ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน : กองทุนรวมที่มีเป็นพัน ๆ นั้นต่างกันอย่างไร ?

13

มิติหุ้น – ทุกวันนี้ในตลาดทุน เราจะเห็นกองทุนรวมเสนอขายอยู่จำนวนมาก โดยข้อมูลในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เราก็จะพบว่า มีกองทุนรวมที่เสนอขายให้ประชาชนจำนวน 3,081 กองทุน เยอะจนตาลายขนาดนี้ เราคงจะเลือกไม่ถูกว่าเราควรลงทุนในกองทุนรวมไหนดี และกองทุนแต่ละกองทุนนั้นมีข้อดีหรือข้อจำกัดอย่างไร บทความนี้
เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับประเภทกองทุนรวมที่มีอยู่ในตลาด พร้อมทำความเข้าใจโอกาสและความเสี่ยงการลงทุนในกองทุนรวมแต่ละประเภทกัน

กองทุนรวมแบ่งประเภทอย่างไร

กองทุนรวมที่เสนอขายในประเทศไทย มีการแบ่งตามระดับความเสี่ยงกองทุนรวม เป็น 8 ระดับ ตามประเภททรัพย์สินที่กองทุนรวมเน้นลงทุน ซึ่งนำมาใช้ประเมินร่วมกับการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน (Risk Profile) ที่มี 5 กลุ่ม เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนรวมที่เหมาะกับ Risk Profile หรือเป้าหมายการเงินของตัวเองได้

ประเภทกองทุนรวมที่แบ่งตามระดับความเสี่ยง 8 ระดับและ Risk Profile ของผู้ลงทุน

ภาพข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงของกองทุนรวมแตกต่างกันไปตามประเภททรัพย์สินหลักที่กองทุน
ไปลงทุน
มีตั้งแต่เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น ทองคำ น้ำมัน โดยเราควรเลือกลงทุนในทรัพย์สินที่มีระดับความเสี่ยง และระดับผลตอบแทนคาดหวังที่เหมาะกับเรา เช่น หากรับความเสี่ยงได้สูง และต้องการผลตอบแทนคาดหวังสูง ควรลงทุนกองทุนรวมตราสารทุน หรือกองทุนหุ้น (ความเสี่ยงระดับ 6) เนื่องจากเน้นลงทุนในหุ้นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV[1]) หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ –
ปานกลาง ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนที่สูง มีโอกาสสูญเสียเงินลงทุนน้อย เหมาะกับกองทุนตลาดเงิน
หรือกองทุนตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนตราสารหนี้กลุ่ม investment grade  อย่างไรก็ดี คนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ
ก็สามารถลงทุนในกองทุนหุ้นได้บ้าง เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในพอร์ตลงทุน โดยวิธีกระจายการลงทุน (asset allocation) ซึ่งจะพูดถึงในบทความตอนถัด ๆ ไป

กองทุนเปิดและกองทุนปิด

กองทุนปิด คือกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนเพียงครั้งเดียวและกำหนดอายุของกองทุนรวมเอาไว้ เช่น อายุ 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น เมื่อผู้ลงทุนซื้อกองทุนปิด จะต้องรอจนกว่าจะครบอายุของกองทุนรวม จึงจะสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนคืนได้ ยกเว้นแต่กองทุนปิดบางกองทุน เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่มีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะสามารถขายคืนได้ก่อนครบกำหนด

ส่วนกองทุนเปิด คือ กองทุนรวมที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อ-ขายหน่วยลงทุนได้ตามช่วงเวลาที่ บลจ. กำหนด
เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ เป็นต้น และไม่มีกำหนดอายุสิ้นสุดไว้ จึงเป็นกองทุนรวมที่ค่อนข้างคล่องตัวหรือมี
สภาพคล่อง เพราะผู้ลงทุนสามารถเข้ามาซื้อขายได้ในเวลาที่ต้องการ

นอกจากนี้ เราอาจแบ่งกองทุนรวมตามลักษณะพิเศษได้อีกด้วย เช่น

  • กองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ได้แก่ SSF RMF หรือ Thai ESG
  • กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) เช่น กองทุนรวม SRI Fund ซึ่งมีกระบวนการวิเคราะห์และเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้แน่ใจว่ามีการลงทุนในกิจการที่คำนึงถึง ESG อย่างแท้จริง หรือกองทุน Thai ESG ซึ่งเป็นกองทุนที่สนับสนุนการออมระยะยาวที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของบริษัทไทยที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ซึ่งกองทุนนี้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
  • กองทุนรวมที่เน้นลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่างประเทศ คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งในกรณีนี้ จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงของประเทศที่จะไปลงทุนด้วย

กองทุนรวมตราสารหนี้ ทำไมมีความเสี่ยงถึง 3 ระดับ

ถ้าสังเกตจากภาพ จะเห็นว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ มีความเสี่ยงตั้งแต่ระดับ 4 จนถึงระดับ 6 เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น มาทำความรู้จักกับตราสารหนี้กันก่อนว่า ตราสารหนี้มีหลายระดับความเสี่ยงขึ้นอยู่กับความสามารถ
ในการชำระหนี้ของผู้ออก โดยดูจากเครดิตเรตติ้ง (Credit rating[2]) ซึ่งโอกาสได้รับผลตอบแทนจะสัมพันธ์
กับเครดิตเรตติ้งด้วย ดังนั้น การที่กองทุนรวมตราสารหนี้มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ก็เพราะกองทุนรวมนั้นมีส่วนผสมของตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงระดับต่ำกว่าที่ลงทุนได้ (non-investment grade) และตราสารหนี้
ที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated) มากน้อยต่างกันไป ดูสัดส่วนได้จากรูปด้านล่างนี้

เข้าใจความเสี่ยงของกองทุนรวมประเภททรัพย์สินทางเลือก

อีกประเภทกองทุนรวมที่น่ารู้จัก คือ กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก ที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก เช่น อสังหาริมทรัพย์ น้ำมัน ทองคำ ที่มีระดับความเสี่ยงสูงถึงระดับ 8 โดยเฉพาะทองคำ ที่เราเคยได้ยินว่า ทองคำเป็นทรัพย์สินปลอดภัย หรือ Safe haven

เหตุผลที่กองทุนรวมนี้มีความเสี่ยงสูงอยู่ที่ระดับ 8 ก็เพราะมีการลงทุนกระจุกอยู่ในทรัพย์สินที่มีลักษณะเฉพาะตัวและซับซ้อน ในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของ NAV ขึ้นไป ซึ่งผู้ลงทุนควรมีความรู้ความเข้าใจในทรัพย์สินนั้นก่อนลงทุน เนื่องจากมีการลงทุนในทรัพย์สินประเภทเดียวเป็นหลัก เหมือนกับการที่เราใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว หากตะกร้าตกไข่ก็จะแตกทั้งหมด  ดังนั้น ใครที่สนใจลงทุนกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก จะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงได้ในระดับที่สูงมาก และทางที่ดีควรกระจายการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่น หรือทรัพย์สินอื่น ๆ อย่างเหมาะสมด้วย เพื่อบริหารความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมที่แบ่งตามกลุ่มประเภทผู้ลงทุนด้วย ซึ่งบางกองเน้นขายผู้ลงทุนรายใหญ่ (affluent investors: AI) และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ultra high net worth investors: UI) เนื่องจากกองทุนรวมประเภทนี้อาจลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงมาก หรือมีความซับซ้อนต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ หรือกำหนดมูลค่าขายครั้งแรกในวงเงินสูง ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ลงทุนทั่วไป โดยสังเกตเบื้องต้นง่าย ๆ
ที่ชื่อกองทุนรวม หากเป็นกองทุนรวมแบบพิเศษนี้ จะมีตัว AI หรือ UI อยู่ในชื่อกองทุน และมีกำกับไว้ชัดเจนว่า “ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย”

ความเสี่ยงและผลตอบแทนของกองทุนรวมมีความหลากหลาย

จะเห็นได้ว่า กองทุนรวมมีหลากหลายระดับความเสี่ยงขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่กองทุนรวมไปลงทุน ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับแตกต่างกันด้วย ทั้งยังเป็นข้อดีที่ช่วยให้เราเลือกกองทุนที่เหมาะกับตัวเราและเป้าหมายการลงทุนได้มากขึ้น

กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูง ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย ตามหลักของ High Risk, High Expected Return แต่การตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม มีปัจจัยที่ต้องพิจารณามากกว่าตัวเลขผลตอบแทน เช่น การยอมรับความเสี่ยง รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากกองทุน เช่น management fee ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จะนำไปหักจากผลตอบแทนที่เราจะได้รับ จึงต้องพิจารณาในส่วนนี้ด้วย

ตอนนี้หลายคนคงจะเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า กองทุนรวมที่มีเป็นพัน ๆ นั้นแตกต่างกันอย่างไร และคงมีแนวทางในการเลือกกองทุนที่เหมาะกับตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยเราสามารถศึกษาข้อมูลและนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมได้จากหนังสือชี้ชวนกองทุน หรือ fund fact sheet ที่จะเห็นถึงทรัพย์สินที่กองทุนไปลงทุน ระดับความเสี่ยง รวมไปถึงข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เช่น ลักษณะเฉพาะ หรือกลยุทธ์การลงทุน ของกองทุนรวมนั้นด้วย

แล้วถ้าต้องเลือกลงทุนกองทุนรวมสักหนึ่งกอง จะต้องดูอะไรและเลือกกองไหนดี ในตอนหน้าจะมาเล่าแนวทางการเลือกกองทุนรวมให้เหมาะสมกับตัวเองกัน โปรดติดตาม

[1] NAV (Net Asset Value) คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ คือ มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวม คำนวณจาก มูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด + รายได้ค้างรับ + เงินสด – หนี้สิน และผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนรวม เช่น กำไรส่วนต่าง (capital gain) เงินปันผล หรือจากการขายทรัพย์สิน จะถูกนำไปคำนวณรวมเป็นส่วนหนึ่งของ NAV ด้วย

[2] อ่านเพิ่มเติมเรื่องตราสารหนี้และเครดิตเรตติ้ง คลิก SmartToInvest Debenture

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon