เปิดประสบการณ์การลงทุน โดย “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ กบข. ในฐานะนักลงทุนและมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง ที่ใช้เวลากับการทำงานหลายอาชีพ ทั้งวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุน หรือจะเป็นเรื่องสินเชื่อ การแก้หนี้ รวมถึงการเป็นผู้บริหาร
ชี้ว่า การออมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งช่วงแรกของการทำงานไม่ได้สนใจเรื่องนี้ และเริ่มเก็บเงินช่วงอายุ 28 ปี ด้วยความโชคดี คือ เงินเดือนขึ้นเร็วตอนที่ทำงานธนาคารกรุงเทพ โดยเริ่มจากการใช้เงินเดือนให้พอ ถ้าได้โบนัสเพิ่ม 10% จะเก็บเงินตรงนี้ไว้ รวมถึงหากเงินเดือนขึ้นอีก 10% อาจจะใช้เพิ่ม 5% และเก็บที่เหลือ ซึ่งเป็นการเก็บจากเงินที่เจ้านายจ่ายเพิ่มให้ โดยเก็บอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเร็ว ยิ่งเยอะ ยิ่งมีผลมาก
ออมเก่งแค่ไหน ไม่ช่วยให้ถึงเป้าหมาย
แต่จะเก็บให้ตายยังไงพอมาถึงจุดหนึ่งจะรู้สึกว่า “ทำไมมันน้อยจัง” พอช่วงอายุ 30 มานั่งคำนวณว่าอยากที่เก็บเงิน 25 – 30 ล้านบาท ถึงจะพอเกษียณ ด้วยเงินเดือนตอนนี้จะไปถึงจุดหมายได้ยังไง ต่อให้เก็บเงินเก่งแค่ไหน จนมาถึงจุดที่ต้องเริ่ม “บริหารความเสี่ยงหรือลงทุน” แม้จะเจ๊งมาเยอะแต่รวม ๆ แล้วได้มากว่าเสีย ซึ่งมาพลิกมีกำไรได้ช่วงเข้ามาดูแล สายการบินนกแอร์ ในช่วงที่เกิดวิกฤต จนกลับมาฟื้นตัวได้ โดยเป็นการทำเงินจาก capital markets
ทั้งนี้การบริหารความเสี่ยงต้องมีความเข้าใจตลาดทุน มีความชำนาญ รู้จักหุ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่มักซื้อหุ้นที่ตัวเองไม่ชำนาญ ฟังคนอื่นบอกมา ถ้าไม่ชำนาญแนะนำให้ซื้อ “กองทุน” แต่ต้องยอมรับว่าอยากให้เงินโตเป็นเท่าตัว “กองทุน” ไม่ตอบโจทย์ ยกเว้นแจ็คพอตไปเจอกองทุนพิเศษ
นั่งวิเคราะห์ตลาดหุ้นไทย
ในส่วนตลาดหุ้นไทยที่พังลงมาก่อนหน้านี้ เกิดจากปัญหาการทำมาร์จิ้น เวลาเอาหุ้นเข้าตลาดเจ้าของบริษัทมีแต่ตัวเลข จำนวนเงิน และมูลค่าหุ้น แต่ไม่สามารถนำเงินมาใช้ได้ โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นทั้งเงิน การพยุงหุ้นหรือปั่นหุ้นตัวเอง ดังนั้นเจ้าของบริษัทได้นำหุ้นตัวเองไปตึ้งด้วยมาร์จิ้น
ซึ่งสินเชื่อมาร์จิ้นโดยพื้นฐานแล้ว คนที่จะปล่อยได้มีแค่แบงก์และสถาบันการเงิน แต่มีอีกธุรกิจที่ทำได้คือบริษัทหลักทรัพย์ ที่ปล่อยมาร์จิ้นเพื่อให้นำมาซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ตัวเอง โดยจะได้ผลตอบแทนจากวอลุ่มการเทรดและดอกเบี้ย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของบริษัทเอาหุ้นไปทำมาร์จิ้น แล้วกระทำการไม่เหมาะสม ได้แก่
1.หุ้นเข้าตลาด เพื่อต้องการเงินและปั่นหุ้นตัวเอง
2.เอาหุ้นไปตึ้งและซื้อหุ้นตัวเอง เพื่อเก็บหุ้นออกจากตลาด
3.เอาหุ้นไปตึ้งและนำเงินไปซื้อหุ้นตัวอื่น แล้วโอนส่วนที่เหลือไปอีกบัญชี เพื่อเอาเงินสดไปใช้จ่ายส่วนตัว
ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ การที่หุ้นถูก Force Sell มูลค่าบริษัทหดหาย ทำให้นักลงทุนรายย่อยล้มหายตายจาก
กระจายความเสี่ยง คือ สิ่งที่ดีที่สุด
สุดท้ายนี้ต้องมีการกระจายความเสี่ยง ซึ่งการลงทุนควรได้ผลตอบแทนอย่างน้อย 5% ในอดีตตอนที่ยังอายุน้อยจะเน้นลงทุนหุ้นเป็นหลัก 60-70% ปัจจุบันลดเหลือ 20% โดยเลือกลงทุนตามดัชนีต่างๆ มากกว่าเลือกหุ้นรายตัว ทั้งนี้ในภาพรวมแนะนำเป็น Core พอร์ตหลัก ประมาณ 70% ซึ่งต้องมีความเสี่ยงต่ำ มีปันผล มีการเติบโต รวมถึงเป็นเทรนด์โลก อย่าง หุ้นปันผล กองทุน ตราสารหนี้ ที่ดิน ทองคำ
ส่วนที่เหลือเป็น Satellite ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า Core ซึ่งจะมีความเสี่ยงมาก อาทิ หุ้นในตลาดเกิดใหม่ การเลือกหุ้นรายตัว การซื้อกองทุนดัชนีที่เป็น Active แต่ก่อนเก็บเงินควรมีเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 1 ปี รวมถึงให้สนใจเรื่องดอกเบี้ยไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ บัตรเครดิต โดยไม่ควรมีดอกเบี้ยสูงๆ ในชีวิต และที่สำคัญ คือ รู้เป้าหมายทางการเงิน หมั่นเช็คสุขภาพทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon