ทิพยประกันภัย ชวนถอดรหัสนวัตกรรม “เกษตรสองน้ำ” ชูแนวคิด เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สู่ผลสัมฤทธิ์แห่งความยั่งยืน

40

มิติหุ้น  –  ทิพยประกันภัย จัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 42 พาครูอาจารย์ นักเรียน และผู้ที่สนใจ ถอดรหัสนวัตกรรม “เกษตรสองน้ำ” ณ โครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา

โครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของการพัฒนาแบบองค์รวมตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยโครงการนี้ได้นำเสนอแนวคิดการบริหารจัดการการเกษตรบนพื้นที่ “สองน้ำ” อันหมายถึงพื้นที่ที่มีทั้งน้ำจืด และน้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชาญฉลาด นอกจากนี้ ยังมีการทำเกษตรแบบผสมผสาน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการใช้พลังงานทดแทน แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการความรู้จากหลากหลายศาสตร์เพื่อสร้างระบบที่ยั่งยืน

หนึ่งในภารกิจสำคัญของโครงการ คือการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งแบบไม่ใช้สารเคมี และไม่เติมจุลินทรีย์ลงในน้ำ เพื่อให้สัมพันธ์กับวงจรชีวิตสัตว์น้ำ และวงจรห่วงโซ่อาหาร ผ่านการบูรณาการศาสตร์แขนงต่าง ๆ เช่น นิเวศวิทยา ปฐพีวิทยา อุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นการผสมผสานศาสตร์ความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสมัยใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้ได้ผลผลิตสัตว์น้ำที่ปลอดภัย และเกษตรกรสามารถนำไปประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองได้ โดยกระบวนการเพาะเลี้ยงต่าง ๆ สามารถบำบัดตัวเองให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลได้อย่างปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การจัดการพื้นที่สองน้ำนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในระบบนิเวศท้องถิ่น แต่ยังสะท้อนถึงหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยการศึกษาและเข้าใจสภาพแวดล้อม ก่อนที่จะพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้ทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญ โครงการนี้ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การผลิตอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนในโครงการนี้ยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “โครงการนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการปรับตัว และความยืดหยุ่นในการรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการวางแผนชีวิตและอาชีพ นอกจากนี้ โครงการยังแสดงให้เห็นถึงพลังของการบูรณาการความรู้ โดยการผสมผสานความรู้จากหลายศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังได้เห็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยการใช้พื้นที่และทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

นางวิชชุดา กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการวางแผนชีวิตและอาชีพที่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวได้ ดังนั้น โครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” นี้ จึงไม่เพียงแต่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกมิติของชีวิตด้วย”

จากนั้น ทางโครงการฯ ได้นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปศึกษาประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ณ วัดปากน้ำโจ้โล้ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งในด้านการปกป้องบ้านเมืองและพระอัจฉริยภาพด้านการศึก วัดแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ตั้งของวัดมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากอยู่บริเวณที่คลองไหลมาบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งทัพของกองทัพพม่าทั้งทางบกและทางเรือ ก่อนที่จะพ่ายแพ้แก่กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยพระองค์ทรงใช้กลยุทธ์อันชาญฉลาดด้วยการโล้เรือมาตามลำน้ำ ทำให้ทหารพม่าเข้าใจผิดคิดว่าพระองค์เสด็จมาเพียงลำพัง ก่อนที่จะทรงสั่งให้ทหารซุ่มโจมตีจนได้รับชัยชนะ เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของชื่อ “โจ้โล้” ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า “เจ้าโล้” การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการศึกษาและการบริหารจัดการในองค์กรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังมีกิจกรรม Workshop และการบรรยาย โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ  “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ที่เป็นการถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชาในประเด็น “ศาสตร์พระราชากับนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด” และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” โดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย พร้อมการบรรยายเรื่อง “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และ “ถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพในหลวงรัชกาลที่ 9” พร้อมสอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030 โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจากเลขาธิการคุรุสภา ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม และคณะผู้บริหารได้เข้าร่วม และมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าร่วมอบรมอีกด้วย

สำหรับการจัดโครงการครั้งที่ 42 นี้ มีความพิเศษกว่าทุกครั้ง โดยมีแขกรับเชิญพิเศษ “ครูไอซ์” หรือ นายดำเกิง มุ่งธัญญา ครูสอนภาษาอังกฤษจากโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร ผู้พิการทางสายตาที่ไม่ยอมให้ข้อจำกัดทางร่างกายมาเป็นอุปสรรคในการทำความฝันให้เป็นจริง ครูไอซ์ได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวแห่งความมุ่งมั่น การเอาชนะอุปสรรค และแรงบันดาลใจในการเป็นครูที่ดี เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเด็กนักเรียน สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ร่วมงานทุกคน การมีส่วนร่วมของครูไอซ์ในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการเพิ่มมิติใหม่ให้กับโครงการ แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลาย และการยอมรับในวงการศึกษา ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นถึงพลังของความตั้งใจ และการอุทิศตนเพื่อวิชาชีพครู โดยไม่ยอมให้มีข้อจำกัดใด ๆ มาขัดขวาง

ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสาและการกุศลให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมทำ เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้เกิดจิตสาธารณะ และฝึกความเสียสละเพื่อส่วนรวมอีกด้วย เช่น กิจกรรมมอบหนังสือจากโครงการ “อ่านพลิกชีวิต” ของอมรินทร์กรุ๊ป พร้อมด้วยกิจกรรมมอบทุนและอุปกรณ์ทางการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้กับโรงเรียนหนองไม้แก่นวิทยา สพม.ฉะเชิงเทรา กิจกรรมปล่อยปลากะพง 2,000 ตัวคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อรักษาความสมดุล เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม กิจกรรมถวายเทียนพรรษาโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา คู่แรกประจำปี 2567 แด่พระสงฆ์เนื่องในฤดูแห่งการเข้าพรรษา ที่วัดปากน้ำโจ้โล้ พร้อมกับสวดมนต์ นั่งสมาธิ ยามค่ำ และฟังเทศนาธรรมจาก พระครูเกษม เขมจิตโต เจ้าอาวาสวัดปากน้ำโจ้โล้

สำหรับโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ในครั้งต่อไป จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี พร้อมด้วยการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสา อ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป ขอเชิญชวนครู-อาจารย์ นักเรียน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 17-18 สิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333  FB: ตามรอยพระราชา – The King’s Journey 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon