ก.ล.ต. เผยสถิติ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เดือนสิงหาคม 2567 ปิดกั้นช่องทางมิจฉาชีพได้กว่าร้อยละ 91

61

มิติหุ้น  –  ก.ล.ต. เปิดเผยสถิติการรับแจ้งเบาะแสผ่าน “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” และการดำเนินการปิดกั้นช่องทางหลอกลวงลงทุนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม 2567 มีประชาชนแจ้งเบาะแส รวมทั้งสิ้น 497 ครั้ง เข้าข่ายหลอกลวงลงทุน 350 บัญชี โดย ก.ล.ต. ได้แจ้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มปิดกั้นช่องทางหลอกลวงแล้วร้อยละ 91.43 ของจำนวนบัญชีที่ได้รับแจ้งทั้งหมด เตือนประชาชนระวังมิจฉาชีพใช้กลลวงหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดา

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยสถิติการดำเนินการของ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ในเดือนสิงหาคม 2567 ว่า ได้ประสานงานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เพื่อปิดกั้นบัญชีที่เข้าข่ายหลอกลวงลงทุน ซึ่งสามารถปิดกั้นได้แล้วร้อยละ 91.43 (ของจำนวนบัญชีที่ประสานขอปิด รวม 350 บัญชี*) โดย ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสหลอกลงทุน รวมทั้งสิ้น 497 ครั้ง ผ่านทางระบบรับแจ้งบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th/scamalert อีเมล scamalert@sec.or.th และ โทร. 1207 กด 22

ตั้งแต่โครงการ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เปิดตัวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ก.ล.ต. ได้แจ้งปิดกั้นช่องทางหลอกลงทุนผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 1,863 บัญชี แบ่งเป็นแพลตฟอร์ม Facebook 1,360 บัญชี Instagram 1 บัญชี LINE 124 บัญชี และ TikTok 378 บัญชี เมื่อ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลแล้ว ได้ประสานแจ้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มพิจารณาดำเนินการปิดกั้นบัญชีโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาใช้เวลา 7 นาที – 48 ชั่วโมง โดยปัจจุบันดำเนินการปิดกั้นไปแล้วร้อยละ 98.17 ของจำนวนบัญชีที่ได้ประสานขอปิดกั้นทั้งหมด

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า “จากเบาะแสที่ได้รับแจ้งจากประชาชน พบว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพมักสร้างความน่าเชื่อถือ โดยในครั้งแรกจะให้โอนจำนวนไม่มาก เช่น 1,000 บาท เข้าบัญชีบริษัทที่ได้รับอนุญาต จากนั้นจึงหลอกให้โอนเข้าบัญชีบุคคลธรรมดา จึงขอย้ำให้ประชาชนระมัดระวังการชักชวนลงทุนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ด้วยการสอบถามโดยตรงกับบริษัทหรือบุคลากรในตลาดทุนที่ถูกแอบอ้าง รวมทั้งไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวและไม่โอนเงินเข้าชื่อบัญชีบุคคลธรรมดา”