มิติหุ้น – 3 พฤษภาคม 2567 – บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พลิกฟื้นธุรกิจภายใน 1 ปีหลังควบรวมทรูและดีแทค รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2567 มีกำไรภายหลังการปรับปรุงหลังหักภาษี (Normalized Net Profit After Tax) จำนวน 802 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของ EBITDA เป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน รายได้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจมือถือ ออนไลน์ และธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก พร้อมการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม (Synergy) และการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้างที่ส่งผลดีต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่นสามารถพลิกสถานการณ์กลับมามีกำไรได้ภายในเวลาเพียง 12 เดือนหลังการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค ผลประกอบการทางการเงินของเราในไตรมาส 1/2567 นับเป็นความสำเร็จที่พิสูจน์ถึงการมุ่งเน้นการดำเนินงานที่เป็นเลิศและความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพของบริษัท พร้อมทั้งการเติบโตในเชิงคุณภาพของจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้ของเราในระยะยาว ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการให้บริการ เติบโตอย่างสม่ำเสมอในทุกไตรมาส พร้อมทั้ง EBITDA เพิ่มขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกัน การเติบโตอย่างยั่งยืนนี้เกิดจากการควบคุมต้นทุนอย่างมีวินัย การนำเทคโนโลยีเสริมบริการเพื่อเพิ่มความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า รวมทั้งการให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพเครือข่ายที่ดีที่สุด โดยเราเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมประชากรมากที่สุดในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเครือข่าย 5G ครอบคลุม 99% ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และครอบคลุม 90% ทั่วประเทศ ซึ่งการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสในการให้บริการที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น แต่ยังช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายด้านความต้านทานสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมตำแหน่งของเราในฐานะบริษัทโทรคมนาคมที่ยั่งยืนที่สุดอันดับ 1 ในโลกด้วยคะแนน DJSI 2023 สูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน”
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น การลงทุนของภาคเอกชนที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนปัจจัยบวกต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวที่ภาครัฐให้ความสำคัญและเร่งผลักดัน ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความสำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ที่พร้อมมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วยการร่วมสร้างประสบการณ์ระดับเวิลด์คลาสเพื่อลูกค้า โดยแบรนด์ทรูและดีแทคยังคงเป็นผู้นำในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ชูจุดเด่นเครือข่ายที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์เพื่อมอบประสบการณ์ที่ราบรื่นและน่าประทับใจแก่นักท่องเที่ยวยุคดิจิทัลอย่างครบครัน รวมถึงตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างตรงใจผ่านระบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทรูและดีแทคยังคงเป็นแบรนด์ยอดนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มแรงงานต่างด้าว เรามีการนำความสามารถที่ล้ำสมัยในการวิเคราะห์และเทคโนโลยี AI มาใช้ในการนำเสนอข้อเสนอแบบเฉพาะบุคคลและมีเนื้อหาที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านดิจิทัลมากกว่า 5,000 คนภายในปี พ.ศ. 2568 พร้อมทั้งเปลี่ยนการทำงานที่ทำเป็นประจำให้เป็นในรูปแบบอัตโนมัติ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 เรายังได้พัฒนานวัตกรรมผู้ช่วยในการให้บริการลูกค้า AI อัจฉริยะ “Mari” (มะลิ) ที่สามารถให้บริการทั้งในระบบแชต และบริการแบบเสียงโดยใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่ง Mari จะเป็นผู้ช่วยในการให้บริการลูกค้าอัจฉริยะ AI หนึ่งเดียวในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยที่มีความสามารถในการสื่อสารโต้ตอบกับลูกค้าด้วยน้ำเสียงและภาษาที่เป็นธรรมชาติเสมือนมนุษย์ และสามารถให้ความช่วยเหลือแนะนำต่าง ๆ อย่างเหมาะสมให้แก่ลูกค้า”
ในไตรมาส 1/2567 ทรู คอร์ปอเรชั่นยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) อย่างต่อเนื่อง เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้นแก่ลูกค้าในประเทศไทย โดยได้พัฒนาเสาสัญญาณรวม 3,700 แห่งจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพด้านค่าใช้จ่ายดียิ่งขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกัน เรายังคงพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า ผ่านศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ล้ำสมัย ซึ่งตรวจสอบการใช้งานเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานดาต้า การบริหารความจุโครงข่าย ความสมบูรณ์ของระบบ และการเชื่อมต่ออุปกรณ์ โดยรายงานการใช้งานแบบเรียลไทม์ และการปฏิบัติงานเชิงลึกภายในเครือข่าย ทำให้สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดต่อลูกค้าน้อยที่สุด นอกจากนี้โซลูชัน AI ที่สถานีฐานยังช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 15% ซึ่งได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 50% ของสถานที่ตั้งเสาสัญญาณทั่วประเทศ และติดตั้งเสาสัญญาณพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 9,700 แห่ง ซึ่งช่วยให้ทรูบรรลุการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นในการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับข้อเสนอคุณค่าเพิ่มเติมเพื่อยกระดับไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของลูกค้า ทำให้แบรนด์ดีแทคและทรูยังคงครองความเป็นผู้นำในกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มแรงงานต่างด้าว
ในไตรมาส 1/2567 การให้ความสำคัญเชิงคุณภาพในการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 8 แสนราย หรือ 1.6% จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 51.1 ล้านราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบรายเดือนและออนไลน์ได้รับผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการปรับปรุงจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สำหรับผู้ใช้งาน 5G มีจำนวน 11 ล้านราย เพิ่มขึ้น 4.7% QoQ
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยความยินดีว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่นสามารถพลิกฟื้นธุรกิจ โดยมีกำไรภายหลังการปรับปรุง 802 ล้านบาท พร้อม EBITDA เพิ่มขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกันในไตรมาส 1/2567 รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจมือถือ ออนไลน์ และโทรทัศน์บอกรับสมาชิก รายได้รวมในไตรมาสแรกยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ลดลง 1.9% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากยอดขายอุปกรณ์ลดลงจากปัจจัยฤดูกาล
รายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อน จากจำนวนกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับฐานลูกค้าเดิม รายได้จากการให้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อน ด้วยแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU จากการลดลงของการให้ส่วนลดและการยกระดับลูกค้าปัจจุบันไปสู่แพ็กเกจต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ในขณะที่รายได้จากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (PayTV) ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากปีก่อนและไตรมาสก่อน จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของรายได้จากธุรกิจดนตรีและบันเทิง
ในไตรมาส 1/2567 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ลดลง 13.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 7.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม และการมุ่งเน้นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้าง ในไตรมาสที่ 1/2567 ต้นทุนจากการขายลดลงสอดคล้องกับยอดขายสินค้าที่ลดลงในไตรมาสนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในไตรมาสที่ 1/2567 ลดลง 28.8% จากปีก่อน และ 8.9% จากไตรมาสก่อน โดยได้ประโยชน์จากการควบรวมด้วยการบริหารต้นทุนค่าคอมมิชชั่นและค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนหนี้เสียที่ลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น ๆ ยังคงได้รับการควบคุมอย่างดีจากการขับเคลื่อนวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร
สำหรับสามเดือนแรกของปีนี้ EBITDA เพิ่มขึ้น 21.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4.8% จากไตรมาสก่อน โดย EBITDA สำหรับไตรมาส 1/2567 ปรับตัวดีขึ้น 1,082 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของรายได้ ในขณะที่การเติบโตประมาณ 40% เกิดจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการดีขึ้นเป็น 57.2% สำหรับไตรมาสที่ 1/2567
ในไตรมาส 1/2567 ทรู คอร์ปอเรชั่น บันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย จำนวน 1,571 ล้านบาท ส่งผลให้มีขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี จำนวน 769 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว กำไรสุทธิหลังหักภาษีจะอยู่ที่ 802 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 1,182 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) สำหรับไตรมาสแรกของปี 2567 อยู่ที่ 3,557 ล้านบาท เป็นผลมาจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม”
ทรู คอร์ปอเรชั่น มั่นใจในการบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้สำหรับปี 2567 ด้วยการมุ่งเน้นการเติบโตที่สร้างกำไรอย่างยั่งยืนด้วยการเร่งดำเนินการในการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม ในขณะเดียวกันก็ยังคงปลูกฝังวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ยังคงแนวโน้มสำหรับปี 2567 ตามเดิม โดย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จะมีการเติบโต 3-4% EBITDA จะมีการเติบโต 9-11% และค่าใช้จ่ายลงทุนรวมงบลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากการควบรวม หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดว่าจะสามารถทำกำไรภายหลังการปรับปรุง (Normalized) ได้ในปี 2567
ตัวเลขทางการเงินที่สำคัญในไตรมาส 1 ปี 2567
- รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC จำนวน 41,268 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% (YoY) และ 1.5% (QoQ)
- EBITDA อยู่ที่ 23,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% (YoY) และ 4.8% (QoQ)
- อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการ อยู่ที่ 2%
- กำไรสุทธิภายหลังการปรับปรุง (Normalized) จำนวน 802 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน 1,182 ล้านบาท
คำชี้แจงที่สำคัญ (Disclaimer)
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ควบรวมกิจการเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ข้อมูลทางการเงินที่สะท้อนถึงระยะเวลาก่อนในเอกสารฉบับนี้ ได้อ้างอิงจากงบการเงินเสมือนของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon