ETDA พร้อมพันธมิตร เปิด 5 ภาพอนาคต “สุขภาพและสุขภาวะคนไทย” ชี้ ‘ความเหลื่อมล้ำของโอกาส’ ปัญหาน่าห่วง ในยุคโลกล้ำ

82

มิติหุ้น  –  คนไทยมีสุขภาพดีมากแค่ไหน ? อาจจะเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก ซ้ำยังถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว เพราะหากไม่เจ็บป่วยรุนแรง การดูแลสุขภาพอาจเป็นเรื่องท้ายๆ ที่เราจะนึกถึง แต่หลังจากนี้ดูเหมือนว่าเรื่องสุขภาพของคนไทยที่หลายคนมองข้ามอาจเปลี่ยนไป เพราะจากรายงาน ‘ภาวะสังคมไทยปี 2566’ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ พบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ และโรคไข้เลือดออก เกือบ 1 ล้านคน สูงกว่าปี 2565 กว่า 2.1 เท่า ส่วนในด้านสุขภาพจิตในปี 2566 พบตัวเลขผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 กว่า 2 เท่าเช่นเดียวกัน ผนวกกับสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้วย จากตัวเลขที่พุ่งสูงเพิ่มขึ้นปีต่อปีแบบนี้ ก็ทำให้หลายคนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า แล้วในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า “สุขภาพและสุขภาวะ” ของคนไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเราควรจะมีแนวทางอะไรเพื่อรับมือและปูทางชีวิตวันข้างหน้าให้ดีได้ตั้งแต่วันนี้

  • 5 ภาพอนาคต ‘สุขภาพและสุขภาวะ’ คนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า มีทั้งดีและน่าเป็นห่วง

ไม่เพียงแค่ประชาชนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพและสุขภาวะในอนาคต แต่สถิติที่น่าตกใจข้างต้น ยังถูกนำไปต่อยอดงานเป็นผลการศึกษา ‘อนาคตสุขภาพ และสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576’ (Future of Health and Wellness in Thailand 2033) โดยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ 4 องค์กร ได้แก่ ศูนย์คาดการณ์อนาคตภายใต้ ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Foresight Center by ETDA) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales LAB by MQDC) ซึ่งทั้ง 4 องค์กรได้ทำการศึกษา รวบรวมข้อมูล และร่วมกันฉายภาพอนาคตสุขภาพและสุขภาวะคนไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า มีทั้งหมด 5 ภาพ ซึ่งมีทั้งเรื่องดีและเรื่องที่น่าเป็นห่วง อย่างภาพที่ 1 ที่ชื่อว่าสิ้นแสงสาธารณสุข (Dusk of Healthcare) ที่สะท้อนภาพอนาคตของสาธารณะสุขไทยว่าระบบสุขภาพอาจมีความเปราะบาง ขาดแคลนทรัพยากร ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพได้ และผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ภาพที่ 2 ระบบสุขภาพทั่วหล้า (Public Health Meridian) สะท้อนภาพของภาครัฐที่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติและภัยคุกคามด้านสาธารณสุขรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและเสมอภาค ภาพที่ 3 ค่ำคืนการแพทย์ขั้นสูง (MedTech Twilight) คาดการณ์ว่าอนาคตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์จะเข้ามาช่วยยกระดับการบริการสุขภาพ  ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความจำเพาะต่อผู้รับบริการแต่ละบุคคล แต่ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความปลอดภัย ของข้อมูล และจริยธรรมอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงที่น่าจับตา ภาพที่ 4 รุ่งอรุณสุขภาวะ (Dawn of Wellness) สะท้อนภาพอนาคตของประเทศไทยที่จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานและการออกแบบพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดเมืองแห่งสุขภาวะที่จะเป็นโอกาสของการเติบโตที่สำคัญของผลิตภัณฑ์และบริการในหลาย ๆ ธุรกิจมากขึ้น และ ภาพสุดท้าย ภาพที่ 5 สุขภาพสุขสมบูรณ์ (Zenith of Self-Care) ที่คาดว่าอนาคตจะเกิดการกระจายของศูนย์กลาง ของระบบสุขภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถานบริการสุขภาพและสุขภาวะภายใต้การขับเคลื่อนร่วมกันโดยภาครัฐและภาคเอกชน เป็นต้น

  • ‘ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล’ จุดตัดสำคัญของอนาคตสุขภาวะ

จาก 5 ภาพอนาคตสุขภาพและสุขภาวะคนไทยหากมองให้ลึกลงไป จะเห็นว่า ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ คือตัวแปรที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดภาพอนาคตข้างต้น โดยเฉพาะใน 2 ภาพอนาคตที่ทางทีม Foresight Center by ETDA ให้ความสำคัญและจับตา ได้แก่ ภาพที่ 2 ระบบสุขภาพทั่วหล้า (Public Health Meridian)   และ ภาพที่ 3 ค่ำคืนการแพทย์ขั้นสูง (MedTech Twilight) เพราะทั้ง 2 ภาพอนาคตนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งเน้นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไปกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับสุขภาพ  และสุขภาวะของคนไทย รวมถึงการสื่อสารข้อมูลทางสุขภาพและสุขภาวะโดยภาครัฐ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น เป็นต้น ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามามีส่วนสำคัญในการสร้างและร่วมกำหนดทิศทางภาพอนาคตสุขภาวะคนไทย

แต่ปัจจุบันการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลยังมีประเด็นปัญหาท้าทายที่ต้องโฟกัสนั่นก็คือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล’ ซึ่งวันนี้คนไทยมีระดับของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ผู้ที่สามารถเข้าถึงดิจิทัล และมีความรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) คือกลุ่มคนที่มีเครื่องมือทางดิจิทัล สามารถเข้าถึงบริการ องค์ความรู้บนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ รวมถึงบริการทางสุขภาพจากภาครัฐได้ และสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์ คัดกรองข้อมูลได้อย่างเท่าทัน คนกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากดิจิทัลสูงสุด ต่อมาคือผู้ที่สามารถเข้าถึงดิจิทัล แต่ไม่มีความรู้เท่าทันดิจิทัลเพียงพอ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีเครื่องมือ เข้าถึงบริการ และองค์ความรู้บนแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงบริการทางสุขภาพได้ แต่อาจจะขาดการคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงอาจจะไม่สามารถใช้ดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม และสุดท้ายคือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัลได้เลย ซึ่งกลุ่มสุดท้ายนี้ แม้จะไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ แต่เชื่อไหมว่าพวกเขาถือเป็นกลุ่มคนที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะนอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือ ความรู้ บริการ รวมไปถึงการให้บริการด้านสุขภาพของภาครัฐบนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ได้แล้ว คนกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถใช้งานดิจิทัลให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองได้เลย ทั้งที่การให้บริการหลายภาคส่วนของรัฐ รวมถึงบริการทางสุขภาพผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ในแต่ละปีภาครัฐได้สร้างแอปพลิเคชันเพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเฉลี่ยปีละ 1,300 แอปพลิเคชัน แต่ดูเหมือนว่าน้อยคนที่จะรู้ ดังนั้นการปรับตัว เรียนรู้ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง และเกิดประโยชน์ต่อการใช้งานของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่หลายภาคส่วนไม่ควรมองข้าม

  • ปลดล็อก ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เพื่อไปสู่ ‘หนทางสว่างอนาคตสุขภาพคนไทย’

หากถามว่าการจะทำให้ “ดิจิทัล” เป็นโอกาสที่เข้าถึงได้ ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ หรือแบ่งแยกชนชั้นในการใช้ ใครกันต้องเป็นผู้สร้างความพร้อมให้เกิดขึ้น ? ทีมงานจากศูนย์ Foresight Center by ETDA นำเสนอว่าต้องเกิดจากความพร้อมของภาครัฐ – เอกชนเพื่อยกระดับสู่ ‘บริการสุขภาพดิจิทัล’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต่างยอมรับว่า คนไทยค่อนข้างมีความพร้อมที่จะเข้าถึงเครื่องมือและแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น แต่บริการทางการแพทย์ในรูปแบบดิจิทัลของภาครัฐ และเอกชนเองอาจจะยังไม่มี ‘แรงจูงใจ’ มากพอที่จะดึงดูดให้พวกเขาหันมาเลือกใช้งาน ดังนั้นเจ้าของบริการเองอาจต้องทำให้พวกเขารู้สึกอยากใช้ ใช้ง่าย และรู้ถึงประโยชน์ของการใช้งาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้และเข้าถึงบริการต่างๆ ทางด้านสุขภาพจากภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ถัดมาคือความพร้อมของบุคลากรเพื่อช่วยในการยกระดับสู่ ‘เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง’ เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การเปิดรับและนำมาใช้อาจจะเป็นหนทางที่ดีกว่าสำหรับ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ที่อาจจะต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่รุดหน้า ภาครัฐ และเอกชนเองนอกจากจะเร่งสร้างเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงแล้ว ก็อย่าลืมเร่งพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นให้เท่าทันกับวิทยาการใหม่ๆ และสามารถใช้งานได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น สุดท้ายคือความพร้อมของประชาชนเพื่อ “การดูแลตนเองอย่างดีเยี่ยม” ในอนาคตเรื่องของสุขภาพและสุขภาวะจะไม่ใช่หน้าที่ของภาคส่วนใด หรือหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ประชาชนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะต้อง มีความตระหนักรู้ส่วนบุคคล (Self Awareness) ต่อการเลือกใช้ รับสาร คัดกรองข้อมูลที่อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ และหยิบมาประยุกต์ใช้ เพื่อดูแลสุขภาพ สุขภาวะของตนเอง และคนรอบข้างได้อย่างดี และมีความรู้เท่าทันทางดิจิทัล (Digital Literacy) ในการใช้งานดิจิทัลอย่างเหมาะสม เลือกข้อมูล เลือกใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท้ายที่สุดแล้วภาพสุขภาพและสุขภาวะของคนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นอย่างไรอยู่ที่เราคนไทยร่วมกำหนดมัน  และอย่าลืมว่าการดูแลสุขภาพและสุขภาวะไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่นี่คือเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะในโลกอนาคตว่ากันว่า ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) จะมีค่าและสำคัญมากกว่าความมั่งคั่งทางการเงิน และเทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นตัวแปรที่มาร่วมกำหนดชะตาอนาคต ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพื่อภาพอนาคตสุขภาพและสุขภาวะที่สดใส การโอบรับ – ปรับใช้ – พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้ทันต่อสถานการณ์และความเป็นจริง จึงอาจกลายเป็นทางเลือก สู่ภาพอนาคตสุขภาพที่สว่างสดใส

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon