“ผู้บริหาร iAPP” รับเชิญ “BDI” ร่วมเสวนา “OpenThaiGPT” ในงาน “connect-the-dots #3: BIG DATA & AI ECOSYSTEM IN THAILAND”

12

มิติหุ้น  –  ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร (ผู้บริหารบริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด และเป็นนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย) รับเชิญ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่  หรือ BDI ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล ภายใต้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  หรือ DE ร่วมเสวนาหัวข้อ OpenThaiGPT คนไทยทำเอง ภายใต้งานสัมมนาใหญ่ประจำปี “connect-the-dots #3: BIG DATA & AI ECOSYSTEM IN THAILAND” เจาะลึกแนวโน้มและความก้าวหน้าของวงการ Big Data และ AI ในประเทศไทย ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท ห้องแกรนด์พญาไทบอลรูม 1-2 ท่ามกลางผู้สนใจร่วมงาน และรับฟังจำนวนมาก

ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก ศ. (พิเศษ) วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่, ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่เป็นประธานจัดงาน และ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กร ร่วมบรรยายและเสวนา

งานเริ่มด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ผลักดันนโยบายการใช้เทคโนโลยีข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่างมีทิศทางและยั่งยืน” จากนั้นมีการบรรยาย และร่วมวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนเกี่ยวกับ Big Data & AI Ecosystem ในปัจจุบัน และอนาคต และการเสวนาในหัวข้อ “ThaiLLM โดยคนไทย เพื่อคนไทย” โดย ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด (iAPP) และเป็นนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ได้ร่วมบอกเล่าถึง “OpenThaiGPT คนไทยทำเอง” เทคโนโลยีทางภาษาแบบ ChatGPT อัจฉริยะที่พัฒนาเพื่อคนไทย

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร เผยว่า OpenThaiGPT เวอร์ชั่น 1.0.0. นับเป็นโมเดลภาษาไทย LLMs แบบเปิดที่ทันสมัย และใหญ่ถึง 70 พันล้านพารามิเตอร์โมเดลแรกของโลก สามารถทำคะแนนสอบภาษาไทยได้เฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับโมเดลภาษาไทยแบบเปิดอื่นๆ สามารถรองรับการสนทนาโต้ตอบหลายครั้งแบบต่อเนื่อง (Multi-turn Conversation) ทั้งยังสามารถค้นหาข้อมูลและสกัดคำตอบบน Prompt ที่มีความยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วในการตอบคำถาม ด้วยการเพิ่มคำภาษาไทยที่พบบ่อยมากถึง 10,000 คำลงในพจนานุกรมของโมเดล “ไม่เพียงเท่านั้น ยังเรียนรู้บนข้อมูลภาษาไทย (Pretraining) กว่า 65,000 ล้านคำ มีการกำจัดข้อมูลภาษาไทยซ้ำซ้อนที่ใช้ในเรียนรู้ (Deduplicated Dataset) และปรับจูนให้ตอบคำถามทั่วไปภาษาไทย (Finetuning) มากกว่า 1 ล้านตัวอย่าง มีความสามารถเข้าใจและประมวลผล บริบทของข้อมูลภาษาไทยได้ถึง 4096 คำ และยังช่วยให้สามารถให้คำแนะนำที่ละเอียดและซับซ้อนได้อีกด้วย”

“OpenThaiGPT เกิดขึ้นจาก สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) และทีมงานจากองค์กร ชั้นนำ อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ข้อมูลที่ครอบคลุมหลากหลายและสำคัญจากกระทู้พันทิปดอตคอม นำมาเทรนด์โมเดล โดยเวอร์ชั่นใหม่นี้ ได้มีการสร้างข้อมูล และเทรนด์โมเดลตอบปัญหาได้ดียิ่งขึ้น โดยข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มากกว่า 20 ดาต้าซอร์จ นำมาคัดสรร แล้วจัดระบบ ให้พร้อมใช้งาน”

OpenThaiGPT เปรียบเหมือนสมองเทียมภาษาไทย ความรู้ระดับชั้น ม.6 สามารถพัฒนา และนำไปต่อยอดใรนการใช้งานได้ เช่น โอปเรชั่น ภาครัฐ การสร้างเอกสารตามเทมเพลตต่างๆ OpenThaiGPT สามารถช่วยในการเขียนบทความ จดหมายราชการ บันทึกข้อความต่างๆ แบบอัตโนมัติได้ ช่วยลดงานเอกสารทางราชการได้อย่างมหาศาล เราอาจมีหัวข้อในใจก็เขียนลงไป หรือใช้เสียงสั่งงานซึ่งจะมีเทมเพลตในเรื่องต่างๆ บันทึกเอาไว้ให้เลือก จากนั้น OpenThaiGPT ก็ดำเนินการให้ รวมไปถึงหน่วยงานที่ต้องตรวจเอกสารมากๆ เช่น การตรวจใบอนุญาตต่างๆ เดิมมีเอกสารมากต้องใช้เวลามาก สามารถทำเช็กลิสต์ แล้วนำข้อมูลมาแสกน ส่งให้ OpenThaiGPT เช็กให้ได้เลยว่าเอกสารเขียนได้ครบถ้วนตามเงื่อนไขหรือไม่ ทำให้การทำงานของภาครัฐลดเวลาลงได้มาก หรืออย่างเช่น ประชาชนมีเรื่องร้องเรียน ก็สามารถพูดบันทึกเสียง และแปลงเป็นข้อความบันทึกประจำวันออกมาได้

นอกจากนี้ดร.กอบกฤตย์ ยังนำ OpenThaiGPT ไปทำแชตบอต ให้คำปรึกษากฎหมายไทย (น้อง ทนอย) สามารถตอบคำถามด้านกฎหมายได้ทันที ซึ่งมีประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไป ที่เข้าถึงนักกฎหมายได้ยาก ก็สามารถสอบถามข้อกฎหมายจากน้องทนอยก่อนได้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแชตบอตเท่านั้น แต่ยังพัฒนาเป็นเครื่องมือด้านภาษาได้อีก เช่น เทมเพลตบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทางประเทศไทย ที่มีมาตรฐานตายตัว ก็สามารถแกะแบบตัวอักษรออกมาได้ และมีความแม่นยำสูง

“เป็นตัวอย่างการใช้ LLMs เข้ามาสนับสนุนการทำงานในองค์กร ให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นเพราะนี่คือ OpenThaiGPT: Thailand’s Intellectual Companion (OpenThai GPT : คู่หูทางปัญญาของไทย)” ดร.กอบกฤตย์ กล่าว

นับเป็นงานสัมมนาประจำปีของ BDI ซึ่งจัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้และประสบการณ์ ด้านแนวโน้มความก้าวหน้าของ Big Data และ AI ในประเทศไทย จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่เกี่ยวข้องในหลากหลายหน่วยงานและสมาคมชั้นนำของประเทศ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านข้อมูลและ AI ให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล อันจะนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต และก้าวสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon