CEA ยกระดับอุตสาหกรรมดนตรีและคอนเทนต์ไทย ส่งเสริมศักยภาพสร้างสรรค์ ปั้นผลงานคุณภาพให้ตอบโจทย์ตลาดสากล ภายใต้โครงการ Music Exchange และ Content Lab 2024

60

มิติหุ้น – อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีศักยภาพ
ในการสร้างรายได้และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล แต่การจะก้าวไปสู่ตลาดสากลและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้นั้น ต้องอาศัยกลยุทธ์และการดำเนินงานที่ครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งปัจจุบันภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน และดนตรีไทย หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า ‘คอนเทนต์ไทย’ กำลังได้รับความสนใจทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ความสนใจดังกล่าวเห็นได้จากการที่ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ไทย เช่น สืบสันดาน, Club Friday The Series, นับสิบจะจูบ, แปลรักฉันด้วยใจเธอ, ฉลาดเกมส์โกงเดอะซีรีส์ ฯลฯ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสตรีมมิงแพลตฟอร์ม ทั้ง Netflix, VIU, iQiYi, WeTV ฯลฯ รวมถึงภาพยนตร์ หลานม่า ที่กวาดรายได้ทั่วเอเชียกว่า 1,000 ล้านบาท จึงทำให้ผู้บริโภคจากทั่วโลกสามารถรับชมคอนเทนต์ที่หลากหลายจากประเทศไทย และก่อให้เกิดปรากฏการณ์การขับเคลื่อนคลื่นวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งจากคอนเทนต์ การท่องเที่ยว อาหาร หรือแม้กระทั่งความเป็น Thainess ที่หลายคนคุ้นเคย

ในขณะที่ศิลปินคลื่นลูกใหม่ของวงการดนตรีจากประเทศไทย ที่มาพร้อมแนวเพลงหลากหลาย ความสามารถระดับอินเตอร์ ออร่าจากบุคลิก ภาพลักษณ์ และสไตล์ รวมถึงการแสดงบนเวทีที่มีคุณภาพ ก็พาเหรดมาเสิร์ฟความบันเทิงให้แฟนเพลงทั้งชาวไทยและต่างชาติ จนได้รับความสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น จุดกระแส
Thai Music Wave ให้ไปไกลกว่าที่เคย

อีกหนึ่งจุดเด่นของไทย อาจเป็น ‘ความหลากหลายทางดนตรีและสไตล์ที่โดดเด่น’ โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ที่วงการดนตรีของไทยได้สร้างสรรค์งานเพลงที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น และไม่ได้จำกัด เฉพาะดนตรีป๊อปที่เป็นที่นิยมเท่านั้น แต่รวมทั้งร็อก ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี แดนซ์ อินดี้ ซิตี้ป๊อป เมทัล ลูกทุ่ง หมอลำ ฯลฯ ทั้งยังมีการคอลแลบของศิลปินต่างแนวเพลงและช่วงวัย จนเกิดเป็นงานเพลงที่สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้อย่างน่าสนใจและมีมิติยิ่งขึ้น
ทั้งยังผสานความเป็นไทยแบบร่วมสมัยและไทยดั้งเดิมไว้ได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของศิลปินก็พร้อมจะสร้างแรงดึงดูดให้แก่บรรดาแฟนคลับต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

กระแส Thai Music Wave ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นท่ามกลางคลื่นความบันเทิงของ K-Pop ที่ยังคงโหมกระหน่ำ
นำมาสู่การที่ศิลปินไทยหลายรายมีโอกาสเดินสายขึ้นแสดงบนเวทีต่าง ๆ หรือทัวร์คอนเสิร์ตในระดับเอเชียและระดับโลก เช่น บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล, 4EVE, เจฟ ซาเตอร์, HYBS, KIKI, Phum Viphurit, The Paradise Bangkok Molam International Band ฯลฯ จนศิลปินไทยได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักในระดับอินเตอร์มากขึ้น อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมด้านคอนเทนต์และดนตรีเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง มีความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ดังนั้น การยกระดับทักษะ ผลิตผลงานด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการพัฒนาคอนเทนต์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้ 

CEA เปิด 2 โครงการใหญ่ ดันอุตสาหกรรมดนตรีและคอนเทนต์ไทย ปั้นผลงานคุณภาพให้ขายได้ ตอบโจทย์ตลาดอินเตอร์ 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย เดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย
สู่มาตรฐานสากล ด้วยการจัดทำ 2 โครงการใหญ่ในปี 2567 ได้แก่ Music Exchange และ Content Lab 2024
ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยโครงการ Music Exchange นั้น
CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี มุ่งสร้างโอกาสให้ศิลปินไทยมากความสามารถ
จากหลากหลายสไตล์ดนตรี ได้แสดงศักยภาพในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ เพื่อขยายฐานตลาดแฟนเพลง
ในต่างประเทศ สร้างโอกาสและขยายการส่งออกผลงานของศิลปิน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย

ขณะที่โครงการ Content Lab 2024 เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ Content Lab 2023 โดยมุ่งพัฒนาทักษะของบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชัน พร้อมเปิดโอกาสการเชื่อมต่อธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ผ่านกิจกรรมภายใต้โครงการเพื่อบ่มเพาะทักษะ เสริมสร้างองค์ความรู้ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อพัฒนาผลงานให้ได้มาตรฐานในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อย่างเป็นระบบ โดยโครงการทั้งสองนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของ CEA ในการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมดนตรี และคอนเทนต์ไทยให้เติบโตในระดับสากล อันจะยังประโยชน์และรายได้ให้แก่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยอย่างมีนัยสำคัญ ได้ต่อไป

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า อุตสาหกรรม ‘คอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์’ ไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน และดนตรี
โดยผลงานเหล่านี้ได้รับความนิยมและความสนใจจากทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่ภาพยนตร์หรือซีรีส์ไทยหลายเรื่องได้รับการฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลก ขณะที่วงการดนตรีของไทยก็เดินหน้าสร้างชื่อในเวทีนานาชาติ แสดงให้เห็นศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยในตลาดระดับโลก ดังนั้น CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ยังคงเดินหน้าเป็นฟันเฟืองหลัก ที่สนับสนุนนักสร้างสรรค์ระดับมืออาชีพ เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ‘คอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์’ (Creative Content & Media) ได้แก่ ภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชัน และอุตสาหกรรมดนตรี พร้อมผลักดันให้เป็น ‘อุตสาหกรรมเรือธง’ (Flagship) ที่จะช่วยสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยในปี 2565 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ‘คอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์’ และ ‘ดนตรี’ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.08 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตจากปี 2564 ถึง 12% และคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงขึ้นอีกโดยเฉพาะจากการเติบโต ของสตรีมมิงแพลตฟอร์มต่าง ๆ

สำหรับโครงการ Music Exchange เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นตั้งใจของ CEA ที่ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี ในการผลักดันศิลปินไทยสู่เวทีระดับนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างกระแส ‘Thai Music Wave’ ให้เกิดแรงกระเพื่อมเข้าสู่ตลาดกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอศิลปินทั้งแบบศิลปินเดี่ยวและแบบวง ไม่จำกัดแนวดนตรี เช่น ป๊อป ร็อก ฮิปฮอป ไทยร่วมสมัย ฯลฯ จำนวน 80 ศิลปิน/วง ในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ พร้อมทั้งดึงดูด 75 ผู้จัดเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ ให้เข้ามาศึกษาผลงานของศิลปินไทย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลไทย โดยโครงการ Music Exchange ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่

  • กิจกรรม PUSH ที่มุ่งเน้นการผลักดันและส่งเสริมศิลปินที่มีศักยภาพเข้าสู่เทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ
    โดยจะคัดเลือกและสนับสนุนให้ศิลปินไทยได้ไปแสดงผลงานในเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เช่น One Music Camp 2024 ประเทศญี่ปุ่น, SXSW Sydney 2024 ประเทศออสเตรเลีย, AXEAN Festival 2024 ประเทศอินโดนีเซีย, Zandari Festa ประเทศเกาหลีใต้, Taipei City Idol Expo ไต้หวัน, Outbreak Fest ประเทศอังกฤษ ฯลฯ
  • กิจกรรม PULL ที่มุ่งเน้นการดึงดูดผู้จัด ผู้คัดเลือกศิลปิน และเอเจนซี่จากเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ รวมถึงบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีโลก เช่น กลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) สหภาพยุโรป (EU) และอเมริกา ให้เข้ามาเยี่ยมชมเทศกาลดนตรีของไทย โดยจะมีการจัดกิจกรรม Business Matching and Networking ระหว่างผู้จัดงานเทศกาลดนตรีในต่างประเทศกับผู้จัดงานของไทย เพื่อสร้างโอกาสและเครือข่ายทางธุรกิจร่วมกัน

ในขณะที่โครงการ Content Lab 2024 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล เป็นการต่อยอดความสำเร็จ
ของโครงการ Content Lab 2023 จากปี 2566 ที่ผ่านมา โดยได้ขยายขอบเขตการพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันของไทยสู่มาตรฐานสากล ผ่าน 5 โครงการย่อย ประกอบด้วย

  • Content Lab: Newcomers โครงการพัฒนาบุคลากรคนทำหนังรุ่นใหม่ทั่วประเทศ โดยเน้นการพัฒนา
    โปรเจ็กต์เบื้องต้นกับผู้เชี่ยวชาญของวงการ ให้พร้อมสำหรับการผลิตคอนเทนต์ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม
    คอนเทนต์ไทย
  • Content Lab: Mid-Career โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์ สำหรับบุคลากรวิชาชีพระดับกลาง
    ในสายโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท โดยมุ่งเน้นการยกระดับทักษะแบบเจาะลึกผ่านคลาสเรียนต่าง ๆ
    ตั้งแต่การเป็นโปรดิวเซอร์มืออาชีพ การเขียนบทให้มีชั้นเชิงและตอบรับกับเทรนด์ การสร้างตัวละครให้น่าสนใจ ฯลฯ เพื่อการผลิตผลงานที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และตอบโจทย์ตลาดสากลยิ่งขึ้น
  • Content Lab: Animation โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์เฉพาะด้านแอนิเมชันที่ CEA ร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) เพื่อเชื่อมต่อและสนับสนุนนักสร้างสรรค์
    ให้นำเสนอผลงานในต่างประเทศได้โดยตรง โดยมุ่งเน้นการสร้างผลงานทรัพย์สินทางปัญญาและโอกาสในการพัฒนาผลงานแอนิเมชันเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ได้
  • Content Lab: Advanced Scriptwriting โครงการพัฒนาทักษะการเขียนบทสำหรับมืออาชีพ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติ พร้อมมาสเตอร์คลาสและการพัฒนาบทโดยผู้เชี่ยวชาญ
  • Content Lab: Content Project Market โครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เป็นเหมือนตลาดซื้อขายคอนเทนต์ ของไทยครั้งใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Mid-Career, Content Lab: Animation และ Content Lab: Advanced Scriptwriting และนักสร้างสรรค์ในสายงานจากภายนอก ได้นำเสนอโครงการต่อนักลงทุนและภาคธุรกิจเพื่อต่อยอดผลงานสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป โดย Content Lab: Content Project Market จะจัดขึ้นในวันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2567

“CEA มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนโครงการ Music Exchange และ Content Lab 2024 ให้เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยสู่เวทีโลก เป้าหมายของเราไม่เพียงแค่ผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่เรากำลังวางรากฐานเพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยการผสานพลังความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และความหลากหลาย
ทางวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน เรามุ่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมผลักดันให้ผลงานและศิลปินไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ CEA เชื่อมั่นว่ากลยุทธ์และการดำเนินงานที่รอบด้าน จะทำให้ประเทศไทย ไม่เพียงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมดนตรีและคอนเทนต์ไทยได้อย่างมหาศาล แต่ยังจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของโลกในอนาคตอีกด้วย” ดร. ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon