มิติหุ้น – งานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปี 2567 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 ณ ห้องแกรนด์ออดิทอเรียม อาคารกิติยาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วง Exclusive Talk ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ “สังคม เศรษฐกิจ การเมือง : สามมุมมองต่อการพัฒนาเยาวชนสู่สังคมโลก” โดยเชิญ 3 วิทยากร มาให้มุมมอง ความคิด แก่นักศึกษาใน ประเด็นทางสังคม โดย คุณแสงเดือน ชัยเลิศ, ประเด็นทางเศรษฐกิจ โดย คุณเสถียร เสถียรธรรมะ และประเด็นทางการเมือง โดย คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
“คุณเสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กลุ่มคาราบาว” ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ พร้อมย้อนความหลังเมื่อ 50 ปีก่อน เมื่อปี 2518 ที่เขาได้สัมผัสบรรยากาศวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น คือ ท่านอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ขึ้นกล่าวต้อนรับทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาวธรรมศาสตร์
“สำหรับผม อาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไม่ได้เป็นเพียงแต่อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ท่านยังเป็นแบบอย่างของคนดี คนเก่ง คนกล้าที่มีชื่อเสียงคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน ครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสยืนข้างเวที และช่วงเวลาพัก ท่านได้เดินมาทักทายพวกเรา ผมตื่นเต้นดีใจอย่างมากที่ได้พบท่าน ยังจำความรู้สึกนั้นได้มาจนถึงปัจจุบัน”
ถึงวันนี้ “เสถียร” ในวัย 70 ปี ในฐานะผู้ก่อตั้งและเจ้าของ “คาราบาวกรุ๊ป” ซึ่งมียอดขายรวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท ย้อนไปเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว “เสถียร” เข้าเป็นนักศึกษาใหม่ธรรมศาสตร์ ตอนอายุ 21 ปี ซึ่งมากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้ผ่านการเรียนในระดับมัธยมศึกษาจากที่ไหนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย แต่จบการศึกษาแค่ ป. 4 ต้องออกไปทำงานตั้งแต่อายุ 11 ปี ได้รับเงินเดือนครั้งแรก 50 บาท
ด้วยความเป็นคนใฝ่เรียน ใฝ่เรียนรู้ เขาพยายามเก็บเงินมาได้เรื่อยๆ จนอายุ 18 ปี จึงไปเรียนกวดวิชาเพื่อจะสอบเทียบ 6 เดือนต่อมาสามารถสอบเทียบได้ ป. 7 และอีก 6 เดือนต่อมา สอบเทียบ มศ.3 หลังจากนั้นอีก 8 เดือน จึงสอบเทียบได้ มศ.5 และได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2518
นอกจากอายุที่มากกว่าคนอื่นๆ แล้ว “เสถียร” ระบุว่า หากเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางด้านอื่นๆ เขาถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าเพื่อนส่วนใหญ่ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เขาท้อถอย ตรงกันข้ามกลับทำให้เขามุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาในการก้าวไปสู่ความสำเร็จได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ “เสถียร” ตัดสินใจหลบหนีภัยเผด็จการเข้าไปอยู่ในป่า พร้อมกับเพื่อนนักศึกษา โดยไปเป็นทหารป่าอยู่ 4 ปีกว่า ก่อนจะกลับออกมาด้วยวัย 24 ปี
“ตอนนั้นผมออกจากป่าด้วยความรู้สึกว่าเป็นคนที่พ่ายศึก แพ้สงคราม สิ่งนี้กัดกร่อนจิตใจของผมไป 3 ปี ที่สำคัญชีวิตผมที่ช้าอยู่แล้วยิ่งช้าลงไปอีก เพราะว่าเพื่อนที่รุ่นเดียวกันหลายคนเรียนดีได้ขึ้นมาเป็นอาจารย์ที่ ม. ธรรมศาสตร์ อีกหลายคนสอบได้เป็นอัยการ บางคนไปสอบผู้พิพากษา”
แต่ด้วยความเป็นนักสู้ และมานะพยายามของเขา “เสถียร” ได้กลับเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้งใน 2 ปีต่อมา ด้วยวัยเกือบ 30 ปี แต่ที่สุดก็ต้องละทิ้งความมุ่งมั่นแต่แรกที่จะเรียนให้จบมหาวิทยาลัย
