เคทีซีผนึกสกมช. จับเข่าคุย “อนาคตภัยไซเบอร์ กับอนาคตการป้องปราบ” ผ่านเวทีเสวนา KTC FIT Talk #12

10

มิติหุ้น  –  นายไรวินทร์  วรวงษ์สถิตย์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานควบคุมงานปฏิบัติการและปฏิบัติการร้านค้า “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่าเคทีซีให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาระบบบริหารการป้องกันภัยทุจริตให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นสถาบันการเงินรายแรกในเอเชีย แปซิฟิก ที่ได้รับมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยของข้อมูลบัตรเครดิต (PCI DSS) จากสถาบันรับรองมาตรฐานแห่งชาติของประเทศอังกฤษ BSI (British Standards Institution) และพร้อมจะสนับสนุนให้สมาชิกและผู้บริโภคได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อร่วมป้องกันภัยไซเบอร์ในเบื้องต้นไปด้วยกัน เราจึงได้ร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานต่างๆ จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ได้ร่วมกับสกมช. เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และอัพเดทภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ ให้กับคนไทย นอกเหนือจากการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเคทีซีครอบคลุมทั้งระบบ”

“โดยปัจจุบันแนวโน้มการทุจริตจากธุรกรรมที่ไม่ใช้บัตร (card not present) หรือใช้โปรแกรมสุ่มเลขบัตรไปทำธุรกรรมการเงิน (Bin Attack) และการที่ข้อมูลรั่วไหล (Data Compromise) ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เคทีซีจึงได้ออกผลิตภัณฑ์ “บัตรเครดิต   เคทีซี ดิจิทัล” (KTC Digital Credit Card) เพื่อยกระดับความปลอดภัยขั้นกว่าในการใช้บัตรเครดิตให้กับสมาชิกเคทีซี ซึ่งเป็นการป้องกันการทุจริตประเภท card not present หรือ Data Compromise”

“ภัยไซเบอร์เป็นภัยใกล้ตัวและลุกลามเข้าถึงกลุ่มเปราะบางมากขึ้น โดยใช้ความหวาดกลัวในการล่อลวง การเตรียมตัวและการป้องกันภัยด้านไซเบอร์ในวันนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนทุกกลุ่มต้องเรียนรู้อย่างเท่าทัน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเองและคนรอบข้าง โดยรูปแบบของภัยไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันคือ Social Engineering รูปแบบต่างๆ  และ Remote Control ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงระบบไอโอเอส (iOS) ได้เช่นเดียวกับแอนดรอยด์ (Android)  และแนวโน้มในการหลอกโอนเงินมีความเสียหายที่สูงกว่าเคส Remote Control โดยมิจฉาชีพจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ”

ภัยจาก Social Engineering มีหลายรูปแบบ เป็นวิธีการโจมตีทางไซเบอร์ที่มุ่งหวังให้เหยื่อทำตามคำสั่งของผู้โจมตี โดยใช้เทคนิคการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างของเทคนิค Social Engineering ที่พบมากที่สุดในปัจจุบันคือ

1) Phishing คือการส่งอีเมลปลอมเพื่อหลอกให้ผู้รับกดลิงค์ ใช้เทคนิคหลอกลวงเหยื่อเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน เลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลสำคัญอื่นๆ ซึ่งเป้าหมายของการโจมตีด้วย Phishing คือให้กรอกข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลหมายเลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลทางการเงินอื่นๆ โดยเราสามารถป้องกันได้ง่ายๆ คือ ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านทางอีเมลหรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบ URL หรือที่มาของข้อความนั้นๆ อยู่เสมอ

2) Vishing คือหนึ่งในเทคนิคการโจมตีทางไซเบอร์ที่ใช้เสียงในการสื่อสาร โดยมักจะติดต่อผ่านโทรศัพท์เพื่อหลอกลวงผู้ใช้ให้ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลบัญชีที่สำคัญ เช่น หมายเลขบัตรเครดิต รหัส OTP หรือข้อมูลอื่นๆ เป็นต้น ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีคือแก๊งค์คอลเซนเตอร์ ซึ่งนำไปสู่การถูก Remote Access เป็นต้น

3) Smishing คือการใช้ข้อความที่ถูกส่งผ่าน SMS (Short Message Service) เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้ข้อมูลส่วนตัว หรือคลิกลิงก์ที่อาจสร้างความเสี่ยงด้านความปลอดภัยควรระวังไม่คลิกลิงค์ที่ดูไม่น่าเชื่อถือ ปัจจุบันธนาคารไม่มีนโยบายแนบลิงค์ผ่าน SMS หรือส่ง SMS ที่มีเนื้อหาให้กดแลกคะแนนด่วนเพื่อแลกของรางวัล เป็นต้น”

นายนพรัตน์ สุริยา ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายป้องกันทุจริตบัตรเครดิตและร้านค้า “เคทีซี” กล่าวว่า “ปัจจุบันภัยไซเบอร์ที่เกิดจากการรีโมท คอนโทรล (Remote Control) ที่มิจฉาชีพหลอกให้กดลิงค์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่การถูกแก๊งค์คอลเซ็นต์เตอร์หลอกให้โอนเงินโดยตรง กลับมีแนวโน้มที่สูงขึ้นและความเสียหายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเปราะบางและถูกหลอกได้ง่าย ใช้วิธีการล่อลวงเจ้าของบัญชีให้เกิดความหวาดกลัวว่ามีส่วนในการฟอกเงินโดยแอบอ้างมาจากสถานีตำรวจภูธร (สภอ.) ต่างๆ หรือติดต่อจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และมีพัสดุต้องสงสัยหรือถูกนำชื่อไปเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือที่พัวพันกับขบวนการฟอกเงิน เป็นต้น”

“กรณีรีโมท คอนโทรล ที่ผ่านมา มิจฉาชีพมักจะหลอกผู้เสียหายให้คลิกลิงค์และดาวน์โหลดแอปฯ ในระบบแอนดรอยด์ (Android) เป็นหลัก เพื่อจะเข้าควบคุมมือถือ (Remote Control) ในการเข้าถึงแอปพลิเคชันธนาคารต่างๆ แต่ปัจจุบันมิจฉาชีพสามารถหลอกลวงเหยื่อในระบบ iOS ผ่านโทรศัพท์มือถือ iPhone ได้เช่นกัน”

“การป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ยังคงต้องย้ำว่า ควรเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคนและสามารถป้องกันได้ง่ายๆ  ดังนี้ 1) หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันของบริษัทหรือหน่วยงานใดๆ  ให้ติดตั้งเองผ่าน Official Store เท่านั้น ห้ามกดผ่านลิงค์เด็ดขาด เพราะแอปฯ ปลอมเหมือนจริงมาก  2) หากมีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาให้กดลิงค์ดาวน์โหลดหรือติดตั้งแอปฯ และแจ้งว่าต้องทำตามขั้นตอน หรือแจ้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงินใดๆ  ให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ รวมถึงให้ติดต่อกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่ติดต่อมาจากเบอร์โทรศัพท์หน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ  เพื่อตรวจสอบและยืนยัน  3) หากผิดสังเกตว่าถูกรีโมท (Remote)  หรือมีการลงแอปฯ ที่ต้องสงสัย ให้ตัดการเชื่อมต่อ พยายามปิดแอปฯ (Force Shutdown) และดำเนินการล้างเครื่องทันที (Factory Reset) เนื่องจากมีมัลแวร์ (Malware) แฝงอยู่ในเครื่อง ซึ่งผู้ทุจริตจะยังสามารถรีโมทต่อเมื่อไหร่ก็ได้  4) การตั้งรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ควรตั้งค่าให้แตกต่างกัน และแยกจากแอปฯ ประเภทอื่น”

“สำหรับสมาชิกเคทีซี เราให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เพื่อให้สมาชิกทำธุรกรรมการเงินได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และแน่นอนว่าการป้องกันภัยจากการทุจริตต่างๆ จะเกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ถ้าสมาชิกสร้างภูมิคุ้มกันร่วมกับเคทีซี แนะนำให้สมาชิกเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ด้วยการดาวน์โหลดและใช้แอปฯ “KTC Mobile” ซึ่งมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ความสะดวกในการใช้งานและฟังก์ชันป้องกันความปลอดภัย อาทิ ระบบตั้งเตือนการใช้จ่ายผ่านบัตรทุกรายการ  กำหนดยอดใช้จ่ายที่ต้องการ ตั้งเตือนก่อนวันชำระ รวมทั้งบริการที่ลูกค้าสามารถตั้งค่าทำรายการได้ด้วยตนเอง เช่น การอายัดบัตรชั่วคราว การกำหนดวงเงินและการขอวงเงินชั่วคราว นอกจากนี้ ยังอยากย้ำเตือนให้สมาชิกระมัดระวังการแจ้งรหัสให้กับบุคคลอื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการทุจริตเข้าถึงบัญชี”

พลอากาศตรี จเด็ด  คูหะก้องกิจ  ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เผยว่า “สกมช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภาพรวมให้กับประเทศไทย ได้มีการติดตามสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และกลุ่มที่ 2 ได้แก่ คนไทยที่มีการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน”

“โดยในกลุ่มที่ 1 พบว่าพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีการโจมตีทางไซเบอร์ต่อข้อมูลและระบบสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,808 เหตุการณ์ โดยอันดับ 1 ได้แก่ การแฮ็คเข้าเว็บไซต์ (Hacked Websites) คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 ได้แก่ เว็บไซต์ปลอม (Fake Websites) คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ และอันดับ 3 ได้แก่ การหลอกลวงการเงิน (Finance-related gambling) คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขาดความเข้าใจในการออกแบบระบบสารสนเทศอย่างมั่นคงปลอดภัย (Secure software development) รวมถึงการขาดการป้องกันและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Protection and incident response) อย่างถูกต้อง”

“ในกลุ่มที่ 2 พบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มิจฉาชีพมีการปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกลวงคนไทยอย่างต่อเนี่อง โดย สกมช. ได้มีการติดตามกลุ่มมิจฉาชีพที่มีการใช้โซเชียล มีเดีย เป็นสื่อกลางในการหลอกลวงคนไทย ได้แก่ การหลอกให้ลงทุน หลอกให้แจ้งความออนไลน์ การชักจูงให้เล่นการพนันออนไลน์ รวมถึงการหลอกลวงโดยอ้างว่าเป็นหน่วยงานหรือสถาบันการเงินด้วย ทั้งนี้ สกมช. ได้มีการทำงานเชิงรุกร่วมกับแพลทฟอร์มโซเชียล มีเดียหลายราย รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาโดยตลอด ทำให้สามารถปิดกั้นกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ”

“ในส่วนของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและสถาบันการเงินนั้น ตลอดปีที่ผ่านมา สกมช. ได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการเงินหลายแห่ง โดยได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้เว็บไซต์ปลอมเป็นสถาบันการเงินเพื่อหลอกลวงคนไทย ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้ให้บริการโดเมนเนม เพื่อจัดการกับเว็บไซต์ปลอมดังกล่าว มิให้สามารถใช้หลอกลวงคนไทยได้อีกต่อไป ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ทำให้สามารถดำเนินการกับเว็บไซต์ปลอมได้มากกว่า 749 รายการ เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นงานที่เราจะต้องติดตามและจัดการกับเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ

หน่วยงานพันธมิตร ควบคู่ไปกับการยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัย     ไซเบอร์ตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ให้กับสถาบันการเงิน โดยทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สมาคมธนาคารไทย Thailand Banking Sector CERT และ Thailand Telecommunication Sector CERT โดย สกมช. จะเป็นหน่วยงานกลางที่จัดทำข้อกำหนดขั้นต่ำด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (National Cybersecurity Baseline) และหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล (Regulator) จะกำกับดูแลให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดำเนินการตามข้อกำหนดขั้นต่ำดังกล่าว รวมถึงมีการฝึกซ้อมและตรวจประเมินทุกปี ให้กับหน่วยงานเหล่านั้นด้วย”

“สุดท้ายนี้อยากฝากถึงคนไทยทุกคนในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพและภัยไซเบอร์ ด้วยหลัก 3 ไม่ คือ ไม่เชื่อ ไม่ทำ  ไม่โดน โดยเฉพาะในส่วนแรกคือ ต้องไม่เชื่อใครง่ายๆ เช่น ไม่เชื่อเรื่องการซื้อขายออนไลน์ที่ดีเกินจริงหรือถูกกว่าราคาตลาด ไม่เชื่อว่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนด้านการลงทุนที่สูงเกินจริง และไม่เชื่อว่าจะมีหน่วยงานใดติดต่อไปหาทางโทรศัพท์หรือแอดไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากตกเป็นเหยื่อแล้ว ขอให้รีบติดต่อธนาคารเพื่ออายัดเงินเป็นลำดับแรก ก่อนจะติดต่อไปที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือ ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 รวมทั้งหากพบการหลอกลวงออนไลน์ดังที่กล่าวมาแล้ว สามารถติดต่อ สกมช. ผ่านช่องทางต่างๆ ในเว็บไซต์ ncsa.or.th เพื่อร่วมกันจัดการกับมิจฉาชีพต่อไป”

ดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon