ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการทบทวนหลักเกณฑ์ดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในส่วนนิยามหนี้สินด้อยสิทธิ

22

มิติหุ้น  –  ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการทบทวนหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ผู้ประกอบธุรกิจ) ในส่วนนิยามหนี้สินด้อยสิทธิ (qualified sub-debt) ที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุน พร้อมทั้งร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจและสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) โดยไม่สร้างภาระเกินจำเป็นแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจ ในส่วนนิยามหนี้สินด้อยสิทธิที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุน โดยได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ก.ล.ต. ได้ทบทวนหลักการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว รวมถึงประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง

ในครั้งนี้ ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นการทบทวนหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

          (1) หนี้สินด้อยสิทธิ (qualified sub-debt) ที่ไม่นับเป็นหนี้สินรวมในการคำนวณเงินกองทุน* ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเลื่อนการชำระเงินต้น และยกเลิกหรือเลื่อนการชำระดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอื่นใด เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้

                     (ก)  ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

                     (ข)  ผู้ประกอบธุรกิจผิดนัดชำระราคาหรือส่งมอบหลักทรัพย์ต่อสำนักหักบัญชีหรือต่อลูกค้าในกรณีเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือผิดนัดชำระหนี้หรือส่งมอบสินค้าต่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือต่อลูกค้าในกรณีเป็นการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่การผิดนัดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากปัญหาฐานะทางการเงินหรือการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบธุรกิจและได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว

(2) ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้หนี้สินด้อยสิทธิที่ออกก่อนหรือออกในวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยไม่นับเป็นหนี้สินรวมในการคำนวณเงินกองทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นต่อไปได้อีกไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเวลาเพียงพอในการปรับปรุงข้อกำหนดในสัญญาให้เป็นไปตามนิยามที่กำหนด

การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจและสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งเป็นการป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ โดยไม่สร้างภาระเกินจำเป็นให้กับผู้ประกอบธุรกิจ

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon