ไบโอเทค สวทช. แถลงปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญภายใต้ห่วงโซ่มันสำปะหลังลุ่มน้ำโขง ชี้สามารถจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลัง สร้าง 4 หลักสูตรอบรมผู้เชี่ยวชาญไทยและเพื่อนบ้าน เพื่อความยั่งยืนของประเทศลุ่มน้ำโขง

43

มิติหุ้น  – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) พร้อมพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แถลงข่าวปิดโครงการ “Train-the-Trainer Program under Lancang – Mekong Cooperation to Enhance Production Capacity and People’s Livelihood by Improving the Value Chain for Cassava Cultivation and Application: Clean Cassava Chips, Native Starch, Modified Starch, Ethanol and Biogas Production (TTC Project)” ซึ่งได้รับทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2563 เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญของห่วงโซ่มันสำปะหลัง ประกอบด้วย

เกษตรกรผู้ผลิต นักวิชาการ บุคลากรจากภาคเอกชน และผู้ประกอบการในประเทศลุ่มน้ำโขง ชี้สามารถขยายเครือข่ายความร่วมมือตลอดห่วงโซ่มูลค่า จัดตั้งศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลัง พร้อมพัฒนา 4 หลักสูตรสำคัญอบรมแก่ผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 คนในไทยและเพื่อนบ้าน ทั้งเรื่องการปลูก การผลิตแป้งและแปรรูป การจัดการของเสีย และการผลิตเอทานอล เพื่อความยั่งยืนของประเทศลุ่มน้ำโขง โดยมี ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. นายหม่า มิงเกิง ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. และนักวิจัยในโครงการ นำโดย ดร.วรินธร สงคศิริ หัวหน้าโครงการ ดร.กาญจนา แสงจันทร์ หัวหน้าโครงการร่วม รวมทั้งผู้แทนจากประเทศเพื่อนบ้าน และสถานทูตเข้าร่วมในงาน

 

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. ได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนางานวิจัยด้านมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่งานวิจัยต้นน้ำ เช่น เทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์สะอาด ระบบการสร้างต้นพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธุ์ไทยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การพัฒนาแนวทางการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นพันธุ์ปลอดโรคอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี mini stem cutting และการพัฒนาต้นแบบชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test เป็นต้น งานวิจัยกลางน้ำ เช่น การวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิตของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย และงานวิจัยปลายน้ำ เช่น ต้นแบบผลิตภัณฑ์ช้อน ส้อม และมีดไบโอพลาสติกจากมันสำปะหลัง ต้นแบบวัสดุทดแทนไม้ธรรมชาติจากเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่มันสำปะหลัง และพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังระดับอุตสาหกรรมจากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูง พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟลาวมันสำปะหลังให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังระดับอุตสาหกรรม

 

ดร.วรินธร สงคศิริ หัวหน้าโครงการ TTC และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า จากความสำเร็จโครงการและองค์ความรู้ที่สั่งสมกว่า 20 ปี ทีมวิจัยไบโอเทค มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปยังอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม ไทย และยังได้ทำงานร่วมกับประเทศจีนอีกด้วย ทีมวิจัยจึงได้ริเริ่มโครงการชื่อ TTC เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญของห่วงโซ่มันสำปะหลัง ประกอบด้วย เกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง นักวิชาการ บุคลากร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% และหากรวมกับประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 95%

ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการ TTC พบว่า สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่มูลค่ามันสำปะหลัง โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 154 คน จากประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงและสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถขยายเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่มูลค่าผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ

1.1 การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลัง (Cassava Information Center)

1.2 การพัฒนาหลักสูตร คู่มือ และสื่อสำหรับการจัดอบรม 4 หลักสูตร ได้แก่ การปลูกมันสำปะหลัง การผลิตแป้งและแปรรูป การจัดการของเสียและการผลิตก๊าซชีวภาพ และการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง

1.3 การอบรมผู้เชี่ยวชาญใน 4 หลักสูตรข้างต้น โดยจัดอบรมในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

1.4 การถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ

1.5 กิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่ต่อยอดจากโครงการ เช่น โครงการการวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิต และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย โครงการการพัฒนาโมเดลนำร่องในการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบองค์รวมโดยผ่านกลไกมหาวิทยาลัย (CIGUS Model) โดยใช้อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังเป็นต้นแบบ รวมทั้งโครงการการส่งเสริมความยั่งยืนและความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพในภูมิภาคอาเซียนจากข้อมูลและประสบการณ์ของประเทศไทย สนับสนุนโดย สมาคมแป้งมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon