศไทยชะลอตัวในปี 2566 ในปีนี้กิจกรรมการควบรวมมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า เนื่องจากต้นทุนทาง การเงินที่คาดว่าจะต่ำลงเป็นผลมาจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะลดลง นอกเหนือจากนั้น ปัจจัยสนับสนุนยังรวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น และสภาวะทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลกที่คาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น

“กิจกรรมดีลในภาคบริการทางการเงินของไทยประสบปัญหาการชะลอตัวในปีที่แล้วเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากหันมาใช้แนวทางรอดูและประเมินว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างไร” นาย ภูวิณ กล่าว

“อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ฉะนั้น ในปีนี้เรามองว่าสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทั้งหลายจะเริ่มชัดเจนขึ้น และเมื่อรวมกับแนวโน้มของการลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ไว้ก็น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้กิจกรรมดีลฟื้นตัวได้” เขา กล่าว

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% แต่นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่า กนง. จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ทั้งนี้ การควบรวมกิจการทั่วโลกในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนตามข้อมูลจากรายงาน Global M&A Trends in Financial Services: 2024 Outlook ของ PwC โดยในปี 2566 ปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลกปรับตัวลดลง 12% และ 40% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า สัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับการดำเนินการของธนาคารกลางทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา และกิจกรรมของการทำดีลในตลาดเงินที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวจากช่วงเวลาของความไม่แน่นอนที่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ย

นาย ภูวิณ กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงินของไทยจะเป็นจุดสำคัญของการทำดีลในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคธนาคาร ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเตรียมออกใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาไม่จำกัดจำนวนของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (unserved) และกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการที่ดีเพียงพอ หรือไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตน (underserved) ซึ่งการออกใบอนุญาตดังกล่าว จะส่งผลให้มีผู้เล่นรายใหม่ในวงการธนาคารและทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (strategic alliance) กับผู้ประกอบการที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เช่น บริษัทเทคโนโลยี โทรคมนาคม หรือค้าปลีกเพื่อขยายการเติบโต อีกทั้งเพิ่มการลงทุนเพื่อสร้างความสามารถด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งในลำดับถัดไป

นอกจากนี้ การที่อัตราการผิดนัดชำระคืนหุ้นกู้ในภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น ยังส่งผลให้ธนาคารต่าง ๆ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือลูกค้าในการแก้ปัญหาทางการเงินต่าง ๆ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และกิจกรรมการระดมทุนผ่านช่องทางอื่น ๆ รวมไปถึงการซื้อขายหรือควบรวมกิจการ เช่น การขายสินทรัพย์หรือธุรกิจบางส่วนซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์ทางการเงินที่ประสบปัญหา

สำหรับในภาคประกันภัยนั้น นาย ภูวิณ กล่าวว่า กิจกรรมการควบรวมจะเกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจประกันวินาศภัย (non-life insurance)

“สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่รวมกันอยู่ประมาณ 50 แห่ง ซึ่งในระยะถัดไป บริษัทขนาดเล็กที่ฐานเงินทุนไม่สูงอาจต้องเผชิญความท้าทายในแง่การเติบโตและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการที่ต้องดำรงเงินกองทุนตามกฏหมายก็อาจสร้างแรงผลักดันให้มีการควบรวมกิจการ เนื่องจากบริษัทจำเป็นที่จะต้องต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำให้สอดคล้องกับกฎระเบียบด้านเงินทุนตามความเสี่ยง เช่น กรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 หรือที่เรียกว่า RBC 2 หรือมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 หรือ TFRS17 ตามที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด” เขา กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ในธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก เช่น ผู้ให้บริการการชำระเงิน ค้าปลีก และนอนแบงก์ จะต้องการขยายช่องทางสร้างรายได้ไปยังธุรกิจอื่นด้วยการซื้อธุรกิจประกันภัย ซึ่งกิจกรรมดีลในธุรกิจประกันภัยลักษณะนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นาย ภูวิณ กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (digital transformation) ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับธนาคารและบริษัทประกันภัยที่เทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งธนาคารและบริษัทประกันภัยจะต้องแสวงหาพันธมิตรเพื่อช่วยขยายระบบนิเวศ ลดต้นทุน และสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า ในทางกลับกัน บริษัทฟินเทคเองก็จะต้องการพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ธนาคาร และบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้ามาสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาระบบนิเวศและสร้างรูปแบบทางธุรกิจที่มีศักยภาพได้

นาย ภูวิณ กล่าวว่า “ในขณะที่กำลังรอดูทิศทางต้นทุนทางการเงิน ถือเป็นโอกาสที่ธุรกิจต่าง ๆ จะได้กลับมาทบทวนเป้าหมายที่แท้จริงของการทำดีลว่า ต้องการเพิ่มขนาดพอร์ตการลงทุน ขยายระบบนิเวศ หรือเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ เมื่อระบุเป้าหมายได้แล้วจึงค่อยประเมินว่า เป้าหมายนั้น ๆ คุ้มค่ากับต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการทำดีลให้เสร็จสิ้นหรือไม่

“ต้นทุนสำหรับการควบรวมธุรกิจไม่ได้จำกัดเพียงแค่ต้นทุนสำหรับการซื้อ แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายก่อนและหลังการทำดีลด้วย ดีลที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และลำดับความสำคัญขององค์กร” เขา กล่าว

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon