มิติหุ้น – เมื่อ “ความยั่งยืน” เป็นเช็คลิสต์เบอร์ต้นในการตัดสินใจของนักลงทุน จากรายงานของ Morningstar บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านการลงทุนชั้นนำระดับโลก ระบุว่า มูลค่าการลงทุนในกองทุนและหุ้นยั่งยืนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 1.8% ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 109 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนสถาบัน ต่างให้ความสนใจกับการลงทุนด้านความยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มขยายไปยังกลุ่มนักลงทุนรายย่อยอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับรายงาน “Sustainable Signals 2024” ของ Morgan Stanley ที่ระบุว่ามากกว่า 77% ของนักลงทุนรายย่อยทั่วโลก สนใจลงทุนในบริษัทหรือกองทุนที่ไม่เพียงให้ผลตอบแทนทางการเงิน แต่เห็นความสำคัญของผลกระทบเชิงบวกด้าน ESG เช่นกัน
ล่าสุด S&P Global ผู้ให้บริการข้อมูลด้านการเงินและการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับเวิลด์คลาส ได้ประกาศรายชื่อองค์กรชั้นนำจากทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับผลการประเมินด้านความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2023 ใน The Sustainability Yearbook 2024 ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงด้านความยั่งยืนของบริษัทที่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักลงทุน โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีของไทย ติดระดับ Top 1% ถือเป็นระดับสูงสุด ด้วยคะแนนรวม 95 คะแนน จาก 100 คะแนน สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกจากทั้งหมด 9,400 บริษัทที่ได้รับการประเมินใน 62 อุตสาหกรรม และยังคงครองที่ 1 ในกลุ่มโทรคมนาคมของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 6
ปูทางสร้างคุณค่าระยะยาว จาก “การรับฟังเสียง” ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
บนเส้นทางแห่งความยั่งยืนมากว่า 3 ทศวรรษ ทรู คอร์ปอเรชั่น มีกลยุทธ์สำคัญ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ควบคู่กับการสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่สังคม คือการกำหนดนโยบายเชิงรุก ดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ ขณะเดียวกัน ให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงสะท้อนและความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อตอบสนองความคาดหวังและสร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก้าวทันเมกะเทรนด์และความท้าทายต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งทรู ได้ขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สอดคล้องและครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การประเมินใน 22 หมวดหัวข้อที่เข้มข้นของ CSA Corporate Engagement S&P Global ในทั้ง 3 มิติ ESG ได้แก่
ด้านสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายที่ท้าทายของทรู คือการมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางตรงและทางอ้อม (Scope 1 & 2) สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายใน ปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา ทรู ได้เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ติดตั้งและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เสาสัญญาณมากกว่า 7,800 แห่งทั่วประเทศ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 12.7% ต่อรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI มาควบคุมการเปิด-ปิดไฟ นำ Dashboard มาติดตามคุณภาพเครือข่าย แจ้งเตือนปัญหา และใช้แอปพลิเคชันสนับสนุนระบบปฏิบัติการ ขณะเดียวกัน ยังคงเดินหน้าการเป็นองค์กรจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีฝังกลบเป็นศูนย์ (e-Waste to Landfill) นำ e-Waste กว่า 2 ล้านชิ้นจากลูกค้าและจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากล 100%
ด้านสังคม
ทรู ตั้งเป้าส่งเสริมการศึกษายุคดิจิทัลให้แก่เยาวชนและคนในสังคมกว่า 36 ล้านคน ภายในปี 2573 โดยมุ่งพัฒนา “คน” ให้มีทักษะด้านดิจิทัลโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี AI ให้คนไทยทุกกลุ่ม พร้อมพัฒนาพนักงานสู่การเป็น “Citizen Developer” ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ส่งเสริมให้คนสังคมกว่า 32 ล้านคนเข้าถึงการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ภายใต้โครงการทรูปลูกปัญญา ควบคู่กับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนไทยผ่านโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม ธรรมะเรียลลิตี้ที่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเผยแผ่พระพุทธศาสนามานานกว่า 1 ทศวรรษ นอกจากนี้ ยังพัฒนานวัตกรรมโซลูชันเพื่อสร้างคุณค่าระยะยาวแก่ลูกค้าและองค์กร นำเทคโนโลยี AI มาปรับปรุงการให้บริการลูกค้าให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลให้คะแนนความพึงพอใจลูกค้าสูงถึง 95%
ด้านธรรมาภิบาล
ทรู บริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรฐานโลก 100% โดยใช้เทคโนโลยี AI และ ML (Machine Learning) มาช่วยจัดการภัยคุกคามและยกระดับระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมกำหนดธรรมนูญจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อกำกับการใช้เทคโนโลยี AI อย่างโปร่งใส ขณะเดียวกัน ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้าพันธมิตรที่เฉพาะในปี 2566 มีมากถึง 1,450 ราย ให้ได้รับการประเมินตนเองด้าน ESG ครบ 100% พร้อมขับเคลื่อนเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนในกระบวนการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ตลอดจนสนับสนุนความเท่าเทียมของพนักงานและคนทุกกลุ่มในสังคมอีกด้วย
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “การเข้าร่วมประเมินด้านความยั่งยืน Corporate Sustainability Assessment เปรียบเสมือนมาตรวัดสำคัญให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้นำข้อเรียนรู้มาพัฒนาปรับปรุง ลดความเสี่ยง ตระหนักถึงผลกระทบเชิงบวกและลบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และนับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดอีกครั้ง ที่ทรู ได้รับการพิจารณาจาก S&P Global ติดอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืน DJSI 2023 ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 6 ปีซ้อน ด้วยคะแนนรวมสูงสุด 95 คะแนน จาก 100 คะแนน ในรายงาน The Sustainability Yearbook 2024 และยิ่งไปกว่านั้น ยังติดอันดับ Top 1% ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกจากทั้งหมด 62 อุตสาหกรรม พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นองค์กรไทยที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาในแนวทางที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ”
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon