การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยสู่ AI ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับความปลอดภัยทางไซเบอร์

38

มิติหุ้น – กรุงเทพฯ ประเทศไทย | 24 มิถุนายน 2567 — บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ จำกัด(NASDAQ: CHKP) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นนำ เผยว่า การปรากฎของ AI ถือเป็นสัญญาณแห่งโอกาสความก้าวหน้าที่ไม่เคยมีมาก่อนในหลายภาคส่วน ท่ามกลางการพัฒนาทางเทคโนโลยีของประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2570(The leading hub for Artificial Intelligence (AI) in Southeast Asia by 2027)  และการริเริ่มโครงการ AI ที่สำคัญ  6 โครงการของรัฐบาลไทย(Six Pivotal AI projects)   ทำให้ประเทศไทยอยู่ แถวหน้าในการเปิดรับศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของ AI    อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การบูรณาการด้าน AI ซึ่งต้องไม่เพียงมุ่งสู่นวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น ยังต้องเข้าใจถึงความสำคัญและลำดับความสำคัญของความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย

จากรายงานของ Check Point Threat Intelligence Report  ระบุว่า องค์กรในประเทศไทยถูกโจมตี           โดยเฉลี่ย 1,956 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 61% สถิติที่น่าตกใจนี้       ทำให้เกิดภาพที่น่ากังวลเกี่ยวกับภาพรวมความปลอดภัยในปัจจุบันของประเทศไทย จากการโจมตีทาง ไซเบอร์ที่บ่อยครั้ง ควบคู่ไปกับแผน AI เชิงรุก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงในหลากหลายมิติเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น 

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่การเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างนวัตกรรม AI และการใช้งานจริง แม้ว่าประโยชน์ที่เป็นไปได้ของ AI จะมีอยู่มากมาย แต่องค์กรต่างๆ ก็มักจะเผชิญกับความซับซ้อนในการบูรณาการโซลูชัน AI เข้ากับเวิร์คโฟลวและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ นอกจากนี้ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ความปลอดภัย และการพิจารณาด้านจริยธรรมยังคงเป็นเรื่องใหญ่ กระตุ้นให้เกิดแนวทางการนำ AI มาใช้อย่างระมัดระวังในทุกภาคส่วน ผลสำรวจของ ESG พบว่า 87% ของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ยอมรับศักยภาพของ AI ในโลกไซเบอร์ แต่ยังลังเลที่จะดำเนินการ ข้อควรระวังนี้เกิดขึ้นจากการตระหนักว่าเทคโนโลยีเดียวกันเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยฝ่ายตรงข้ามเพื่อเตรียมการโจมตีทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วย 

ความท้าทายของ AI ในประเทศไทย

เพื่อให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในยุค AI นี้  มีหลายด้านที่ต้องเติมเต็ม  เพื่อให้กลยุทธ์ AI บรรลุผล ประเทศไทยต้องมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อที่แข็งแกร่งก่อน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นส่วนสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทที่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลยังคงมีความสำคัญ ปัจจุบัน อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอยู่ที่  78.3% และคาดว่าสูงถึง  86.6% ในปี 2572   แม้ว่านี่จะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเริ่มต้น แต่การปิดช่องว่างนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับประโยชน์จาก AI ได้อย่างครอบคลุม และป้องกันความแตกต่างในการเข้าถึงการบริการ  AI  นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลแบบคลาวด์จะเป็นรากฐานที่จำเป็นสำหรับการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล AI

สำหรับกรอบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมยังจำเป็นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและใช้งาน AI ข่าวดีก็คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย (PDPA) สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น GDPR ของสหภาพยุโรป จึงทำให้มั่นใจได้ถึงการปกป้องข้อมูลที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามการพัฒนาแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมของ AI จะช่วยให้มั่นใจได้ถึงการใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบและยุติธรรม หน่วยงานกำกับดูแล AI โดยเฉพาะควรเข้ามามีบทบาทเพื่อดูแลการพัฒนา AI สิ่งนี้ทำให้มั่นใจได้ถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและกฎหมายในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความไว้วางใจแก่สาธารณะ

การมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนเฉพาะสำหรับการบูรณาการ AI จะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจัดการกับความท้าทายเฉพาะภาคส่วน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการผลิตถือเป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจประการหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และการจ้างงานของประเทศ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก  AI สามารถนำไปใช้เพื่อปฏิวัติกระบวนการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์

ภาคส่วนที่สำคัญอีกภาคส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยคือ ภาคเกษตรกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านแอปพลิเคชัน AI เช่น การทำฟาร์มที่แม่นยำ การตรวจสอบพืชผล และการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน ไม่เพียงแต่จะช่วยรับประกันความมั่นคงด้านอาหารเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการเกษตร และการเติบโตในระยะยาว 

คนเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของ AI

ความสำเร็จจากความมุ่งมั่นด้าน AI ของประเทศไทยขึ้นอยู่กับแรงงานที่มีทักษะและการรับรู้ของสาธารณชน การส่งเสริมการรับรู้เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของ AI จะช่วยแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและความหวาดกลัวที่ผิด เช่น การถูกไล่ออกจากงาน และการละเมิดความเป็นส่วนตัว    การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ รวมถึงธุรกิจ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ในการอภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมของ AI จะส่งเสริมแนวทางการพัฒนา AI ที่ครอบคลุมมากขึ้น การส่งเสริมความโปร่งใสในแอปพลิเคชัน AI ยังช่วยให้แน่ใจว่าการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วย AI นั้นเป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะสร้างความไว้วางใจจากสาธารณะต่อไป

นอกจากนี้ การเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้าน สะเต็มศึกษา (STEM education) ในทุกระดับถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับบุคลากรที่มีความสามารถด้าน AI ในอนาคต ดังที่ได้ทราบว่าเกิดความขาดแคลนผู้มีทักษะความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จำนวนมากทั่วโลก การสำรวจล่าสุดเผยให้เห็นว่า การจ้างผู้มีความสามารถที่มีทักษะด้าน AI เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับนายจ้าง ถึง 94%  แต่ 64% ประสบปัญหาในเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัย     ช่องว่างนี้จะขยายกว้างขึ้นหากไม่ได้รับจัดการที่ถูกต้อง โปรแกรมการฝึกอบรมและการรับรอง AI เฉพาะทางจะช่วยเพิ่มทักษะให้กับพนักงานในปัจจุบัน เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะมีความพร้อมที่จะรับมือกับเทคโนโลยี AI ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการจัดตั้งศูนย์วิจัย AI และเสนอหลักสูตรและปริญญาที่เน้น AI จะช่วยเร่งขีดความสามารถด้าน AI ของประเทศไทยให้เร็วขึ้น

ในทำนองเดียวกัน การเพิ่มเงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนา AI ถือเป็นสิ่งสำคัญ ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันสนับสนุนการเงินในโครงการด้าน AI เพื่อผลักดันนวัตกรรม การสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมและอุทยานเทคโนโลยีจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่หล่อเลี้ยงสตาร์ทอัพด้าน AI และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรม ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะขับเคลื่อนความก้าวหน้าของ AI เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จากการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย

นายคงศักดิ์ ก่อตระกูล  ผู้อำนวยการด้านวิศวกรความปลอดภัย ประจำภูมิภาคอาเซียนและเกาหลี บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ จำกัด  กล่าวว่า “จากการประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของ AI  สิ่งสำคัญคือต้องรักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความปลอดภัยทางไซเบอร์ การบรรจบกันของเทคโนโลยี AI กับกฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มแข็ง ถือเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของ AI  ในขณะที่ต้องป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ นอกจากนี้ การมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่มุมของมนุษย์ การส่งเสริมตระหนักรู้ของสาธารณชน และการทำงานเพื่อมุ่งสู่แรงงานที่ได้รับการฝึกอบรมด้าน AI เพื่อรับมือกับความท้าทายและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก AI  สุดท้ายนี้ ด้วยการลงทุนเชิงกลยุทธ์และความพยายามที่ร่วมมือกัน ประเทศไทยสามารถปูทางไปสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่ยั่งยืนและปลอดภัยได้”

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon