พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เทียบฟอร์มอสังหาฯ 10 บิ๊กแบรนด์ เปิดรายได้-กำไร ไตรมาส 1/67 คาดมาตรการรัฐ กระตุ้นดีมานด์ครึ่งปีหลัง

87

มิติหุ้น  –  พลัส พร็อพเพอร์ตี้  ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่มีความท้าทาย 10 บริษัทบิ๊กแบรนด์ในธุรกิจอสังหาฯ ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก ทำรายได้รวมมากกว่า 4.9 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี66 ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีรายได้รวมที่ต่ำกว่าเล็กน้อย ถือเป็นปีที่ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาฯต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารจัดการ ปีนี้แสนสิริสุดปัง คว้าแชมป์ที่ 1 ทั้งรายได้รวม และกำไรสุทธิ และเป็นบริษัทเดียวที่ทำรายได้ในไตรมาสแรกนี้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท  บริษัทที่ทำรายได้ รองลงมาคือเอพี ไทยแลนด์  และแลนด์ แอนด์เฮ้าส์  ตามลำดับ  สำหรับกำไรสุทธิมีการสลับตำแหน่งกันระหว่างแลนด์แอนด์เฮ้าส์ทำกำไร ในอันดับที่ 2 ตามด้วย เอพี ไทยแลนด์ เป็นอันดับที่ 3

10  ผู้ประกอบการอสังหาฯ ท็อปฟอร์ม ผลงานเด่น

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้รวบรวมผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2567 ของ 10 บริษัทอสังหาริมทรัพย์เปรียบเทียบให้เห็นว่า แต่ละบริษัท มีตัวเลขกำไร รายได้ และอัตราการเติบโตมากน้อยแค่ไหน สะท้อนกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทที่แตกต่างกันออกไป และสิ่งนี้ส่งสัญญาณให้ต้องจับตาอะไรต่อไปตลาดอสังหาฯ ช่วงครึ่งปีหลัง

แสนสิริแชมป์อันดับ 1 รายได้รวม 10,170 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,315 ล้านบาท

แสนสิริมีรายได้รวมในไตรมาสแรกอยู่ที่ 10,170 ล้านบาท โตขึ้น 19.6% และกำไรสุทธิ 1,315 ล้านบาท ลดลง 16.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำผลงานรายได้จากการขายโครงการที่เพิ่มขึ้นถึง 32% อยู่ที่ 8,505 ล้านบาท จากการขายโครงการบ้านเดี่ยวระดับลักซ์ชัวรีและซูเปอร์ลักซ์ชัวรี รวมทั้งมีการโอนโครงการอื่นๆอย่างต่อเนื่อง

เอพี ไทยแลนด์ รายได้รวม 7,968 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,008 ล้านบาท

เอพี ไทยแลนด์ มีรายรวม 7,968  ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,008 ล้านบาท โดยรายได้ลดลง 15.6%  จาก 9,441 ล้านบาท  และกำไรสุทธิลดลง 31.8% จาก 1,478 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า  โดยรายได้หลักมาจากการขายโครงการแนวราบ 7,088 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 519 ล้านบาท นอกจากนั้นมาจากการเปิดขายโครงการใหม่และการโอนโครงการเดิม

แลนด์แอนด์เฮ้าส์ รายได้รวม 7,804 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,231 ล้านบาท

แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีรายได้รวม 7,804 ล้านบาท ผลงานกำไรสุทธิ 1,231 ล้านบาท โดยรายได้เพิ่มขึ้น 11.9% จาก 9,441 ล้านบาท  และกำไรสุทธิลดลง 9.1.% จาก 1,354 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้จากการขายลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ศุภาลัย รายได้รวม 4,674 ล้านบาท กำไรสุทธิ 614 ล้านบาท

ศุภาลัย สร้างรายได้รวมที่ 4,674 ล้านบาท ลดลง 20.8% จาก 5,902 ล้านบาท และได้กำไรสุทธิ 614 ล้านบาท ลดลง 43.2% จาก1,080 ล้านบาทในปี 2566

พฤกษา รายได้รวม 4,171 ล้านบาท กำไรสุทธิ 65 ล้านบาท

พฤกษา มีรายได้ 4,171 ล้านบาท ลดลง 20.8% กำไรสุทธิลดลง 90% เหลือ 65 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 652 ล้านบาท สาเหตุจากรายได้อสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากปัญหากำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มรายได้น้อยซึ่งเป็นปัจจัยต่อเนื่องมาจากปีก่อน รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยซึ่ง ส่งผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อ

เอสซี แอสเสท รายได้รวม 4,024 ล้านบาท กำไรสุทธิ 183 ล้านบาท

เอสซี แอสเสท ทำรายได้รวม 4,024 ล้านบาท ลดลง 18.4% จาก 4,930 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 183 ล้านบาท ลดลง 65.8% จาก 535 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการขายโครงการ 92.38%  นอกนั้นมาจากรายได้ค่าเช่าและบริการที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ตามทิศทางของบริษัทในการขยายไปสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ

เฟรเซอร์ส รายได้รวม 3,524 ล้านบาท กำไรสุทธิ 159 ล้านบาท

เฟรเซอร์ส มีรายรวม 3,524  ล้านบาท และกำไรสุทธิ 159 ล้านบาท โดยรายได้เพิ่มขึ้น 2.9% จาก 3,424 ล้านบาท  และกำไรสุทธิลดลง 50% จาก 317 ล้านบาท

ออริจิ้น รายได้รวม 3,210 ล้านบาท กำไรสุทธิ 464 ล้านบาท

ออริจิ้น มีรายได้ 3,210 ล้านบาท ลดลง 12.3% จาก 3,662 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 41.8% เหลือ 464 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 798 ล้านบาท

ควอลิตี้เฮ้าส์ รายได้รวม 1,797 ล้านบาท กำไรสุทธิ 490 ล้านบาท

ควอลิตี้เฮ้าส์ ทำรายได้รวม 1,797 ล้านบาท รายได้ลดลง 8.6% จาก 1,965 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 490 ล้านบาท ลดลง 17.3%จาก 592 ล้านบาท

แอสเซทไวส์ รายได้รวม 1,750 ล้านบาท กำไรสุทธิ 256 ล้านบาท

แอสเซทไวส์ ทำรายได้รวม 1,750 ล้านบาท รายได้ลดลง 0.7% จาก 1,738 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 256 ล้านบาท ลดลง 9.4% จาก 283 ล้านบาท

คาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยครึ่งปีหลัง มีแรงลุ้นแค่ไหน

นายอนุกูล  รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมตอบโจทย์ทุกบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ปี 2567 นับได้ว่าปีนี้เปิดศักราชต้นปีภาพรวมตลาดอสังหาฯ มีแนวโน้มเติบโตจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยคาดว่าราคาอสังหาฯ และความต้องการซื้อจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้  ตลาดอสังหาฯ ยังคงมีปัจจัยท้าทายหลายด้าน อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ทำให้ต้นทุนทางการเงินในการซื้อที่อยู่อาศัยปัจจุบันยังคงสูงเมื่อเทียบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้หนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและหนี้บ้านที่ค้างชำระเพิ่มสูงขึ้น  รวมถึงความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารในเวลานี้ ทำให้ผู้ซื้อต้องมีความพร้อมทางด้านการเงินมากขึ้น ตรงกับทางข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินว่า ผลจากมาตรการฯ น่าจะทำให้ในครึ่งปีที่เหลือของปี 2567 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจะมีประมาณ 2.79 แสนหน่วย หดตัว1% (YoY) และทำให้ผู้บริโภคกลุ่มเรียลดีมานด์อาจจะยังชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อนเพื่อรอติดตามสถานการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่างไรก็ตามตลาดอสังหาฯยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตามและเตรียมรับมือในอีกหลายประเด็น พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เชื่อมั่นว่าครึ่งปีหลัง 2567 ธุรกิจอสังหาฯ ยังคงมีศักยภาพในการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจะต้องติดตามสถานการณ์ที่ผันผวนของเศรษฐกิจ และปรับตัวเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon