เปิดทริค 2 แบรนด์ SME “จี๊ดจ๊าด-จินเฮง” แตกไลน์สินค้าสแน็คใหม่ ยอดขายที่เซเว่นฯพุ่งใน 3 เดือน ส่อง Insight “บ๊วยอบบ๊วย-หนังไก่กรอบ” พิชิตใจลูกค้า ด้วยความแปลกใหม่ สินค้าตอบโจทย์

30
มิติหุ้น  –  ของทานเล่น หรือ “สแน็ค” (Snack) ถือเป็นอีกหนึ่งไอเท็มสำคัญที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินในเวลาว่างหรือระหว่างทำกิจกรรมได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ตลาดค้าปลีกกลุ่มสินค้าสแน็คมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2566 ตลาดค้าปลีกกลุ่มสินค้าสแน็คของประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หาก SME สามารถพัฒนาสินค้าได้ตอบโจทย์ตรงความต้องการและทำการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย การสร้างการเติบโตในตลาดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนดังเช่น 2 แบรนด์ SME “จี๊ดจ๊าด” และ “จินเฮง” ที่ผลิตสินค้าใหม่ลงวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ไม่ถึง 3 เดือนก็กวาดยอดขายสร้างผลงานการเติบโตได้อย่างน่าพอใจ
จากมะขามจี๊ดจ๊าด สู่ “บ๊วยอบบ๊วย” เสิร์ฟความเปรี้ยวแบบกระปุกสะใจ
แบรนด์ “จี๊ดจ๊าด” ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ SME ที่สร้างชื่อจนเป็นรู้จักในฐานะผู้ผลิตมะขามเคี้ยวหนึบที่มีรสชาติอร่อยระดับท็อป ซึ่งจัดจำหน่ายโดยบริษัท 3เอ็ม ฟูด โปรดัก จำกัด วันนี้แบรนด์จี๊ดจ๊าดภายใต้การบริหารของ Gen 2 วัยเพียง 32 ปีอย่าง บะหมี่-ภาสกร เลาหะมณฑลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ ได้แตกไลน์สินค้าใหม่ โดยใช้วัตถุดิบอื่นนอกจากมะขาม อย่าง “บ๊วย” มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เริ่มจากแบบซองขนาด 10 กรัม เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค จึงพัฒนาสู่แบบกระปุกขนาด 40 กรัม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่อยากได้ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มวางจำหน่ายเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเช่นเดิม สามารถทำยอดขายได้เท่าสินค้ารุ่นพี่อย่าง มะขามอบบ๊วย แบบกระปุก
บะหมี่ เล่าย้อนความให้ฟังว่า คุณพ่อและคุณลุงเริ่มต้นทำธุรกิจมะขามแปรรูปในแบบเม็ดอมเคี้ยวหนึบมาตั้งแต่ปี 2546 โดยสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักคือ มะขามอบบ๊วย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่มีในตลาด ในตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบมะขามคลุก กระทั่งในปี 2549 บริษัทได้มีโอกาสเข้าจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และได้มีการเพิ่มสินค้าเข้าจำหน่ายอีก 2 รายการคือ มะขามอบบ๊วยรสเผ็ด มะขาม 4 รสพริกเกลือ ในรูปแบบซอง 5 บาท ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
กระทั่งในปี 2564 บริษัทประสบปัญหาวิกฤติโควิด 19 ส่งผลให้ยอดขายหายไป 40% ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้มะขามออกผลผลิตน้อยและไม่ได้คุณภาพ  บริษัทจึงมองหาวัตถุดิบอื่นเพื่อนำมาพัฒนาสินค้าใหม่ทดแทนยอดขายที่หายไป โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตสินค้าใหม่คือ บ๊วย สตรอเบอร์รี่ มะม่วง ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2564 บริษัทมีสินค้าใหม่เพิ่มเข้ามาอีกหลายตัว โดยสินค้าที่รับความนิยมคือ “บ๊วยอบบ๊วย”
“บ๊วย ถือเป็นผลไม้ที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน ดูจากสินค้ากลุ่มสแน็คที่วางจำหน่ายในตลาดส่วนใหญ่จะทำจากบ๊วย ประกอบกับทางเซเว่นฯ เองก็ได้แนะนำตลาดเพิ่มเติม ทำให้มั่นใจได้ว่าบ๊วยจะเป็นวัตถุดิบที่ดีในการผลิตสินค้าตัวใหม่ บริษัทจึงนำบ๊วยมาแปรรูป โดยการใช้นวัตกรรมเดียวกับตัวมะขามในการแปรรูปสินค้าให้มีความเหนียวหนึบเหมือนเคี้ยวลูกอมพร้อมคลุกผงบ๊วยในกระปุกแบบสะใจ ถือเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาด ทำให้มียอดขายเทียบเท่าสินค้าตัวท็อปที่วางจำหน่ายในเซเว่นฯอย่าง  มะขามอบบ๊วย ขนาด 50 กรัม ส่งผลให้ยอดขายที่เคยหายไป 40% ในช่วงโควิด นอกจากจะกลับมาสู่ภาวะปกติแล้วยอดขายยังเพิ่มสูงขึ้นอีก 40% ด้วย”
“จินเฮง” หาช่องว่างตลาด-กลุ่มเป้าหมายชัดเจน พัฒนา “หนังไก่กรอบ” เตรียมส่งออกตปท.
การมองหาช่องว่างทางการตลาด เพื่อนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย เป็นช่องทางการแจ้งเกิดที่สำคัญให้กับ SME เหมือนดังเช่น   แบรนด์ “จินเฮง” ที่บริหารงานโดยคนหนุ่มรุ่นใหม่วัย 35 ปี อย่าง ไมเคิล-วิทนันท์  จึงดำรงค์สมสุข ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เครเดนเชียล กรุ๊ป จำกัด ที่มองเห็นโอกาสเติบโตของสินค้ากลุ่มสแน็คในตลาดฮาลาล ด้วยการผลิตหนังไก่กรอบ พร้อมต่อยอดสู่รสชาติใหม่ๆ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดจนเป็นที่รู้จัก มียอดสั่งซื้อจากเซเว่น อีเลฟเว่นอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 ลังต่อเดือน หรือกว่า 100,000 ซองต่อเดือน
ไมเคิล เล่าให้ฟังถึงที่มาของสินค้าและกลยุทธ์การทำการตลาดจนสินค้าเป็นที่รู้จักให้ฟังว่า ก่อนที่จะเปิดบริษัทของตัวเอง ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดให้กับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ทำให้เห็นทิศทางตลาดหลากหลายกลุ่ม โดยมองว่าตลาดสินค้าฮาลาลเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทยอยพัฒนาสินค้ามาซัพพอร์ตตลาด เริ่มจากสินค้าไก่หยอง วางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เมื่อปี 2561 หลังจากนั้นได้พัฒนาสินค้าฮาลาลสแน็คเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็น ข้าวแต๋นและข้าวตังหน้าไก่หยอง หนังไก่กรอบ
สินค้าที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีคือ หนังไก่กรอบรสดั้งเดิมและรสบาร์บีคิวหมาล่า เหตุที่สินค้าได้รับการตอบรับที่ดีมาจากตัวหนังไก่มีความบาง กรอบ แม้จะเปิดถุงทิ้งไว้แต่หนังไก่ก็ยังมีความกรอบ ไม่มีกลิ่นหืน รสชาติที่ถูกปาก ประกอบกับในตลาดไม่มีหนังไก่กรอบรสดั้งเดิมจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเป็นรสชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา และจำหน่ายในราคาที่เหมาะสมเพียงซองละ 25 บาท ส่งผลให้ปัจจุบันยอดขายจากตัวหนังไก่กรอบอยู่ที่ประมาณ 70% จากยอดขายสินค้าทั้งหมดของบริษัทที่วางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 7 รายการ
“นอกจากตัวสินค้าที่ได้คุณภาพ รสชาติที่ตอบโจทย์แล้ว การทำการตลาดก็มีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยบริษัทเน้นทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งที่เป็นของบริษัทเองไม่ว่าจะเป็น Facebook, Website, TikTok รวมทั้งทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์อื่นที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคร่วมด้วย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็ว อีกทั้งมีต้นทุนการตลาดต่ำ แต่ได้การตอบรับดี โดยเน้นกลุ่มคนวัยทำงานและผู้ที่ชื่นชอบการทานสแน็คในช่วงทำกิจกรรมหรือในเวลาว่าง จากความโดดเด่นดังกล่าวส่งผลให้สินค้าเป็นที่ถูกใจของตลาดเกาหลี ทำให้มียอดออร์เดอร์จากเกาหลีล็อตแรกในปีนี้จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ในอนาคตเตรียมพัฒนาสู่รสชาติใหม่ๆ ตามคำแนะนำของเซเว่นฯ เพื่อตอบรับความต้องการของตลาด”
โอกาสที่ทั้ง 2 แบรนด์ที่ได้รับจากเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เติบโตอย่างน่าสนใจ ตลาดค้าปลีกกลุ่มสินค้า สแน็ค ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสดีของ SME ในการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกกลุ่มสินค้าสแน็ค หาก SME ต้องการที่จะเข้าตลาดนี้ ควรเตรียมความพร้อมให้ดี ศึกษาตลาดอย่างละเอียด เพราะตลาดยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ย่อมหมายถึงจะต้องมีการแข่งขันที่สูงตามมาเช่นกัน
#CPALLสร้างอาชีพ #SMEโตไกลไปด้วยกัน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon