เดอะวิสดอมกสิกรไทย ชี้โอกาสลงทุนต่างประเทศ เจาะลึก 6 ประเทศที่ต้องจับตาในครึ่งหลังปี 67 แนะแนวทางจัดพอร์ต Core & Satellite สู่ผลตอบแทนระยะยาว

33
มิติหุ้น  –  เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดสัมมนา ‘THE WISDOM Wealth Decoded’ ครั้งที่ 3 เจาะลึกการเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินการคลังในครึ่งปีหลัง 2567 ของ 6 ประเทศที่ต้องจับตาและเป็นปัจจัยบวกเพิ่มโอกาสลงทุนในตลาดต่างประเทศของนักลงทุน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย และเวียดนาม ระบุแนวโน้มผลตอบแทนการลงทุนต่างประเทศเติบโตต่อเนื่อง แนะกลยุทธ์จัดพอร์ตแบบ ‘Core & Satellite’ กระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ และตลาดเอเชียที่มีบางตลาดมีการปรับฐานย่อลงมาและมีอัพไซด์ต่อ ซึ่งเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
นางสาวมทินา วัชรวราทร, CFA, Head of Investment Strategy บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นต่างประเทศมีทิศทางดีขึ้น เป็นโอกาสกระจายพอร์ตลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน โดยให้น้ำหนักที่หุ้นสหรัฐฯ ประมาณ 50% เนื่องจากเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นสูง มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยตลาดสหรัฐฯ มีปัจจัยหนุนอยู่ 2 ด้าน ได้แก่
1)     การเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่ทำให้หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 ตัว หรือที่เรียกว่ากลุ่ม The Magnificent Seven หรือ หุ้น 7 นางฟ้า
2)   จำนวนประชากรภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้มีแรงงานใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น ช่วยกระตุ้นการบริโภค ทำให้ภาคบริการเติบโต ช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงวัย
ขณะเดียวกัน ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในสหรัฐฯ แนะทยอยเข้าลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นปรับฐานในส่วนของยุโรป อยู่ในธีม ‘Rethink’ ที่ต้องจับตาประเด็นการเมืองหลังและนโยบายการคลัง จากที่พรรคฝ่ายขวาจัดได้จำนวนเสียงที่นั่งเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งสภายุโรป ทำให้เกิดการเทขายหุ้นและพันธบัตรฝรั่งเศส เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจว่าพรรคฝ่ายขวาจัดจะมีนโยบายเพิ่มหนี้สาธารณะอีกแค่ไหน แต่ตัวชี้วัดทางการเศรษฐกิจหลายตัว เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการผลิตมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว ด้วย
อานิสงส์จากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลักอย่างประเทศจีน และมีจุดสำคัญของตลาดหุ้นยุโรปคือมูลค่าหุ้นยังไม่แพง และมีสัดส่วนกำไรเติบโต แนะนำให้รอดูผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสก่อนที่จะเข้าเก็บสะสมหุ้นยุโรปเข้าพอร์ต
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น อยู่ในช่วง ‘Reform & Recovery’ เป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ หลังจากโควิด-19 ทั้งเงินเฟ้อและค่าจ้างของญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 30 ปี ทำให้คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนตัว ทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเติบโต นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นยังมีมาตรการกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนนำเงินสดที่มีอยู่ในระดับสูงไปลงทุนเพิ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ตลาดหุ้น และทำให้ต่างชาติหันกลับมาสนใจตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้น จนทำให้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นญี่ปุ่นสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่น จนทำจุดสูงสุดใหม่ (New High) ได้ในรอบกว่า 30 ปี ข้อควรระวังคือค่าเงินเยนที่อ่อนเกินไป จะทำให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจในการลงทุน และทำให้เกิดเงินเฟ้อในประเทศได้
ตลาดจีน อยู่ในช่วง ‘Rebalancing’ หรือปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ หลังจากภาคอสังหาฯ มีปัญหา ภาคการผลิตมีจุดอ่อนโดนกีดกันทางการค้า ทำให้ต้องหาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งจีนมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น กลุ่มเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Clean Tech) ที่ช่วยลดปัญหามลพิษในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เซมิคอนดัคเตอร์ (Semi-Conductor) และ AI นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ว่าจะช่วยฟื้นกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน
ส่วนอินเดียอยู่ในช่วง ‘Rising Rapidly’ มีศักยภาพในการเติบโตสูงด้วยประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก มีการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การนำอินเดียเข้าไปอยู่ใน Global Supply Chain และแก้กฎหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ถึงแม้ว่าพรรค BJP ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จะไม่ได้ชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่ก็ยังครองเสียงข้างมากในสภาอยู่ ทำให้นโยบายการลงทุนภาครัฐยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าการแก้กฎหมายต่างๆ จะทำได้ยากขึ้นเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม
สำหรับภูมิภาคอาเซียน เวียดนามเป็น ‘Rising Star’ มีมุมมองเชิงบวกมาโดยตลอด ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ได้รับประโยชน์จากสงครามการค้า และนโยบายสำคัญของจีนที่กำลังดำเนินการอยู่คือ China Plus One โดยจีนยังเป็นตลาดหลักของภาคการผลิต แต่มองหาตลาดใหม่เพื่อกระจาย Supply Chain โดยใน 4 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกของเวียดนามเติบโตกว่า 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลักๆ มาจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนาม
ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุน นางสาวมทินา แนะนำการจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite Portfolio เป็นการกระจายความเสี่ยง โดยลงทุนในกองทุน ‘K-WealthPLUS Series’ ที่กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภททั่วโลก เป็นโซลูชันด้านการลงทุนที่ บลจ. กสิกรไทยพัฒนาร่วมกับ J.P. Morgan Asset Management พันธมิตรด้านการลงทุนระดับโลก แนะนำให้ถือเป็น Core Port ในสัดส่วน 80% ของพอร์ตทั้งหมด สามารถเลือกได้ตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ได้แก่
–    K-WPBALANCED ความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง มีสัดส่วนหุ้นประมาณ 30% และตราสารหนี้ 70%
–    K-WPSPEEDUP ความเสี่ยงปานกลาง มีสัดส่วนหุ้นประมาณ 65% และตราสารหนี้ 35%
–    K-WPULTIMATE ความเสี่ยงปานกลางถึงสูง มีสัดส่วนหุ้นประมาณ 85% และตราสารหนี้ 15%
สำหรับอีก 20% เป็น Satellite Port สามารถเลือกลงทุนได้ในตลาดที่สนใจ หรือต้องการจับจังหวะเพื่อเก็งกำไร โดยกองทุนที่แนะนำได้แก่
–    K-GLOBE มีนโยบายกระจายลงทุนในหุ้นทั่วโลก
–    K-INDIA เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพดี เติบโตสูง ทั้งหุ้นขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก
–    K-VIETNAM ลงทุนในหุ้นชั้นนำ มีศักยภาพการเติบโตสูงในหลายอุตสาหกรรม
–    K-FIXPLUSED เน้นคัดเลือกตราสารหนี้ไทยคุณภาพดี ช่วยลดความผันผวนให้พอร์ต
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon