ยูโอบี สนับสนุนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

20

มิติหุ้น  –  คาดการณ์ว่าคลื่นความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อนและน้ำท่วมฉับพลันในช่วงฤดูมรสุมจะกลายเป็น “ความปกติใหม่” ที่ประเทศไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ผลักดันให้ผู้บริหารประเทศ หน่วยงานที่กำกับดูแลต่างๆ ตลอดจนภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปต้องเริ่มดำเนินมาตรการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ความท้าทายสำหรับประเทศไทย

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.1 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 12.9 ในปี 2565 ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ กล่าวคือ ประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่แต่กลับกำลังเผชิญกับโครงสร้างประชากรสูงวัยที่พบได้ทั่วไปในประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

องค์การอนามัยโลกระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อประชากรสูงวัยมากกว่าประชากรในกลุ่มอายุอื่นๆ และผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเป็นกลุ่มที่จะประสบกับความยากลำบากมากที่สุดเมื่อเผชิญกับความผันผวนของอุณหภูมิ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดน้ำและโรคลมแดด นอกจากนี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมยังมีความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากน้ำอีกด้วย

สถานการณ์เหล่านี้จะเพิ่มแรงกดดันต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ให้มากขึ้น โดยสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเนื่องจากการหดตัวของประชากรวัยทำงาน

นอกจากนี้ แม้ว่าระดับรายได้โดยรวมของประเทศไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ประชากรมากกว่าร้อยละ 6 ยังคงอยู่ใต้เส้นความยากจนของประเทศ โดยมีรายได้ต่ำกว่า 2,803 บาทต่อเดือน ประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสในการเลื่อนชั้นรายได้จำกัด

คาดว่ากลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดคือคนจนในชนบท ซึ่งภัยพิบัติเหล่านี้จะทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้นในอนาคต คลื่นความร้อนที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดมาจากพื้นที่ชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและทำให้เกิดความสูญเสียคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพี โดยส่วนใหญ่เกิดจากการหยุดการผลิตในโรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม

ภาคการเกษตรซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 9 ของจีดีพีของประเทศและจ้างงานราวร้อยละ 30 ของประชากร อาจได้รับความเสียหายจากไฟป่า คุณภาพอากาศที่แย่ลง และปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิตของพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวและน้ำตาล กลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรรายย่อยที่มีสิทธิประโยชน์ประกันสังคมจำกัด

ในปัจจุบัน เมืองใหญ่ๆ ต่างกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียที่ได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปยังนูซันตารา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนปัญหาดินทรุดตัวจากระดับน้ำบาดาลที่ลดต่ำลงและการยุบตัวของชั้นดิน กรุงเทพมหานครก็อาจเผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากรัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาย้ายเมืองหลวงไปยังพื้นที่อื่นที่ตั้งอยู่สูงขึ้น

ความท้าทายด้านประชากรที่มีลักษณะไม่เหมือนใครของประเทศไทย รวมถึงผลกระทบที่ไม่สัมพันธ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องวางกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจในประเทศยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

ยูโอบีมุ่งมั่นสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2565 ยูโอบีได้ประกาศคำมั่นเพื่อเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการให้สินเชื่อของธนาคาร โดยยึดมั่นในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียวและการปรับปรุงการเข้าถึงพลังงานในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้

ในประเทศไทย ยูโอบีได้ดำเนินการส่งเสริมการนำโซลูชันที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำมาใช้ในทุกๆ ภาคส่วนของห่วงโซ่มูลค่า โดยให้สินเชื่อกับระบบนิเวศอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์สภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ธนาคารจึงกำหนดให้ภาคพลังงานและการขนส่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักในการให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน โดยเมื่อรวมกันแล้ว ทั้งสองกลุ่มอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 70 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ประกาศเป้าหมายที่ท้าทายในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนจากพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608

เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการนำพลังงานทดแทนมาใช้ ธนาคารยูโอบีจึงได้เปิดตัวโครงการยู-โซลาร์ (U-Solar) เพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแสงอาทิตย์เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับผู้พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ผู้ให้บริการด้านวิศวกรรม จัดหา และก่อสร้าง และผู้จัดหาอุปกรณ์ชั้นนำเพื่อนำเสนอโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ให้ถึงมือผู้บริโภค

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานในที่พักอาศัย ร้านค้าพาณิชย์ และอุตสาหกรรม สามารถขอรับโซลูชันสินเชื่อเพื่อติดตั้งและบำรุงรักษาแผงโซลาร์ได้เช่นกัน ดังนั้น โครงการนี้ช่วยให้ทุกคนยังคงเข้าถึงพลังงานได้อย่างยั่งยืนได้มากขึ้น

ในทำนองเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับคำมั่นของรัฐบาลในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของประเทศในปี 2573 ธนาคารจึงได้เปิดตัวโครงการยู-ไดรฟ์ (U-Drive) เพื่อให้บริการสินเชื่อแก่ตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า ผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ผู้ประกอบการและผู้ติดตั้งสถานีชาร์จ และผู้บริโภคโครงการนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมการพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และช่วยสร้างงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมคาร์บอนต่ำ

ร่วมสร้างอนาคต ความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นเรื่องที่ชัดเจน และเราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ ระบบพลังงานจำเป็นต้องลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ภาคธุรกิจต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเราแต่ละคนต้องตัดสินใจในการใช้ชีวิต ทำงาน และใช้เวลาว่างโดยคำนึงถึงฟุ๊ตพรินท์ทางสิ่งแวดล้อมของเรา ประเทศไทยต้องจัดการกับพันธะทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชน โดยให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตและมั่นใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย มุ่งมั่นมีส่วนร่วมเพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ซึ่งเราพึงคำนึงเสมอว่าปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศจะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจและรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างราบรื่นธนาคารยูโอบีพร้อมให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด หรือการเร่งการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon