รวยกระจุก จนกระจาย โจทย์ท้าทายประเทศไทย

257

มิติหุ้น – ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยทางด้านรายได้ เป็นปัญหาที่มีมายาวนาน และถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลในการแก้ไขเรื่องนี้ ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลจะต้องมีนโยบายสวัสดิการ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนฐานราก แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจะอยู่ที่ระดับ 3% แต่ยอดตัวเลขความยากจน เหมือนจะไม่ลดลง เปรียบได้ดังคำว่า “รวยกระจุกจนกระจาย” และสัดส่วนคนรวยกับคนจนมีช่องว่างทางรายได้ที่ห่างสูงมาก ถือเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้าง

กระจายรายได้ เลิกล่า จีดีพี

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุว่า ประเทศไทย ไม่ควรโต แบบล่าตัวเลขจีดีพี หรือตัวเลข FDI แต่ต้องดูว่า จีดีพี หรือ FDI สร้างประโยชน์ความเป็นอยู่ของประเทศแค่ไหน เพราะตัวเลขที่ต้องล่า คือความมั่งคั่งรายได้ของครัวเรือน ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคน

เพราะอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโต ไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่งครัวเรือนมากขึ้น แม้ว่าในการเติบโต Norminal GDP จะเติบโตจาก 100 เป็น 180 แต่ดูรายได้ครัวเรือนค่อนข้างห่างพอสมควร และมองไปข้างหน้า จีดีพีมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการเน้นเติบโตจีดีพี แต่รายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ในมุมธุรกิจจะเห็นการกระจุกตัวสูง จากข้อมูลสัดส่วนรายได้ธุรกิจอยู่ในธุรกิจรายใหญ่ที่มี 5% แต่มีรายได้ถึง 80-90% จากเดิมอยู่ที่ 84-85% ซึ่งเห็นการกระจุกตัวมากขึ้น และหากดูธุรกิจตัวเล็ก หรือธุรกิจเกิดใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มีอัตราการตายมากขึ้น สะท้อน Dynamic ในการขับเคลื่อนกระจุกตัว ที่จะต้องแก้ไข ผ่านการกระจายรายได้ลงท้องถิ่น ผ่านการการสร้าง “ท้องถิ่นสากล” ให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากรและประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ในฐานราก

1 ล้านล้านต่อปี ลดความเหลื่อมล้ำ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การแก้ไข้ความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ทำมานาน และที่น่าตกใจมากก็คือรัฐบาลใช้เงินเยอะมาก ในแต่ละปี โดยมีการใช้งบประมาณรวมกันกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อหยุดเรื่องของความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว และถ้ารวมงบประมาณในหมวดยุทธศาสตร์ด้านอื่นแล้วจะมีวงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินที่ใช้ติดต่อกันมาทุกๆ ปี นั้นไม่ได้ช่วยให้ความเหลื่อมล้ำของประเทศลดลง และความยากจนจริงๆ ก็ไม่ลดลงด้วย

อย่างไรก็ตามการจะแก้ปัญหาความยากจน จะต้องเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า “เขารอให้เราไปช่วย เป็นให้เขาช่วยตัวเองให้ได้” เพราะถ้าเริ่มจากแนวคิดที่ใช่ เราจะสามารถตอบโจทย์เรื่องความยากจนของประเทศได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงเรื่องการจัดระบบสวัสดิการมาดูแลควบคู่ไปด้วย

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon