LPP เตรียมพร้อมรับมือ ตั้งเครือข่ายพันธมิตรเฝ้าระวังเหตุน้ำท่วม บริหารจัดการความเสี่ยงให้ลูกบ้านผ่านศูนย์ปฏิบัติการ EOC

18
มิติหุ้น  –   นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้   มาเนจเมนท์ จำกัด ผู้นำในธุรกิจบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ทางภาคเหนือและมีสัญญาณที่จะไหลหลากลงมาภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครนั้น LPP ได้วางมาตรการรับมือและดูแลโครงการในความรับผิดชอบ โดยจัดตั้ง “โครงข่ายพันธมิตรบรรเทาน้ำท่วม” (Flood Response Alliance Network) ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลกันอย่างเร่งด่วน  โดยได้เริ่มเตรียมการมาก่อนหน้านี้ ตามมาตรการ Preventive Maintenance หรือ การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน
ทั้งนี้ จากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่าไทยเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” และจะต่อเนื่องไปถึงปี 2568 รวมถึงปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน มิถุนายน-พฤศจิกายน ที่อาจจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ LPP ปัดฝุ่น “โครงข่ายพันธมิตรบรรเทาน้ำท่วม”  และปัจจุบันมีการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์เหตุอุทกภัยที่เริ่มมีน้ำสะสมในหลายจังหวัดทางตอนเหนือ ที่มวลน้ำมีโอกาสไหลหลากลงมาที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยที่อยู่บริเวณใกล้เคียงหรือริมแม่น้ำได้ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปก)
         
“โครงข่ายพันธมิตรบรรเทาน้ำท่วม” คือ การรวมกลุ่มโครงการที่อยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงน้ำท่วมเข้าด้วยกันโดยใช้หลักพื้นที่ใกล้เคียงจับกลุ่มเป็นพันธมิตรกัน  เพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในด้านอุปกรณ์รับมือเหตุน้ำท่วมระหว่างกันในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์ปั๊มน้ำชนิดต่างๆ  และอุปกรณ์อื่นๆ   ซึ่งถึงแม้ว่าแต่ละโครงการจะมีอุปกรณ์เหล่านี้จัดเก็บในความดูแลและพร้อมใช้งานแต่เพื่อรองรับสถานการณ์ปกติ หากเกิดกรณีเหตุน้ำท่วมฉับพลันหรือน้ำท่วมสูงก็อาจไม่เพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาได้ ซึ่งสมาชิกในเครือข่ายฯ จะสามารถยืมอุปกรณ์ระหว่างกันจากโครงการในโครงข่ายพันธมิตรฯ  และจะได้รับความช่วยเหลือในทันที ไม่เสียเวลาในการจัดหาจัดซื้ออุปกรณ์และไม่กระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่ายของโครงการ รวมถึงไม่ต้องจัดหาสถานที่เก็บดูแลรักษาอุปกรณ์เพิ่มเติมอีกด้วย  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกโครงการ โดย LPP จะเป็นศูนย์กลางในการประเมินและบริหารสถานการณ์ผ่าน ศูนย์ปฏิบัติการเหตุฉุกเฉิน (Emergency Operations Center – EOC) ให้เป็นจุดรับแจ้งเหตุ ประสานงานและส่งกำลังคนลงพื้นที่ช่วยเหลือทั้งโครงการที่บริหารและพื้นที่ใกล้เคียง ภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงการประสานกับพันธมิตรในโครงข่ายเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหรือได้รับน้อยที่สุด
“LPP ได้กำหนดมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิด  โดยทำการประเมินปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบในทุกโครงการภายใต้การบริหารจัดการ  เพื่อเฝ้าระวังและรับมือภาวะน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน  ซึ่งผลการสำรวจในเบื้องต้นพบว่ามีโครงการที่อยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 13 โครงการ  และมี 52 โครงการอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงปานกลาง รวมจำนวนโครงการที่อยู่ในระดับความเสี่ยงต้องเฝ้าระวังทั้งสิ้น 65 โครงการ จากทั้งหมดกว่า 260 โครงการที่ LPP ดูแลและได้รับการประเมินความเสี่ยง โดยทีมวิศวกร ทีมผู้มีประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่ตามมาตรการแต่ละโครงการ จึงได้กำหนดจัดตั้ง “โครงข่ายพันธมิตรบรรเทาน้ำท่วม”  ขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว”
“อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันโครงการที่ LPP ดูแลยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่เรายังคงให้การดูแลทุกโครงการอย่างเข้มงวดตามแนวปฏิบัติ  Preventive Maintenance หรือ การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน โดยฝ่ายวิศวกรรมส่วนกลาง (Engineering Center) ทำการตรวจสอบพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อวางแผนสำหรับการป้องกันน้ำท่วม และตรวจสอบความพร้อมของระบบป้องกันต่างๆ  อาทิ ปั๊มน้ำ เครื่องสูบน้ำ บำรุงรักษาระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่นๆ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ  รวมถึงทีมสำรวจจะทำการการตรวจสอบระดับน้ำ ตรวจสอบพื้นที่จุดรับน้ำ และปัจจัยเสี่ยงของพื้นที่โดยรอบโครงการอย่างสม่ำเสมอ  หากเกิดความผิดปกติหรือมีเหตุการณ์ฉุกเฉินก็จะสามารถรับมือและแก้ไขสถานกาณ์ได้ทันท่วงที ซึ่งจะสามารถลดความเสียหายให้แก่โครงการ รวมถึงการสื่อสารในช่องทางที่หลากหลายกับผู้จัดการอาคารเพื่อไม่ให้กระทบต่อการอยู่อาศัยภายในโครงการ  ช่วยสร้างความมั่นใจ อุ่นใจ ตามแนวคิด Smooth Your Living ที่เรายึดปฏิบัติ”  นายสุรวุฒิกล่าว

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon