BWG ยกระดับธุรกิจขยะอุตสาหกรรม ลุยปั้นรายได้ “SRF” ขานรับนโยบายลดการปล่อย CO2

78

มิติหุ้น  –  บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน “BWG” ผู้นำอุตสาหกรรมการจัดการขยะอุตสาหกรรม
ผุดโปรเจกต์ใหม่ แปรรูปขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ขานรับนโยบายลดการปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรัฐ ตอบโจทย์ด้าน Zero Waste Landfill ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy (BCG) โดยใช้เชื้อเพลิง SRF ป้อนให้โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของบริษัทลูก ETC สอดรับเทรนด์พลังงานอุตสาหกรรมสีเขียว

     ปัจจุบันปริมาณขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มสูงถึง 22 ล้านตันต่อปี โรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีมากกว่า 72,000 โรงงานทั่วประเทศ และการกำจัดขยะดังกล่าวด้วยวิธีการฝังกลบ การเผา นั้นยังไม่เพียงพอ ทำให้ยังมีขยะบางส่วนที่ส่งกำจัดอย่างไม่ถูกวิธีจนสร้างมลพิษให้แก่สิ่งแวดล้อมจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เร่งส่งเสริมให้มีการนำขยะอุตสาหกรรมที่เผาไหม้ได้เข้าสู่กระบวนการคัดแยก เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า สร้างพลังงานทดแทน ตามนโยบายส่งเสริมการส่งออกจากอุตสาหกรรมไทย เพื่อลดการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ด้านภาษีจากต่างประเทศ โดยมีการกำหนดเรื่องการใช้พลังงานสีเขียว ภายใต้การจัดการขยะอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง และการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้น้อยลง

      ต่อประเด็นดังกล่าว บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน “BWG” ผู้นำด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม (ขยะอุตสาหกรรม) แบบครบวงจรรายเดียวในประเทศไทยที่ได้รับรองมาตรฐานสากล เล็งเห็นถึงประโยชน์จากการนำขยะอุตสาหกรรมมาแปลงสภาพสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นการสอดรับกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น BWG จึงได้ผุดโปรเจกต์โรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF เพื่อนำกากขยะที่โรงงานอตุสาหกรรมที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ มาผลิตเป็นก้อนเชื้อเพลิง SRF เพื่อสร้างมูลค่าให้กับขยะอุตสาหกรรม และยังเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมากำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธี ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการในด้านการนำกากอุตสาหกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน และช่วยให้ปริมาณขยะในประเทศลดลงในเวลาเดียวกัน

นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ “BWG” กล่าวว่า ปัจจุบัน BWG มีโรงผลิตขยะเชื้อเพลิง SRF อยู่ 3 โรง มีกำลังผลิตรวมประมาณ 225,000 ตันต่อปี ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในเครืออยู่ที่ประมาณ 160,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญารวม 16.5 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมถือเป็นการช่วยลดปริมาณขยะของประเทศ และช่วยลดพื้นที่การฝังกลบขยะสู่การสร้างแหล่งเชื้อเพลิงทดแทนที่ยั่งยืนและมั่นคง ซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้าน Zero Waste Landfill ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy (BCG)

สำหรับ BWG จัดว่าเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิง SRF รายใหญ่ที่สุดในประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีการขายขยะเชื้อเพลิง SRF ให้ ETC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในเครือ ซึ่งจะทำให้ BWG มีรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน เนื่องจาก ETC มีสัญญา PPA ยาวนานถึง 20 ปี เป็นการเติบโตเสริมศักยภาพการเติบโตของธุรกิจให้กับ BWG ด้วย

 ปัจจุบันขยะอุตสาหกรรมมาผลิตเชื้อเพลิง SRF จะถูกนำมาคัดแยก ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงบางประเภทได้ โดยมีคุณสมบัติที่มีค่าความร้อน (Heating Value) ความชื้น ขนาด และความหนาแน่น เหมาะสมในการใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนหม้อไอน้ำ มีองค์ประกอบทางเคมีและกายภาพที่เหมาะสมแก่การนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าหรือความร้อน ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของขยะเอง และมีผลวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมียืนยัน ว่าเหมาะสมจะนำมาใช้เป็น SRF ได้มีความปลอดภัยต่อคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นขยะที่ไม่เป็นอันตราย โดยการนำขยะมาใช้ประโยชน์เป็น SRF นี้สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 0.0027 ตันต่อขยะ 1 ตัน

การใช้เชื้อเพลิงทดแทนอย่าง SRF นอกจากไม่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม ยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมทางอ้อม เนื่องจากขยะบางประเภทเมื่อนำไปฝังกลบจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและทางน้ำได้ซึ่งมีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้    ซึ่งปัจจุบันในหลายๆ ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาขยะล้นโลกซึ่งการนำขยะอุตสาหกรรมมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนจะช่วยลดปัญหานี้ได้ด้วยและส่งผลให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วย

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon