ทรู คอร์ปอเรชั่น เร่งเครื่องพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยครั้งใหญ่ที่สุดในไทยเสร็จกว่า 42%

38

มิติหุ้น – นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเร่งพัฒนาการให้บริการด้วยแนวคิด “จัดเต็ม” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ความเร็วที่มากขึ้น หรือการเข้าถึงการใช้ดาต้าได้มากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง จากการคาดการณ์ว่าในเอเชียจะมีการใช้งานดาต้ามือถือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2573 ยิ่งต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของเครือข่ายและพัฒนาสู่ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับความท้าทายที่เกิดจากการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้อย่างรวดเร็ว

ประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย โดยเป็นผู้ให้บริการที่มีผู้ใช้งานมากสุดในประเทศ ทำให้เข้าใจในมิติของปรากฏการณ์และการรักษาสมดุลการพัฒนาเครือข่ายและความต้องการใช้งานมือถือเป็นอย่างดี อีกทั้ง จากประสบการณ์อันยาวนานในวงการโทรคมนาคม เมื่อครั้งอยู่ที่ดีแทคเขาได้รับประสบการณ์ที่ท้าทาย สู่ภารกิจสำคัญในการเริ่มต้นวางเครือข่ายในเมียนมาตั้งแต่ก้าวแรกกับเทเลนอร์ โดยในวันนี้เขากำลังทุ่มเทกับภารกิจอันยิ่งใหญ่และท้าทายอีกรูปแบบ ด้วยการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายของทรู คอร์ปอเรชั่นให้ทันสมัยหลังจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลุยขับเคลื่อนการใช้งานดิจิทัลเชื่อมต่อเพื่อทุกคน 

“การทำงานในเมียนมาสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอย่างมาก ผมได้เห็นพลังของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตผู้คนผ่านเทคโนโลยีโทรคมนาคมด้วยตาตัวเอง มันสร้างโอกาสใหม่ๆ มากมายให้กับคนในชุมชน สร้างธุรกิจขนาดเล็ก ทุกพื้นที่แม้อยู่ห่างไกลในชนบท การเชื่อมต่อผ่านมือถือพลิกเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้จริงๆ” ประเทศ กล่าว

ทุกวันนี้ ประเทศในฐานะ CTO ทรู คอร์ป ยังคงมุ่งมั่นที่จะลุยไปข้างหน้านำความล้ำสมัยของดิจิทัลไปสู่ทุกคนในประเทศไทย แต่เขาต้องเผชิญกับความท้าทายบทใหม่ที่แตกต่างออกไป ทรูและดีแทคกำลังรวมโครงข่ายที่มีสถานีฐานหลายหมื่นแห่งที่ครอบคลุมทั่วไทยเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับให้บริการประชาชนมากกว่า 50 ล้านเลขหมาย นอกจากนี้ คนไทยยังเป็นหนึ่งในผู้ใช้ข้อมูลที่มากสุดในโลก โดยใช้งานเฉลี่ยราว 30 GBต่อคนต่อเดือน (ข้อมูลไตรมาส 2/2567)

“นี่เป็นการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอยู่ในระดับต้นๆ ของเอเชีย” ประเทศ เล่าเพิ่มเติม “เราวางแผนที่จะพัฒนาเสาสัญญาณหลายพันแห่ง โดยทำงานร่วมกับทีมขายในพื้นที่ซึ่งรู้จักชุมชนที่พวกเขาให้บริการเป็นอย่างดี”

ในการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2567 ทรู คอร์ปอเรชั่นระบุว่า ได้ดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยเสร็จสมบูรณ์แล้ว 7,100 แห่ง หรือ 42% ของเป้าหมายทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ประเทศยอมรับว่าโครงการนี้เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา

“แม้จะมีการทดสอบอย่างหนักและจัดทำโครงการนำร่องในสถานการณ์จริงเพื่อให้มั่นใจว่าการติดตั้งจะราบรื่น แต่การพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยทั่วประเทศก็ยังคงท้าทายกว่าที่คิดมาก ทีมวิศวกรภาคสนามจำนวนมากต้องได้รับการฝึกอบรมใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาปฏิบัติตามมาตรฐานที่เข้มงวดของทรู” ประเทศ กล่าว “สิ่งสำคัญที่สุดคือประสบการณ์ของลูกค้า ที่เป็นเป้าหมายหลักของเรา”

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการปล่อยคาร์บอน

นอกเหนือจากประสิทธิภาพของเครือข่าย ประเทศกำลังมองไปยังอนาคตที่ AI จะมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านประสบการณ์ผู้ใช้และความยั่งยืน

“ทรู คอร์ปอเรชั่นตั้งเป้าหมายที่ท้าทายในความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2573 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593” เขากล่าว “AI เป็นกุญแจสำคัญในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของเรา เราใช้ AI วิเคราะห์รูปแบบและกลยุทธ์การใช้งานและปิดอุปกรณ์ในช่วงที่มีการใช้งานต่ำ ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 15%”

นอกจาก AI แล้ว ทรูยังใช้ประโยชน์จากการปรับปรุงเครือข่ายเพื่อเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น และเพิ่มจำนวนสถานีฐานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีสถานีฐานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 10,490 แห่ง จากนี้ต่อไปเขาคาดการณ์อย่างมั่นใจว่า AI จะยิ่งเป็นปัจจัยหลักที่นำมาใช้ทั้งในแง่การปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าและการแก้ไขปัญหาต่างๆ

“ด้วย AI เราจะสามารถตรวจจับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในเครือข่ายได้ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อลูกค้า นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเครือข่าย ‘self-healing’ หรือ ‘self-optimizing’ AI ยังช่วยปรับปรุงประสบการณ์การบริการลูกค้าอย่างมาก เนื่องจากพนักงานบริการจะยิ่งสามารถใช้ AI co-pilots มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือลูกค้าได้เร็วขึ้นและแม่นยำมากขึ้น” ประเทศ กล่าว

การเปลี่ยนแปลงบุคลากรสู่ยุค AI 

ความมุ่งมั่นของทรู คอร์ปอเรชั่นในการใช้ AI ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย บริษัทวางแผนที่จะมี “พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizens)” 5,000 คนภายในปี 2568 รวมถึงผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้าน AI และ วิทยาการข้อมูล (Data Science) จำนวน 1,000 คน และเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี (Center of Technology Excellence) เพื่อทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับโลกที่มีความสามารถด้าน AI ขั้นสูง

“เราให้ความสำคัญกับการนำ AI มาใช้งานแต่ต้องควบคู่กับความปลอดภัย” ประเทศ กล่าว “เราเริ่มโครงการนำร่องการใช้ AI co-pilots ที่เราสามารถบริหารจัดการดาต้า และผลลัพธ์จาก AI ทั้งหมดจะได้รับการตรวจสอบโดยมนุษย์ก่อนนำไปใช้งานจริง”

ประเทศมองว่า AI จะมาพลิกโฉมรูปแบบคนทำงาน โดยงานบางอย่างอาจล้าสมัย ในขณะที่งานอื่นๆ ต้องการชุดทักษะใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานคือการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“สิ่งที่คุณเรียนในโรงเรียนอาจไม่เกี่ยวข้องเมื่อคุณได้งานทำ” เขาให้คำแนะนำ “แต่ด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คุณจะประสบความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตาม AI ยังคงต้องการมนุษย์ในการสร้าง ฝึกฝน และดำเนินการ . . . อย่างน้อยก็ในขณะนี้”

การรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัยกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่เขาให้ความสำคัญอยู่เสมอ ในขณะที่ทรู คอร์ปอเรชั่นกำลังนำศักยภาพพลังของ AI มาใช้และเผชิญกับความท้าทายด้านความยั่งยืน ความเป็นผู้นำของเขาในฐานะหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตที่ทุกคนยังคงเชื่อมต่อกัน  ไปพร้อมๆ กับการดูแลรักษาโลก

บางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นอกเวลางาน ประเทศ CTO ทรู คอร์ป ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลในชีวิตครอบครัว โดยแบ่งเวลาระหว่างการช่วยเหลือลูกๆ ทำการบ้าน และการใช้เวลาร่วมกันทำกิจกรรมกลางแจ้ง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการใกล้ชิดธรรมชาติได้อย่างลงตัว อันเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่มีความหมายในโลกปัจจุบัน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon