มิติหุ้น – พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ในระบบ FM สำหรับการให้บริการกระจายเสียงประเภทกิจการทางธุรกิจ ระดับท้องถิ่น ที่หอประชุมสำนักงาน กสทช. โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์กว่า 300 คน
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ ชี้แจงว่า หลักเกณฑ์การประมูลดังกล่าวนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ มาตรา 41 ที่กำหนดให้ในกรณีกิจการทางธุรกิจการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูล (Auction) ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ กสทช. กำหนด จึงเป็นที่มาของการนำร่างประกาศฯ ดังกล่าวมา
ประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ แต่สำหรับวิทยุชุมชนและสาธารณะนั้นดำเนินการโดยวิธีคัดเลือก (Beauty contest) ซึ่งได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว โดยที่การอนุญาตในครั้งนี้เป็นการอนุญาตในระดับท้องถิ่น กล่าวคือ สำหรับวิทยุกระจายเสียงที่มีที่ตั้งสายอากาศใน 1 จังหวัด โดยมีกำลังส่งออกอากาศ (ERP) ไม่เกิน 1 kWatt และความสูงสายอากาศไม่เกิน 60 เมตร เท่านั้น
ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่ดำเนินกิจการในท้องถิ่นอย่างแท้จริง เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ปราศจากนายทุนนอกพื้นที่เข้ามา และป้องกันการผูกขาด จึงได้ออกประกาศฯ โดยมี หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เช่น
– คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับอนุญาตที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูล ต้องเป็นนิติบุคคลผู้มีสัญชาติไทย โดยมีผู้ถือหุ้นที่มีภูมิลำเนาภายในจังหวัดไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้น และเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับถึงวันยื่นคำขอรับ
– มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน โดยต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในเชิงบริหารและเชิงทุน เป็นต้น
– วิธีการและเงื่อนไขการประมูล กำหนดแยกตามคลื่นความถี่ในพื้นที่การใช้งานคลื่นความถี่ตามภาคผนวกของแผนความถี่วิทยุ ซึ่งกำหนดเป็นรายอำเภอ โดยกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูล 1 ราย สามารถเข้าร่วมประมูลได้เพียง 1 คลื่นความถี่เท่านั้น หรืออาจจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประมูล 1 ราย สามารถยื่นคำขอการร่วมประมูลได้ 2 คลื่นความถี่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีทางเลือกและร่วมแข่งขันมากขึ้น
– ราคาเริ่มต้นการประมูลไม่ควรเกิน 50,000 บาท โดยมีพื้นฐานมาจากการที่วิทยุทดลองออกอากาศต้องจ่ายค่าทดลองออกอากาศเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตามพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำธุรกิจ จะเกิดการแข่งขันกันเองในทางเศรษฐศาสตร์
“กสทช.จำเป็นต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนกรณีหากมีการแก้ไขกฎหมายโดยการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในประเภทธุรกิจไม่ต้องประมูลนั้น กสทช. ไม่ขัดข้องพร้อมดำเนินการตามกฎหมายใหม่ อย่างไรก็ตามเพื่อให้กิจการกระจายเสียงสามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน จึงต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งในส่วนของชุมชน สาธารณะ และธุรกิจ สามารถออกอากาศได้หลังวันที่ 31 ธันวาคม นี้ โดยที่มีผู้เรียกร้องให้ขยายระยะเวลาการทดลองออกอากาศออกไปนั้น ก็ได้ดำเนินการไว้ในบทเฉพาะการ ของหลักเกณฑ์การอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการกระจายเสียงหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ซึ่งหากความคิดเห็นใดที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและไม่ขัดกฎหมายทางผมพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข สำหรับในวันนี้ก็ได้รับข้อคิด
เห็นที่เป็นประโยชน์ที่ต้องมาพิจารณา ที่สำคัญ เช่น การกำหนดให้ 1 นิติบุคคล สามารถเข้าร่วมประมูลได้มากกว่า 1 คลื่นความถี่ ซึ่งเดิมกำหนดเพียงหนึ่งเดียวเพื่อเป็นการกระจายผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่นและป้องกันมิให้มีนายทุนมาทุ่มตลาด แต่ก็มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ เช่น อาจจะให้มากกว่า 1 คลื่นความถี่ แต่ต้องภายในจังหวัดเดียวกันเท่านั้น เป็นต้น รวมทั้งข้อกังวลเกี่ยวกับการประมูลออนไลน์ หรือ มูลค่าเริ่มต้นของการประมูล ซึ่ง ทางผมไม่มีเจตนาที่จะตั้งสูงอย่างใดตามหลักเกณฑ์ที่เสนอ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ผู้ทดลองออกอากาศอยู่เดิมสามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้ระบบใบอนุญาตที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ” พลอากาศโท ดร.ธนพันธ์ุ กสทช. กล่าวปิดท้าย
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon