BCP กับเป้าหมายเชิงรุกปี 2573 ธุรกิจต้นน้ำจะหนุนให้ EBITDA เติบโต

75

มิติหุ้น – ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า BCP ประกาศแผนลงทุน 5 ปี (2568-2573) โดยตั้งงบลงทุนไว้ 1.2 แสนล้านบาท จะใช้งบลงทุนราว 35% เพื่อ ซื้อสินทรัพย์ในธุรกิจปิโตรเลียม โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในเอเชียไม่เกิน 50k boe/d ขณะที่จะจัดสรรงบลงทุนราว 3.6 หมื่นล้านบาทสำหรับธุรกิจโรงกลั่น ซึ่ง 66% จะนำมาใช้ซ่อมบำรุงโรงกลั่นสองแห่ง และเครือข่ายทางการตลาด

นอกจากนี้ BCP จะเพิ่มธุรกิจใหม่เข้ามาในพอร์ต ประกอบด้วย Data centre, CCUS (carbon capture, utilisation and storage) และไฮโดรเจน รวมทั้งตั้งเป้าใช้กระแสเงินสดภายในบริษัทและเงินกู้ในอัตรา 50:50 เป็นแหล่งเงินทุนรองรับแผนลงทุนดังกล่าว

BCP ตั้งเป้าเพิ่ม EBITDA เป็น 1 แสนล้านบาทในปี 2573 จาก 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2566 โดยมองว่า ธุรกิจที่จะขับเคลื่อนการเติบโตคือ ธุรกิจ E&P (ปริมาณขายจากสินทรัพย์ในปัจจุบัน 50kboe/d และจากการซื้อกิจการอีก 50kboe/d) ขณะที่ตั้งเป้าเพิ่ม EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันปี 2573 เป็น 3.1 หมื่นล้านบาท จาก 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพ, ขยายเครือข่ายสาขา รวมทั้งจากค่าการกลั่น (GRM) ที่สูงขึ้น

BCP เชื่อว่าผลประโยชน์ด้านการดำเนินงานที่คาดจะได้จาก synergy กับบมจ. บางจาก ศรีราชา (BSRC) จะเพิ่มเป็น 5 พันล้านบาทในปี 2567 จากเดิมคาด 3 พันล้านบาท และ 5.5 พันล้านบาทในปี 2568 ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจาก การขยายขีดความสามารถของท่าเทียบเรือ (jetty) ที่ดำเนินงานโดย BSRC ให้เรือ VLCC จอดเทียบท่าเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันดิบ

BCP เผยว่าการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) คืบหน้า 55% ในสิ้นเดือนส.ค. 2567 ขณะที่คาดว่าหน่วยปรับสภาพน้ำมันพืชใช้แล้ว (UCO) จะเปิดดำเนินงานภายในเดือนธ.ค. 2567 ส่วนหน่วยผลิตหลักน่าจะเปิดเชิงพาณิชย์เดือนเม.ย.2568 โดยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา BCP รวบรวม UCO ในประเทศได้สูงสุด 300k ลิตร/วันและปริมาณ UCO น่าจะเพิ่มเป็นราว 55-60% ของปริมาณทั้งหมดที่ต้องใช้ภายในปี 2568 ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า BCP ยังต้องนำเข้า UCO อีกราว 40-45% ทั้งนี้ BCP ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของสัญญาซื้อขายที่บริษัททำกับผู้รับซื้อหลัก (offtaker)

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI มองว่า ปัจจัยลบที่จะกดดันราคาหุ้น BCP ระยะสั้นคือการที่ crack spread ของน้ำมันดีเซลในเอเชียลดลง เพราะยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากจีน อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นพระโขนงที่กลับมาเปิดดำเนินงานหลังหยุดซ่อมบำรุงในไตรมาส 2/2567 น่าจะทำให้ธุรกิจโรงกลั่นมีกำไรเติบโต qoq ในไตรมาส 3/2567 จึงยังแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 40 บาท เนื่องจาก BCP จะมี synergy ด้านการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในปี 2568 เมื่อโรงกลั่นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

มองว่าราคาหุ้น BCP อาจปรับตัวขึ้นหากโรงกลั่นพระโขนงมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าคาด ส่วน downside risk จะมาจากมาร์จิน SAF ที่หดแคบลงในปี 2568 หลังกำลังการผลิตใหม่ในสิงคโปร์เริ่มจัดส่ง SAF ให้กับสายการบินบางแห่งในสนามบิน Changi

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon