จากสถานะการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว GDP ที่อยู่ในระดับต่ำ หนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้แบงก์ต่างๆ เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น เพื่อควบคุม NPL ส่งผลต่อการเติบโตของ NIM
แม้ภาพรวมจะยังดูไม่ค่อยดี แต่โบรกต่างชาติเริ่มแทงสวนแนะนําซื้อหุ้นแบงค์ใหญ่ จากลูกหนี้รายใหญ่ ITD ทยอยขายสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อนํามาใช้หนี้ช่วยคลายความกังวลการตั้งสำรอง รวมถึงความคาดหวังการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในครึ่งปีหลัง การกระตุ้นยอดสินเชื่อภาคธุรกิจให้กลับมาเติบโต จึงเป็นโอกาสในการเข้าสะสม ก่อนที่ Fund Flow จะไหลเข้า เศษฐกิจถูกกระตุ้นโดยภาครัฐ หนุนการเติบโตในอนาคต
ลุ้นทำกำไร 6.1 หมื่นลบ.
บล.เอเซียพลัส ได้ประมาณกำไรกลุ่มธนาคาร 8 แห่ง ได้แก่ BBL ,KTB ,SCB ,KBANK ,BAY ,TTB ,TISCO และ KKP ไว้ราว 6.1 หมื่นลบ. ลดลง 2.5% QoQ และทรงตัว YoY คาด NII อ่อนตัว 2.2% QoQ จากสินเชื่อที่ชะลอตัว ขณะที่ดอกเบี้ย สินเชื่อ รับผลกระทบเล็กน้อยจากการลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบางของธนาคาร
ในช่วงครึ่งปีหลังคาด KBANK และ BBL ที่มีสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจสูงรับประโยชน์จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ มากกว่าธนาคารที่เน้นสินเชื่อรายย่อย อย่าง KKP, KTB, SCB และ TISCO ซึ่งยังถูกฉุดด้วยหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในระดับสูง
นอกจากนี้การเติบโตของกำไร SCB อาจถูกบั่นทอนเพราะความเสี่ยง ในการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์หลังยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ตั้งแต่ 31 ก.ค. 67 ส่วน TTB แม้มีสัดส่วนสินเชื่อราย่อยสูง แต่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นกันชน จึงประเมินอัตราการขยายตัวของกำไรยังคงเด่นกว่ากลุ่ม แนะ KBANK ให้ราคาเป้าหมาย 148 บาท , BBL ให้ราคาเป้าหมาย 175 บาท , TTB ให้ราคาเป้าหมาย 1.98 บาท
ความสามารถในการทำกำไรลดลง
ทางด้านบล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าใน Q2/67 ตัว NPL จะเพิ่มขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และ ECL โดยรวมจะลดลงเล็กน้อย QoQ จาก BBL, BAY, TTB เร่งตั้งสำรองใน Q1/67 ในส่วน NIM จะลดลงเล็กน้อยราว 0.8% QoQ จากการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น และผลกระทบเล็กน้อยจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง
ดังนั้นจึงได้ประมาณกำไรกลุ่มธนาคาร 8 แห่ง ได้แก่ BBL ,KTB ,SCB ,KBANK ,BAY ,TTB ,TISCO และ KKP ไว้ราว 6.05 หมื่นลบ. ลดลง 6% QoQ จาก NIM ที่ลดลง รวมถึงกําไรจากเครื่องมือทางการเงิน และลดลง 3% YoY คาดว่า KBANK จะรายงานกําไร Q2/67 ลดลงมากที่สุด 18% เมื่อเทียบ QoQ โดยมีสาเหตุมาจากกําไรจากเครื่องมือทางการเงินที่ลดลง และ TISCO ลดลงมากที่สุด 12% เมื่อเทียบ YoY จาก credit cost ที่สูงขึ้น
แนวโน้มกำไรปี 67 คาดว่ากําไรของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้น 5% โดยได้แรงหนุนจากการ เติบโตของสินเชื่อที่ 3% และ NIM ที่ค่อนข้างทรงตัว credit cost ที่ลดลงเล็กน้อย non-NII ในระดับคงที่ รวมถึงอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในระดับทรงตัว เลือก BBL ราคาเป้าหมาย 180 บาท และ KTB ราคาเป้าหมาย 22 บาท เป็นหุ้นเด่นเนื่องจาก valuation น่าสนใจ และความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ
ภาพรวมยังคงชะลอตัว
ขณะที่บล.กสิกรไทย มองว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) จะอ่อนแอลงเนื่องจากสินเชื่อลดลง 1% QoQ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (non-NII) ที่ลดลงจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อกำไร ขณะที่เราคาดว่าค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) จะยังคงสูงที่ 151bpsดังนั้นจึงได้ประมาณกำไรกลุ่มธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ BBL ,KTB ,SCB ,BAY ,TTB ,TISCO และ KKP ไว้ราว 4.76 หมื่นลบ. ลดลง 3% QoQ และ 4% YoY
โดยคาด BAY จะรายงานการเติบโตของกำไรแข็งแกร่งที่สุด QoQ อยู่ที่ 10.6% เนื่องจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงในอาเซียน และ TTB จะรายงานการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งที่สุด YoY จากการรับรู้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่วน KKP จะรายงานกำไรที่อ่อนแอที่สุด QoQ และ YoY จากฐานที่สูงในปีที่แล้ว รวมถึงคาดว่า credit cost จะสูงขึ้น
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon