OKJ เปิดความเสี่ยง วงจรธุรกิจสั้น – แข่งขันสูง

882

มิติหุ้น – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้นน้องใหม่ OKJ  กำหนดขายหุ้นไอพีโอจำนวน  159 ล้านหุ้น ที่ราคา 6.7 บาท ระดมทุน 1,065 ลบ. เข้าเทรด SET วันแรก 4 ต.ค. นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้จองซื้อหุ้น 23-25 ก.ย. 67 โดยมีบล.บัวหลวงเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

ฝ่ายวิจัยบล.บัวหลวงคาดกำไรสุทธิปี 67 ของ OKJ ที่ 208 ลบ. โต 48% และปี 68 ที่ 271 ลบ. โต 30% การเติบโตของกำไรมาจากรายได้และอัตราการทำกำไรขั้นต้นขยายตัว โดยคาดรายได้ปี 67 โต 42% และปี 68 โต 29% มาจากการเติบโตของ “โอ้กะจู๋” แบรนด์หลัก ซึ่งมีสัดส่วน 94%ของรายได้ในปี 67 จากยอดขายต่อสาขาเดิม(SSSG) เติบโตและการขยายสาขาใหม่

ทั้งนี้ OKJ ได้ระบุความเสี่ยงของบริษัทไว้ในไฟลิ่งว่า ความเสี่ยงโดยหลักมาจากความผันผวนของปริมาณผลผลิตของวัตถุดิบหลักประเภทผักผลไม้ จากภัยพิบัติ สภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงจากภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งอาจกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และความนิยมในแบรนด์สินค้าของบริษัท ที่อาจปรับตัวลดลง

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ระบุว่า ปัจจุบันในยุคที่ผู้บริโภคนิยมเสพคอนเทนท์ ทำให้วงจรธุรกิจร้านอาหารค่อนข้างสั้น และการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ทำได้ง่าย ก่อให้เกิดภาวะการแข่งขันที่สูง และข้อสำคัญเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทดแทนกันได้ นอกจากนี้ สัดส่วนรายได้หลัก 94%  มาจากการพึ่งพิงแบรนด์หลัก “โอ้กะจู๋”  และพยายามเปิด 2 แบรนด์ใหม่ คือ ร้านเครื่องดื่ม Oh!Juice และร้าน Ohkajhu Wrap&Roll

ขณะที่ราคาไอพีโอ ที่ 6.70 บาท สูงกว่าราคาพาร์ที่ 0.50 บาท ถึง 13 เท่า และแม้ในไฟลิ่งจะเปรียบเทียบ P/E ของ OKJ ที่ 24.13 เท่า อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ P/E ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกันในช่วงเวลาก่อนไอพีโอ อย่าง MAGURO ที่ 31 เท่า และ AU ที่ 30.5 เท่า

แต่ผู้ลงทุนVI รายหนึ่งให้ความเห็นว่า ไม่ควรเทียบกับ MAGURO เพราะเป็นหนังคนละม้วน โดยMAGURO เสนอขายให้ผู้ลงทุนรายบุคคล แต่ OKJ ขายให้กับนักลงทุนสถาบันในสัดส่วนที่สูง มีผลต่อความเคลื่อนไหวของราคา ทำให้ความน่าสนใจของ OKJ ไม่เท่ากับ MAGURO ในช่วงไอพีโอ แต่ทั้งนี้ต้องติดตามหลังเข้าตลาดหุ้นว่า OKJ จะสามารถเพิ่มแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาได้หรือไม่ เพราะขณะนี้พึ่งพิงแต่ “โอ้กะจู๋” เป็นหลัก

นอกจากนี้ เกิดการตั้งข้อสังเกตงบการเงินครึ่งแรกปี 67 พบว่า รายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น 13.7 ล้านบาท จาก 1.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี  66  สาเหตุที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการเคลมประกันวาตภัย   เงินสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  และการขายสินทรัพย์  ซึ่งเป็นรายการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  หากตัดรายการนี้ออกไป อัตรากำไรสุทธิเหลือเพียง 8% จากช่วงเดียวกันในปี 66 ที่  9.5%    ดังนั้น ราคาเหมาะสมที่บล.บัวหลวง  ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจำหน่ายและประกันการจัดจำหน่ายด้วยนั้น ประเมินไว้ที่ 7.9-8.1 บาท อาจสูงเกินไป เพราะในงวด Q3/67  จะเกิดค่าใช้จ่ายในระดับสูงจากการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาด  ซึ่งอาจทำให้กำไรที่บัวหลวงประเมินไว้ 208 ล้านบาท จึงต้องลดลง

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/