“ครั้งนั้น ผมต้องปล่อยมันไปทั้งๆ เป็นสิ่งที่ผมมุ่งมั่นมาตลอดชีวิตตั้งแต่เด็ก การตัดสินใจที่จะไม่กลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกเลยนั้น ผมถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในชีวิตของผม เพราะในยุคสมัย 50 -60 ปีก่อน สิ่งที่จะช่วยเปลี่ยนสถานะของผู้คนในสังคมที่เกิดมายากจน มีแต่การศึกษาเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ได้เป็นบัณฑิต เป็นปัญญาชน”
ครั้งนั้น เมื่อตัดสินใจไม่เรียนต่อ “เสถียร” ได้เริ่มต้นทำธุรกิจเปิดร้านโชห่วย ด้วยเงินทุน 12,000 บาท จากการช่วยเหลือของพี่น้องของเขาเอง จนขยับมาเป็น “โรงงานทำตะปู” โดยหุ้นกับเพื่อนๆ และมีโอกาสทำธุรกิจอีกหลายอย่างตลอดเส้นทางเหล่านั้น เขาชิ้ว่า “ต้องล้มลุกคลุกคลาน” เคยไม่มีแม้แต่เงินขึ้นรถเมล์ และเคยเดินตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงซอยแบริ่งที่สมุทรปราการ
“ตอนนั้นผมหาเงินเข้าเช็คไม่ทัน เช็คเด้งเป็นเรื่องปกติ ความรู้สึกท้อต่อโชคชะตาตนเองเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่สุดท้ายผมก็ค่อยๆ ลุกยืนขึ้นมาได้ ชีวิตผมช้ากว่าคนอื่น อายุ 36 เพิ่งจะเคยนั่งเครื่องบินครั้งแรก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้คนรู้จักผมว่าทำธุรกิจประสบความสำเร็จ ต่อเมื่ออายุผมมากกว่า 60 ปีแล้ว”
เจ้าพ่อ “คาราบาวกรุ๊ป” ย้ำว่า เมื่อมองผ่านชีวิตของเขา นักศึกษาใหม่ที่เข้ามาสู่รั้วธรรมศาสตร์ ต่างก็มีความแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่อายุ เพศ ที่สำคัญสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หลายคนอาจจะเป็นลูกเศรษฐี ขณะที่อีกหลายคนมีพ่อแม่เป็นชาวไร่ ชาวนา หรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ไม่ควรทำให้ใครต้องท้อแท้
“ผมอยากบอกว่า ไม่ว่าฐานะครอบครัวของคุณจะเป็นอย่างไร เมื่อคุณมีความมานะพยายามจนสอบเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ได้ ทุกคนอยู่ในจุดที่เท่ากัน”
“ความเท่ากัน” ในที่นี้หมายถึง จุดที่เท่ากันในการแสวงหาความสำเร็จในชีวิต
เพราะเขาเชื่อว่า ไม่ว่าประเทศชาติบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะทำลายโอกาสของพวกเรา ที่จะสร้างฐานะให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งการที่จะอุทิศตนเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ขอแต่ให้มีความมุ่งมั่น โอกาสมีอยู่เสมอ โอกาสจะซ่อนอยู่หลังเป้าหมาย ดังนั้นจงตั้งเป้าหมายและไปหามัน แต่ถ้ายังหาโอกาสไม่เจอ ก็ต้องสร้างมันขึ้นมา เพราะโอกาสเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ และสามารถสร้างขึ้นมาได้ตลอดชีวิต ถ้าเรามุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต
“ผมอยากให้ทุกคนจำไว้ว่า เราจะต้องมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือคัมภีร์ที่สำคัญที่จะพัฒนาตัวเราเอง เพื่อจะนำพาชีวิตของเราไปสู่ความสำเร็จในทุกๆ ด้าน ขอแต่มุ่งมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิต” ผู้ก่อตั้ง “คาราบาวกรุ๊ป” ย้ำว่า สิ่งสำคัญสำหรับทุกคนคือ การได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย มีคณาจารย์ที่เก่งๆ มีความรู้ความสามารถในแทบทุกด้าน เป็นโอกาสที่นักศึกษาทุกคนจะได้เรียนรู้ว่า โลกที่อยู่ทุกวันนี้มีมหาอำนาจมาทุกยุคทุกสมัย คำถามอยู่ที่ว่าเราจะอยู่กับมหาอำนาจอย่างไร“นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่าทำไมธุรกิจใหญ่ๆ ที่สำคัญๆ ของประเทศไทย จึงถูกผูกขาด ควบคุม โดยผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย และจะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากที่นี่ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ โอกาสที่ทุกคนจะได้สร้างมิตรภาพของชาวธรรมศาสตร์ให้เกิดขึ้นมา ซึ่งมิตรภาพนี้จะผูกพันชีวิตเราไปตลอดชีวิต เหมือนกับที่เมื่อเป็นชาวธรรมศาสตร์แล้ว อุดมการณ์ธรรมศาสตร์จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต “ไม่ว่าต้นทุนชีวิตของคุณจะเป็นมาอย่างไร จะเคยล้มสักกี่ครั้ง คุณก็สามารถที่จะกลับมาได้ ขอแต่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น” เสถียร กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon