UOB ถอดสมการปัญหา “หนี้ครัวเรือนไทย” แก้อย่างไรให้ยั่งยืน

109

มิติหุ้น – หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นกับดักสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้ประเทศไทยพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนและเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป ต้องร่วมกันหาทางออก เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ ESG หรือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยตระหนักถึง 3 มิติสำคัญ ทั้งสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่ทั่วโลกกำลังมุ่งไป

เรื่องความยั่งยืนและ ESG ไม่ใช่แค่การรักษ์โลก แต่ยังครอบคลุมในหลายมิติ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึง ESG สิ่งที่มักจะถูกนึกถึงเป็นอย่างแรก ๆ จะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ESG เป็นหลักการบริหารอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมประเด็นในหลากมิติ และหนึ่งในมิตินั้นก็คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่หากปล่อยเอาไว้นานวันจะกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ที่สำคัญคือ ESG ในทุกมิติมีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบถึงกัน ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของประชาชน

ดังนั้นแล้ว การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG จึงหมายถึงการพัฒนาประเทศโดยตระหนักถึงมิติแวดล้อมที่หลากหลายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว และหนึ่งในมิติที่สำคัญซึ่งอยู่ในแกนสังคมของ ESG คือ ความเหลื่อมล้ำและปัญหาทางการเงิน โดยเฉพาะในคนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย มีปัญหาหนี้สินสูง และไม่มีเงินออมยามฉุกเฉิน

การลดความเหลื่อมล้ำ อย่างเช่นปัญหาทางการเงินถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ความเหลื่อมล้ำถือเป็นปัจจัยใหญ่ที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจเสมอมา โดยในปี 2018 ข้อมูลจาก The Credit Suisse Global Wealth Report ชี้ให้เห็นว่า คนไทย 1% ถือครองความมั่งคั่ง หรือมีทรัพย์สินรวมถึง 66.9% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ขณะที่คนไทยอีก 99% ถือครองทรัพย์สิน 33.1% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก และสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก (ที่มา: WorkPoint today as of 5/12/2018, Theactive Thai PBS as of 24/11/2022)

นอกจากนี้ ในแง่ของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จากข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคจินี (Gini coefficient) หมายถึง ค่าที่แสดงความแตกต่างของรายได้ของครัวเรือน มีค่าระหว่าง 0 – 1 ถ้าเป็น 0 แสดงว่า ไม่มีความแตกต่างของรายได้ แต่ถ้าเป็น 1 แสดงว่า มีความแตกต่างของรายได้มากที่สุด โดยของประเทศไทยอยู่ที่ 0.43 ในปี 2021 ถือว่ามีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ as of 27/08/2022)

ชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องแก้ไข หากต้องการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหนึ่งในวิธีที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ร่วมกับวิธีการอื่น ๆ คือการแก้ไขปัญหาทางการเงิน เช่น หนี้ครัวเรือน ที่ซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ย่ำแย่ลง

เจาะลึกปัญหาการเงินคนไทย ที่มีต้นตอมาจากหนี้ครัวเรือน

หนี้ครัวเรือน ถือเป็นปัญหาใหญ่ของการยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยอยู่ไม่น้อยและยังเป็นปัจจัยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ โดยปีที่ผ่านมาอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงถึง 90% จัดได้ว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) เช่น มาเลเซีย (73.1%) อินโดนีเซีย (17.3%) และอินเดีย (37.1%) โดยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยขยายตัวถึง 55%

นอกจากประเทศไทยจะมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูงแล้ว ปัญหาสำคัญต่อมาคือ หนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การสร้างรายได้ในอนาคต ข้อมูลจากเครดิตบูโร ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 ชี้ว่าบัญชีหนี้ครัวเรือนไทยเกือบ 70% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตซึ่งมักไม่ช่วยให้รายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีระยะผ่อนสั้นและดอกเบี้ยสูง

ในทางตรงกันข้าม สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งจัดเป็นสินเชื่อที่อาจสร้างรายได้ของไทยอยู่ที่ 35% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่มีอัตราส่วนนี้สูงถึง 62% และ 73% ตามลำดับ

อีกทั้ง หนี้ส่วนใหญ่คือหนี้ที่ผู้กู้ที่มีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้มากถึง 5.8 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของคนที่มีหนี้ทั้งหมด กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้เสีย (ที่มา: สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ as of 2564, ธนาคารแห่งประเทศไทย as of 18/03/2566)

หากประเทศไทยไม่สามารถทุเลาความรุนแรงของปัญหาหนี้ครัวเรือนลงไปได้ ปัญหานี้จะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หลากหลายด้าน ตั้งแต่ในระดับบุคคลไปจนถึงระดับสังคม เช่น

  • เศรษฐกิจถูกฉุดรั้งการเติบโต เนื่องจากรายได้ถูกนำไปจ่ายหนี้แทนการจับจ่ายใช้สอยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือลงทุน
  • เสถียรภาพระบบการเงินตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะหากลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็อาจเกิดปัญหาเป็นวงกว้าง
  • ลูกหนี้ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจิต จากความตึงเครียดทางการเงินที่เกิดขึ้นจากภาระหนี้ ซึ่งอาจเป็นต้นตอของปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมมือกันของทุกฝ่าย

หนี้ครัวเรือนถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวพันกันแน่นกับชีวิตของประชาชน ที่สำคัญยังเป็นปัญหาที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ ภาครัฐ และสังคมในวงกว้าง จึงเป็นปัญหาที่ต้องทุ่มเทอย่างมากเพื่อจะแก้ไข และวิธีที่จะช่วยทยอยบรรเทาปัญหานี้ได้ คือการร่วมมือของทุกภาคส่วน เช่น

  • ภาครัฐ กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสินเชื่อ ให้ความช่วยเหลือเชิงนโยบาย และหยุดวงจรหนี้นอกระบบซึ่งซ้ำเติมให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนร้ายแรงมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐยังมีหน้าที่สร้างความรู้พื้นฐานและความรู้เท่าทันในเรื่องการเงิน
  • เอกชน ติดตามนโยบายรวมถึงทำตามกฎระเบียบของภาครัฐ เพื่อปรับวิธีการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายการแก้หนี้ครัวเรือนของรัฐ
  • ครัวเรือน ลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น เพิ่มวินัยการออม และสร้างความรู้ด้านการเงินอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการเงินเกี่ยวพันกับทุก ๆ มิติในชนิดอย่างแยกไม่ได้

ในส่วนของภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนไปเมื่อต้นปี 2565 โดยมุ่งไปที่การพัฒนาโดยส่งเสริมนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลความเสี่ยง ซึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้ จะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร เหมาะกับแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ คือ

  • หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน : เร่งการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว
  • หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง : ช่วยเหลือให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้
  • หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต : ออกเกณฑ์ให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ
  • หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน : ติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ประเภทต่าง ๆ มากขึ้น

การประยุกต์แนวคิด ESG เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย

ESG คือหลักการในการสร้างความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยหลักการนี้สามารถหยิบยกไปใช้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยได้ โดยเฉพาะในแกนการดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงสังคมหรือ S ใน ESG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการหยิบ ESG มาใช้ในการดำเนินงานของสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยการปล่อยสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบและเข้าถึงคนได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลภาพรวมหนี้ของประเทศได้ง่ายขึ้น ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ และสามารถกำกับดูแลได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นได้โดยมีความเสี่ยงน้อยลง สามารถนำเงินทุนไปจุนเจือความต้องการพื้นฐานและขยายกิจการได้มากขึ้น เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ ระบบการเงินรายย่อย หรือ Microfinance ที่ทำให้กลุ่มเสี่ยงที่ต้องการเงินทุนแต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ผู้มีรายได้ต่ำ สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อริเริ่มธุรกิจขนาดเล็ก ขยายกิจการ หรือจุนเจือความจำเป็นอื่น ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อทั้งตัวบุคคลและสังคมภาพรวม

แนวคิด Microfinance ริเริ่มโดย มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ผ่านธนาคารกรามีน โดยการให้ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด (มีที่ดินทำกินน้อยกว่า 1 ไร่) มารวมกันเป็นกลุ่มเพื่อขอสินเชื่อ สมาชิกกลุ่มจะต้องประชุมกับพนักงานของธนาคารทุกสัปดาห์เพื่อจ่ายคืนเงินกู้เป็นยอดตายตัว และจะต้องช่วยกันตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกแต่ละคน สิ่งนี้เรียกว่าการค้ำประกันโดยใช้หลักทรัพย์ทางสังคม (social collateral)

ผลลัพธ์คืออัตราการชำระเงินกู้ตรงเวลาของสมาชิกสูงถึง 98% แม้จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราปีละ 20% ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น หนี้บัตรเครดิต ในภายหลัง ระบบการเงินรายย่อยถูกพัฒนาขึ้นจนครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ นอกเหนือจากสินเชื่อ เช่น บัญชีเงินฝาก ประกันภัย บริการรับชำระ และการโอนเงิน ซึ่งช่วยต่อยอดคุณภาพชีวิตให้กับผู้ที่ขาดโอกาสได้อย่างมหาศาล (ที่มา: ThaiPublica as of 09/11/2016)

ทำให้ในปัจจุบัน ธนาคารกรามีนสามารถขยายสาขาไปถึงหมู่บ้านเกือบ 82,000 แห่ง หรือ 94% ของหมู่บ้านทั้งหมด โดยมีคนกว่า 10 ล้านคน เข้ามาเป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร และที่สำคัญไปกว่านั้น ผลงานของมูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน ได้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (ที่มา: GRAMEEN BANK as of August 2023)

สุดท้ายแล้ว หลักการ ESG ที่ได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากจากทั้งภาครัฐ เอกชน นักลงทุน และสาธารณชนจากความตื่นตัวด้านสังคม เป็นวิถีในการพัฒนาที่จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้นได้อย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานโดยตระหนักถึงสังคมของภาครัฐและสถาบันการเงิน

ทังนี้ ระบบการเงินรายย่อยที่ริเริ่มโดยมูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นตัวอย่างชั้นดีว่าหลักการ ESG มีส่วนช่วยในการบรรเทาปัญหาทางการเงิน เช่น หนี้ครัวเรือน ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินนำประเด็นสังคมเข้ามาเป็นหลักคิดในการดำเนินงาน

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon