วว.-สภาอุตสาหกรรม-หอการค้าไทย-อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ สร้างจุดแข็ง เพิ่มมูลค่าสินค้า อาหารและเครื่องดื่มส่งออกไทย ยกงาน ProPak Asia 2024 ศูนย์รวมนวัตกรรมและแนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตโลก

60

มิติหุ้น  –  ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวถึง กุญแจสำคัญที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยเกิดการพัฒนาและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ ต้องนำการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์มาช่วย โดย วว. เป็นหน่วยงานที่เป็นตัวเสริมหลักในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม การสนับสนุนการศึกษาและการอบรม การสร้างพันธมิตรระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งจากบทบาทหน้าที่ดังกล่าว วว. ได้ใช้การวิจัยมาช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการสร้าง Soft Power ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารของไทยในเวทีโลก

ส่วนการสนับสนุนงาน ProPak Asia 2024 นั้น วว. ได้ร่วมมือและสนับสนุนการจัดงานฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเน้นให้ธุรกิจกลุ่มนี้มีโอกาสเติบโตเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับโลก ซึ่งการสนับสนุนมีทั้งการให้ความรู้ พัฒนาทักษะ การเสนอโอกาสให้ภาคเอกชนทำธุรกิจร่วมกับภาครัฐ การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยกิจกรรมที่ วว. จัดขึ้นภายในงานฯ นอกจากบู๊ทจัดแสดงแล้ว ยังมีการสัมมนาที่น่าสนใจอีก 5 หัวข้อ ครอบคลุมทั้งเรื่องอาหาร บรรจุภัณฑ์และความยั่งยืน อาทิเช่น การประเมิณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์, มาตรฐานสากลสำหรับพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การยืดอาหารและการประเมิณอายุการเก็บด้วยบรรจุภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์, การตั้งค่าและการใช้ความไม่แน่นอนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาวิธีการทดสอบ รวมถึงการให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับธุรกิจเริ่มต้นที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย

ด้านดร. เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารลำดับต้นของโลก อุตสาหกรรมการผลิต แปรรูปและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับอาหารและเครื่องดื่ม เป็นจุดแข็งที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ประเทศไทยและเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ซึ่งภาพรวมแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เครื่องดื่มและบรรจุภัณฑ์แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมฯ จะยังเติบโต แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรถึงจะพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของไทยให้สูงขึ้นได้ โดยผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องเรียนรู้ปรับตัวให้สอดคล้องกับการผลิตที่พัฒนาขึ้น มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานที่จะยกระดับให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานสูงขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น  ช่วยลดต้นทุนทั้งด้านพลังงานและการผลิต แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ มีความยืดหยุ่นทำให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนั้นผู้ประกอบต้องกล้าที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่หรือรูปแบบใหม่ เพื่อนำเสนอต่อตลาดที่เปิดกว้างอยู่ตลอดเวลา โดยใช้ข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายของวัตถุดิบ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร หรือ Soft Power รูปแบบเฉพาะของไทยนำมาเพิ่มมูลค่าต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์ได้อีกเป็นจำนวนมาก

         ส่วน ดร. วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงโอกาสและการขับเคลื่อนธุรกิจอาหารและบรรจุภัณฑ์ของไทยสู่ตลาดโลกกว่า ตลาดโลกเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่าและกำลังซื้อมหาศาล แต่ก็มากไปด้วยการแข่งขัน การครองส่วนแบ่งตลาดต้องศึกษาแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคเป็นอย่างดี เพื่อนำเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการ มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้บริโภคได้

         สำหรับประเทศไทยการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารมีความโดดเด่นมาตลอด ซึ่งสถานการณ์การส่งออกในไตรมาส 1 ปี 2567 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท เติบโต 2.79% โดยกลุ่มสินค้าเกษตรอาหาร มีมูลค่าส่งออก 1.75 แสนล้านบาท เติบโต 8% ซึ่ง 5 อันดับแรก (การเติบโต %YOY) คือ ข้าว (เติบโต 49%) สินค้าไก่ (เติบโต 6%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (หดตัว -17%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (หดตัว -13%) สินค้ากุ้ง (เติบโต 23%) ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าส่งออก 1.97 แสนล้านบาท (หดตัว -1.6 %)  โดย 5 อันดับแรก (การเติบโต %YOY) คือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (เติบโต 9.5%) น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล (หดตัว -33%) อาหารสัตว์เลี้ยง (เติบโต 26%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ (เติบโต 12%) เครื่องดื่ม (เติบโต 11%) สำหรับ 5 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าอาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะมีมูลค่าราว 6.2-6.5 แสนล้านบาท และทั้งปี 2567 คาดว่ามูลค่าอาหารและเครื่องดื่มจะมีมูลค่าราว 1.55 – 1.6 ล้านล้านบาท หรือเติบโตราว 3 % เมื่อเทียบกับปี 2566

         ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ คือ ต้องติดตามสถานการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความกังวลด้านต้นทุนการผลิต ทั้งการปรับค่าแรง ต้นทุนพลังงาน ดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงทรงตัวระดับสูง อัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงทุกเส้นทาง ปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ส่วนโอกาสและปัจจัยหนุน คือ ประเทศคู่ค้ายังต้องการสต็อกสินค้าเพื่อความมั่นคงทางอาหารและใช้บริโภคภายในประเทศ การเติบโตของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกิจกรรมภาคบริการของทั่วโลก มีการขยายการเจรจาทางการค้ากับตลาดใหม่มากขึ้นและค่าเงินบาทอ่อนส่งผลดีต่อการส่งออก

สำหรับการจัดงาน ProPak Asia 2024 ที่มีส่วนในการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มของไทยนั้น  นายสรรชาย นุ่มบุญนํา – ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก โดยภาครัฐมีนโยบายที่จะให้ไทยเป็นครัวโลกในการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นนํ้าในภาคเกษตรกรรม การแปรรูปและส่งออก พร้อมพัฒนาเป็นศูนย์กลางความมั่นคงด้านอาหาร การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต การวิจัยพัฒนาอาหารโปรตีนสูงจากพืช ฯลฯ ดังนั้นเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าวและร่วมพัฒนาผู้ประกอบการไทย งาน ProPak Asia 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ชั้นนําระดับเอเชียปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิดว่า “Empowering Sustainability Processing & Packaging Success with Ideation, Innovation and Investment” หรือ ยกระดับความสําเร็จในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนด้วย แนวคิด นวัตกรรมและการลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์

        การผลิตยุคใหม่นั้น มีทิศทางการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพ อาทิ การใช้ IoT (Internet of Things) มาช่วยติดตาม ตรวจสอบ ควบคุมกระบวนการผลิต การใช้วัตถุดิบและพลังงาน ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต การพัฒนาเครื่องจักรและโรงงานอัตโนมัติ (Automation) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robot) ช่วยลดความผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและจัดการ ฯลฯ การใช้ AI (Artificial Intelligence) ในการควบคุม ปรับปรุงกระบวนการผลิต การทํางานประมวลผล ตัดสินใจ วิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพวัตถุดิบ สภาพแวดล้อมการผลิต ประสิทธิภาพเครื่องจักร จําลองกระบวนการผลิต ทดสอบและปรับปรุงกระบวนการโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรจริง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดถูกรวบรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานฯ ครั้งนี้

            โดยงาน ProPak Asia 2024 จะใช้พื้นที่จัดแสดงเต็มภายในฮอลล์และโถงด้านหน้าทั้งหมดของไบเทค รวมพื้นที่กว่า 55,000 ตรม. มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงงานเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 10% หรือ กว่า 2,000 ราย จาก 45 ประเทศ มีพาวิลเลี่ยนจากต่างประเทศร่วมจัดแสดงถึง 10 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี อเมริกาเหนือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน ถือเป็นทางลัดทำให้ไม่ต้องเดินทางไปดูเทคโนโลยีใหม่ๆ ถึงยุโรปหรืออเมริกา ภายในงานฯ แบ่งเป็น 8 โซนจัดแสดง ประกอบด้วย 1) Processing Tech Asia 2) Packaging Tech Asia 3) Drink Tech Asia 4) Pharma Tech Asia 5) Lab&Test Asia 6) Packaging Solution Asia 7) Coding, Marking & Labelling Asia 8) Coldchain, Logistics, Warehousing & Factory Asia

            ส่วนไฮไลท์ที่พลาดชมไม่ได้ ประกอบด้วย

  1. I-Stageเวทีที่รวบรวม ความริเริ่มสร้างสรรค์ นวัตกรรมและการลงทุนสําหรับโซลูชั่นทางธุรกิจในระบบห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มและธุรกิจ FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) สินค้าอุปโภค บริโภค
  2. ProPak Gourmetเวิร์คช็อปและสาธิตการใช้เทคโนโลยีเพื่อการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ค้นหาวิธีการยืดระยะเวลาความสด เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบสําหรับเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก สัตว์นํ้าและอาหารทะเล
  3. Future Food Cornerพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวคิดระบบอาหารแห่งอนาคต ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและบรรจุภัณฑ์ พร้อมสัมผัสประสบการณ์ใหม่ไปกับอาหารแห่งอนาคต
  4. Lab & Test Teatherอัพเดทข้อกําหนดล่าสุดด้านความปลอดภัย เทคโนโลยีตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานการแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม ยา สินค้าอุปโภคบริโภคและบรรจุภัณฑ์สินค้า
  5. Packaging Design Clinicพื้นที่ให้คําปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์
  6. WorldStar, AsiaStar & ThaiStar Packaging Awards Displayพื้นที่จัดแสดงบรรจุภัณฑ์ที่ชนะการประกวดออกแบบระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งปีนี้เป็นปีพิเศษที่ทาง World Packaging Organization หรือ WPO ได้เลือกมาจัดงาน WorldStar Global Packaging Award ที่งาน ProPak Asia เพื่อมอบรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับโลก.

            สำหรับเวทีสัมมนาที่สำคัญประกอบด้วย

  1. Global Packaging Forum 2024โดยมีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ระดับโลก กว่า20 ท่าน มาพูด

ถึงทิศทางในอนาคตของบรรจุภัณฑ์ในทุกมิติและทุกประเภทบรรจุภัณฑ์

  1. Executive Talk: Asian Agri-Food Sector Transformationสัมมนาหลักในธุรกิจสินค้าแปรรูปจากเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก สัตว์นํ้า อาหารทะเลและสินค้าการเกษตร โดยเน้นถึงทิศทางของธุรกิจในกระดับภูมิภาค แนวทางการเพิ่มมูลค่าสินค้า
  2. Beverage Executive Talkหัวข้อด้านธุรกิจเครื่องดื่ม ที่ได้ผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจมาแลกเปลี่ยนและพูดคุยถึงทิศทางธุรกิจเครื่องดื่ม
  3. สัมมนาจาก วว. หนึ่งในพันธมิตรหลักของงาน ซึ่งจะมีกิจกรรมและสัมมนาภายในงานที่มุ่งเน้นยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ของไทย ผ่านการวิจัย การพัฒนาและการส่งเสริมนวัตกรรม

นอกจากนั้นภายในงานยังมีสัมมนาที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากกว่า 120 การประชุม จาก 400 หัวข้อ โดยวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญ ครอบคลุมทั้งเรื่องการวิจัย นวัตกรรมต่างๆ ด้านการแปรรูป ปรุงสุก บรรจุภัณฑ์ ธุรกิจอาหารและนํ้าดื่ม รวมทั้งมาตรฐานข้อกําหนดต่างๆ สําหรับสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศและสินค้าการส่งออก รวมถึงสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากทางภาครัฐและหน่วยงานทางด้านการเงินที่จะมาให้คําปรึกษาอีกด้วย ทำให้คาดว่าการจัดงานฯ ครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 65,000 คน และยังมีการเชิญกลุ่มผู้ประกอบการจากประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ + 4 ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวันและบังคลาเทศ จํานวนกว่า 10,000 คน เดินทางมาชมเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าฟังสัมมนาและเจรจาธุรกิจภายในงานอีกด้วย

            งาน ProPak Asia 2024 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12–15 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ผู้สนใจรายละเอียดการจัดงานและต้องการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเข้าชมงานฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.propakasia.com

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon