กลุ่ม SMEs อสังหาฯ เดินหน้าปรับตัว ตั้งการ์ดสู้วิกฤต วอนทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ป้องกันก่อนเกิดเหตุลุกลาม

69

มิติหุ้น  –  กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ออกแบบ โรงงานวัสดุก่อสร้าง กลุ่มผู้ประกอบการด้านการตกแต่งสถานที่และการจัดสวน ได้รวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืน ขอความเห็นใจและเรียกร้องทุกภาคส่วนร่วมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสียงถึงรัฐบาลเร่งมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถพยุงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เดินหน้าผ่านวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัวในครั้งนี้ไปได้ ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมและวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ ยืดหยุ่น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็ได้รับผลกระทบมาเป็นระยะๆ ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำของ Supply Chain ได้รับผลกระทบแบบโดมิโน จนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่รวมตัวกันในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการระดับสตาร์ตอัปที่เปิดดำเนินกิจการมาไม่ถึง 10 ปี ไปจนถึงกลุ่ม SMEs  และโรงงานที่ดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 60 ปี มีพนักงานสูงถึงระดับห้าร้อยคน ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ ระบุว่า วิกฤตที่เผชิญอยู่ในขณะนี้รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยเผชิญมา และเทียบได้กับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ถึงแม้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะมองดูผิวเผินไม่ได้รุนแรงเท่าปี 2540 นั่นเพราะว่าปี 2540 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มองเห็นความเสียหายได้ชัดเจน แต่ในวิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเริ่มชัดเจนในช่วงโควิด – 19 และในครั้งนั้นผู้ประกอบการได้ปรับตัวรอบใหญ่ไปแล้ว ทั้งการปรับโครงสร้างพนักงาน การปรับลดสวัสดิการ ลดเวลาการทำงาน การขยายฐานลูกค้าใหม่ อย่างไรก็ตามภาระเงินกู้และดอกเบี้ยธนาคารที่กู้ยืมในช่วงโควิด-19 ยังคงส่งผลให้การเงินในปัจจุบันมีความฝืดเคือง ซึ่งหลายแห่งพยายามบริหารจัดการและรับมืออย่างเต็มกำลัง แต่หากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาฯ ยังไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะส่งผลกระทบลุกลามไปสู่การปลดพนักงานก็เป็นได้ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลต่อฐาน     กำลังสำคัญของประเทศ เนื่องจากภาค SMEs ถือเป็นผู้จ้างงานที่คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของประเทศไทย

 มาตรการสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นยาแรงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบัน บรรเทาความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที ประกอบไปด้วย 7 ข้อเรียกร้อง ได้แก่   

  1. มาตรการซอฟท์โลนสำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้สามารถรับมือกับสถานการลูกหนี้การค้าค้างชำระเงินนานขึ้นได้
  2. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก รวมถึงยกเลิกมาตรการ LTV สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 และที่ 3
  3. มาตรการดึงกำลังซื้อจากกลุ่มคนทำงานที่เป็นต่างชาติ (Expat) เช่นขยายเพดานการถือครองที่ดิน เป็น 99 ปี และขยายเพดานสัดส่วนการซื้อคอนโดมิเนียมสูงขึ้นเป็น 75%
  4. มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน ด้วยการลดค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการโอนและการลดหย่อนภาษี
  5. ลดภาษีนำเข้าสำหรับภาคการผลิต เพื่อช่วยลดราคาต้นทุนการผลิต
  6. ลดค่าสาธารณูปโภคสำหรับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงลดเงินสมทบในการนำส่งประกันสังคม
  7. จัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการ เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำ

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมา รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณา มองว่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งอยากจะร้องขอภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการทำงาน สนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง เพื่อบรรเทาปัญหาที่อาจจะก่อให้เกิดวิกฤตในกลุ่มของตนในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการหลายภาคส่วนได้ทำการปลดพนักงานไปแล้วจำนวนมาก บางแห่งลดพนักงานไปมากกว่าครึ่ง

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเติบโตดี ผู้ประกอบการได้เกิดแนวคิดในการจ้างงานแนวใหม่ที่จะเติบโตได้ในขณะเดียวกันก็สามารถมีส่วนช่วยเหลือสังคมได้ เช่น ผู้ประกอบการรายหนึ่งที่มีนโยบายสร้างงานให้กับกลุ่มชาวบ้านที่เดิมยึดอาชีพทำไร่ ซึ่งกิจกรรมบางส่วนกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการ เผาป่า เผาหญ้า และการถางป่าเพิ่มพื้นที่ทำกิน แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างมากในขณะนี้ส่งผลให้ต้องลดการจ้างงานและแรงงานจำนวนมากต้องกลับภูมิลำเนาเดิม จึงมีความเสี่ยงที่แรงงานเหล่านั้นจะหันกลับไปยึดอาชีพเดิมที่ยังมีกิจกรรมทำลายสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการบางรายได้นำเงินทุนสะสมมาใช้ในการจ่ายภาระที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed cost) ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นเงินทุนสะสมก็จะหมดลงไปและนำไปสู่การปลดคนงานทั้งหมด ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศในวงกว้าง

ผู้ประกอบการที่ร่วมยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ ประกอบด้วย 

บริษัท กรีนสเปซ จำกัด (089-553-5664, info@greenspace.co.th) ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานภูมิทัศน์ตามแบบ รวมถึงบริการจัดหาต้นไม้ และยังมี Nursery ต้นไม้ ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 14  มีพนักงานภายในองค์กรประมาณ 350 ชีวิต ปัจจุบันได้รับผลกระทบในเรื่องของปริมาณที่น้อยลงอย่างงเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นโครงการหมู่บ้านแนวราบหรืองานคอนโดมิเนียมแนวสูง

บริษัท คริสตัลวิว วินโดว์แอนด์ดอร์ จำกัด (099-250-7888, ekkapol@crystalview.co.th) ประกอบธุรกิจผลิตและติดตั้งประตูหน้าต่างอลูมิเนียมให้กับโครงการบ้านพักอาศัย คอนโด อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล เป็นต้น เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 30 ปี มีพนักงานภายในองค์กรประมาณ 180 คน ปัจจุบันการเงินของบริษัทมีความฝืดเคือง เนื่องจากภาระเงินกู้และดอกเบี้ยธนาคารที่กู้ยืมในช่วงโควิด-19

บริษัท จินดาโชติ จำกัด (097-064-7809, jindachokconstruction@gmail.com) ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ปัจจุบันดำเนินกิจการเข้าสู่
ปีที่ 5 มีพนักงานภายในองค์กร 100 คน ตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากสภาวะงานก่อสร้างชะลอตัว ทำให้พนักงานภายในบริษัท ขาดสภาพคล่องในการดำเนินชีวิต ส่งผลกระทบทั้งบริษัทและพนักงานทุกครัวเรือน

บริษัท ไทย สแทร์ จำกัด (081-822-5465, pawuth.l@thaistair.com) ประกอบธุรกิจงานเหล็กบันได ดำเนินงานมากว่า 20 ปี มีพนักงานภายในองค์กรมากกว่า 200 คน ได้รับผลกระทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นแผนงานชะลอในทุก Developer ทำให้ประมาณการ Forecast และรายรับลดลง

บริษัท ใบหญ้า สตูดิโอ จำกัด (087-706-2244, santiraht_s@yahoo.co.th) ประกอบธุรกิจผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัย , คอนโดมิเนียม,โรงงาน,สำนักงาน,โรงแรม,งานออกแบบตกแต่งภายใน และทำภาพ PERSPECTIVE งานขายบ้างในบางโครงการ ปัจจุบันดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 5 มีพนักงานภายในองค์กรทั้งหมด 22 คน ได้รับผลกระทบในส่วนของปริมาณงานออกแบบทั่วไปและจาก Developer ลดลงโดยประมาณ 20%

บริษัท ฟายด์ เวอร์ค จำกัด (081-467-0170, info@fwg.co.th) ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนพรีคาส โรงงานประกอบประตูรั้วงานเหล็ก และงานอลูมิเนียม ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 32 มีพนักงานภายในองค์กรประมาณ 470 คน ปัจจุบันบริษัทยอมลดสัดส่วนกำไรเพื่อให้ได้มีปริมาณงานเข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กร เป็นการรักษาสถานะบริษัทให้คงอยู่และให้ทุกคนในบริษัทยังมีงานทำ

บริษัท เฟรมเทค วินโดว์ แอนด์ ดอร์ จำกัด  (081-499-2771, kumpon@frametekwindow.com) ประกอบธุรกิจอลูมิเนียมโรงงานประกอบและติดตั้งงานประตู หน้าต่างอลูมิเนียม พร้อมกระจก งานบ้านและงานอาคารสูง ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 20 มีพนักงานภายในองค์กร 500 คน ปัจจุบันยอดขายบริษัทตกลงอย่างต่อเนื่อง และลูกค้าค้างชำระหนี้การค้ายาวนานเสี่ยงหนี้สูญ ต้องกู้เงินหมุนเวียนเป็นจำนวนมากเพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอ

บริษัท สยามแกรนด์ อลูมิเนียม จำกัด (091-816-7887, porxam@yahoo.com) ประกอบธุรกิจอลูมิเนียม โรงงานผลิตและติดตั้งประตู-หน้าต่างอลูมิเนียม ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 17 มีพนักงานภายในองค์กรประมาณ 215 คน เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีการชะลอตัวอย่างมาก จนส่งผลกระทบให้บริษัทไม่มีการเรียกสินค้าเข้าโครงการต่าง ๆ (ไม่มียอดรายการในการผลิตงาน) ไปจนถึงรายการที่ผลิตแล้วเลื่อนส่งสินค้าแบบไม่มีกำหนด

บริษัท เอส.เอช.แอล.พาราวู้ด จำกัด  (081-432-6666, 081-614-6688) ประกอบธุรกิจ SME ผลิตพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ผลิตวัสดุปูพื้น ไม้บันได ไม้ยางพาราแปรรูป ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 60 มีพนักงานทั้งสิ้น 300 คน ปัจจุบันทางบริษัทเห็นว่ากำลังซื้ออ่อนตัวลง หนี้ครัวเรืองสูง อสังหาริมทรัพย์ขายออกยาก ธนาคารปล่อยสินเชื่อยาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ทั้งหมดอย่างแน่นอน

 บริษัท เอ็ม.เอ็ม. เค คอมเมอร์เชียล จำกัด (081-906-6245, mmkcompany.info@gmail.com) ประกอบธุรกิจพื้นไม้ลามิเนต พื้นสำหรับภายในอาคาร อาทิเช่น พื้นไม้ลามิเนต พื้น SPC พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ พื้นนวัตกรรมใหม่ ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 24 มีพนักงานทั้งสิ้น 58 ชีวิต ปัจจุบันบริษัทพบว่าทั้งลูกค้าใหม่และเก่า ชะลอตัวและหยุดนิ่งในการสั่งซื้อสินค้าจากทางบริษัท ทำให้เกิดผลกระทบในด้านการเงินเพื่อประคับประคองทั้งธุรกิจและพนักงาน

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon