มิติหุ้น- บล.บียอนด์ หรือ BYD ออกบทวิเคราะห์ถึงหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ว่ายอดขายเซมิคอนดักเตอร์ในเดือนมิถุนายนทำสถิติสูงสุดที่ 54.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปี หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ การเติบโตของยอดขายในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากหลายอุตสาหกรรม ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของยอดขายเซมิคอนดักเตอร์คือความต้องการใน เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
สงครามสมาร์ทโฟนเริ่มปะทุอีกครั้ง
เรามองว่าเป็นเรื่องท้าทายสำหรับ Apple เปิดตัว iPhone 16 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการนำ AI เข้ามาผสานกับระบบปฏิบัติการ iOS ฟีเจอร์ AI ใหม่นี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ โดยเฉพาะในด้านการจัดการพลังงาน, การถ่ายภาพ ในขณะที่คู่แข่งคนสำคัญอย่าง Huawei ประกาศเปิดตัว Huawei Tri-Fold สมาร์ทโฟนพับได้รุ่น ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาด Huawei ในประเทศจีนอยู่ที่ 18% และ Apple มีส่วนแบ่งเพียง 13% ทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น
ประเทศไทยเข้าสู่สายตาของบริษัทเทคโนโลยี
เราเชื่อว่าการที่ Microsoft ขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยได้ประกาศการลงทุนสร้าง Data Center มูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม 2024 การลงทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามองว่าการลงทุนนี้จะส่งผลเชิงบวกอย่างมากต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล, เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Tech) และ นิคมอุตสาหกรรม ที่จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของ Data Center
โอกาส…….จากย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
เราเชื่อว่าการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนจะช่วยเพิ่มโอกาสการขยายตัวให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ในปัจจุบัน ประเทศจีนมีสัดส่วนการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น เซิร์ฟเวอร์, อุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูล, และอุปกรณ์เครือข่าย อยู่ที่ประมาณ 50% แต่คาดว่าสัดส่วนนี้จะลดลงเหลือเพียง 20-30% ภายในปี 2030 เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคอื่น เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน อินเดีย และภูมิภาคอื่น ๆ
เรามีมุมมองระมัดระวังมากขึ้นสำหรับครึ่งปีหลัง
แม้ในระยะยาวกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับประโยคจากเทรนด์ของ AI และการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนจะช่วยให้บริษัทในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นเติบโตได้ แต่เรากังวลความเสี่ยงหลักอยู่ 2 สาเหตุคือ 1. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่อาจนำสู่นโยบายกีดกันทางการค้า และสงครามเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้น และ 2. การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของผู้ส่งออกไทยในครึ่งปีหลัง ซึ่งเราคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของ Delta ประมาณ -1%, HANA ประมาณ -5% และ CCET ไม่มีผลกระทบกำหนดสกุลเงินสหรัฐอเมริกาเป็นสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน
DELTA และ CCET โดดเด่นที่สุดในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
เราแนะนำเน้นหุ้นที่ได้รับอานิสงส์ทั้ง 2 ปัจจัยคือ DELTA ราคาเป้าหมาย 104 บาท โดยแนะนำทยอยสะสมเมื่อราคาย่อตัว โดยยังคงได้รับประโยชน์จากแนวโน้มเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น AI ศูนย์ข้อมูล และยานพาหนะไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ เดลต้าวางแผนที่จะเปิดโรงงานอีกสองแห่งในปีหน้า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโตและ CCET ราคาเป้าหมาย 5 บาท เราเชื่อว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีจากประเทศจีนมายังภูมิภาคอื่น รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ CCET จะสามารถรองรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการผลิตในจีน การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างการเติบโตของบริษัทในระยะยาว
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/