หลังจาก EA เผชิญมรสุมชีวิต เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จะทำให้ BYD ในฐานะบริษัทในกลุ่มก้อนของ EA จะต้องถูกสังคมตลาดทุนกังขาถึงฐานะการเงิน และหน่วยงานกำกับจับตา จนเป็นที่มา ตลท.ออกโรงเตือนให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ BYD และขอให้บอร์ด BYD ชี้แจงใน 3 ข้อ
- ผลกระทบจากการพักชำระหนี้ให้กับ TSB หรือไทยสมายล์บัส ไ ต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัท
- นโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของเงินให้กู้ยืมกับ TSB เนื่องจากปี 2566 TSB มีผลการดำเนินงานขาดทุนและ ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ
- ความเพียงพอของมูลค่าหลักประกันเงินให้กู้ยืมกับ TSB และมาตรการดูแลความเสี่ยงและการดำเนินการของบริษัท ในการดูแลลูกหนี้ TSB
ข้อสังเกตุของตลท. ส่วนใหญ่โยงใยการเข้าลงทุนและให้ความช่วยเหลือเงินกู้กับ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB เพราะเกรงว่าจะส่งผลต่อฐานะการเงินของBYD โดยตลท. ขีดเส้นตายให้ชี้แจงภายในวันที่ 1 ต.ค. 67
ปรากฎว่าไม่ต้องรอให้ถึงเดดไลน์ BYD ขนหลักฐานมาชี้แจง นอกจากตอบคำถามตลท.แล้ว ยังใช้พื้นที่ดังกล่าวอธิบายเจตนาการเข้าลงทุนใน TSB ว่า เป็นไปตามกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทที่เห็นประโยชน์จากโครงการบริการขนส่งสาธารณะของTSB และบริษัทในกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ให้บริการรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องจำนวน 123 เส้นทาง และได้รับใบอนุญาตให้เดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 3 เส้นทาง
อย่างไรก็ตาม การจะลงทุนระบบขนส่งมวลชนดังกล่าว TSB จะต้องลงทุนรถ E-Bus ไม่น้อยกว่า 2,130 คัน ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ทำให้ TSB ออกแบบโครงสร้างแหล่งเงินทุนจะมาจากส่วนเจ้าของและเจ้าหนี้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งBYD ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามเหตุผลอันสมควรในแต่ละคราว เพื่อให้การบริหารจัดการธุรกิจของTSB บรรลุตามแผน
การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่TSB ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นลำดับ ดังนี้
-ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งทที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 65 อนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ TSB จำนวน 8,550 ลบ. เพื่อนำไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจตามวัตถุประสงค์ที่ตกลงกันเท่านั้น
ข้อมูลดังกล่าว ได้แสดงข้อมูลถึงแผนการใช้เงินของ TSB และขัดกับข้อมูลในข่าวจากตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 เรื่อง “ตลาดหลักทรัพย์ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ EA และติดตามคำชี้แจงของบริษัทนั้น” และแสดงข้อมูลว่า บล.บียอนด์ให้เงินกู้ยืมกับ TSB(นำไปใช้เช่าซื้อรถ) ณ สิ้นQ2/67 เท่ากับ 9,697 ลบ. โดยทาง BYD ยืนวันว่าข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะสาระสำคัญของการนำเงินจากการกู้ยืมเงินไปใช้ ปรากฏดังตารางข้างต้นแล้ว
-ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 67 อนุมัติตามคำขอของTSB ปรับเงื่อนไขและข้อตกลงภายใต้สัญญากู้ยืมเงินโดยขยายระยะเวลา Grace period และพักการชำระดอกเบี้ย ออกไปอีกไม่เกิน 3 ปี 3 เดือน เริ่มต้นชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกินวันที่ 31 ม.ค. 70 แต่ระหว่างพักชำระดอกเบี้ยยังคงมีการคำนวนคิดดอกเบี้ยอยู่
เพื่อช่วยสนับสนุนTSBมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น และบริหารเงินสดได้ดีขึ้น และที่ประชุมผู้ถือหุ้น อนุมัติให้การสนับสนุนทางการเงินในส่วนขยายการลงทุนเพิ่มเติมให้กับ TSB จำนวน 1 พันลบ. โดยนำหุ้นสามัญของ บริษัท ไทย สมายล์ โบ้ท จำกัด จำนวน 45.84 ล้านหุ้นที่ TSB ถืออยู่ทั้งหมด และหุ้นสามัญขอบริษัท เบลี่เซอร์วิส จำกัด จำนวน 49,000 หุ้น ที่บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของTSB ถืออยู่ทั้งหมดมาวางเป็นหลักประกัน
-ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 67 เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 67 อนุมัติเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น(RO) จำนวน 757.55 ล้านหุ้น เพื่อใช้ขยายลงทุนในธุรกิจเดิมของBYD และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทและบริษัทร่วม ซึ่งรวมถึง TSB กรณีไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนอื่นตามที่เคยคาดการณ์ไว้ และบอร์ดบริษัทเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 67 อนุมัติขายหุ้นแบบRO จำนวน 252 ล้านหุ้น อัตรา 20 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ในราคาหุ้นละ 2.50 บาท ระดมทุนได้เงิน 400.65 ลบ. ต่อมาที่ประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 67 อนุมัติใช้เงินจากการเพิ่มทุนดังกล่าว ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ TSB จำนวน 400 ลบ. กำหนดชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 31 ธ.ค. 69
ฐานะการเงินของBYD
BYDยืนยันว่าถึงจะให้ความช่วยเหลือการเงินแก่ TSB แต่ไม่ได้สั่นคลอดฐานะการเงินแต่อย่างใด ณ 30 มิ.ย.67 แม้จะมีผลขาดทุน 0.02 ลบ. แต่มีกระแสเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมดำเนินงาน 383.75 ลบ. ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินทรัพย์ดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่ ลูกหนี้สำนักหักบัญชีและบริษัทหลักทรัพย์ 210 ลบ. ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากธุรกิจหลักทรัพย์และการให้สินเชื่อมาร์จิ้น 343.47 ลบ. ซึ่งเป็นไปตามปกติของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์รายอื่นๆ ทั่วไป โดยการที่บริษัทนำเงินไปลงทุนในลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าวนั้น บริษัทจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมจากสินเชื่อมาร์จิ้น ค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมต่างๆ
นอกจากนี้หากพิจารณาสภาพคล่องของบริษัท จะพบว่า ณ วันที่ 17 ก.ย. 67 มีสินทรัพย์สภาพคล่อง(NC) จำนวน 1,470 ลบ. อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสุทธิ(NCR) 312.4% สูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ที่ 7% แสดงให้เห็นว่า ถึงจะไม่มีกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยรับจากTSB ไม่ได้กระทบต่อฐานะการเงิน ผลดำเนินงาน และสภาพคล่องของBYD แต่อย่างใด
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon