มิติหุ้น – ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี 2567 ‘Navigating the Future : A Holistic Approach to Global Economic Dynamics’ ให้ลูกค้าธุรกิจ พันธมิตร และบริษัทขนาดใหญ่ โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย แบ่งปันมุมมองเศรษฐกิจโลกและไทย และการเตรียมตั้งรับ ตามด้วย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และรองคณบดี คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ วิเคราะห์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปรียบเทียบนโยบายและผลกระทบต่อไทย ถัดมา เจสัน ลี หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปลุกกระแส ‘อยู่เย็นเป็นสุข’ กระตุ้นผู้ฟังในห้องซึ่งเป็นนักธุรกิจ ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ตบท้ายด้วย นัชชา เลิศหัตถศิลป์ Co-founder & CEO และ สิทธิกร นวลรอด Co-founder & Chief Product Officer บริษัท CarbonWize แพลตฟอร์มวัดผลและติดตามฟุตพริ้นท์ กระตุกมุมคิดภาคธุรกิจที่กำลังตั้งเป้า Net Zero ต้องเริ่มจากตรวจวัดสุขภาพร่างกายองค์กรก่อน ส่งผลให้คุณหมอตรวจ ลงมือแก้ไขปรับปรุง เพื่อบรรลุเป้าหมาย Zero emissions มีภาคธุรกิจเข้าร่วมฟังสัมมนาคึกคักเช่นทุกปี โดยมีคณะผู้บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นำโดย พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ปนิดา ตั้งศรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันการเงินประเทศไทย และ CLMV กนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ วาณิชธนกิจ เพา จาตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ให้การต้อนรับ งานจัดขึ้น โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
CIMB Thai หนุนบริษัทไทย ฝ่าคลื่นอนาคต เกาะกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี 2567 ‘Navigating the Future : A Holistic Approach to Global Economic Dynamics’ ให้ลูกค้าธุรกิจ พันธมิตร และบริษัทขนาดใหญ่ เริ่มจาก พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเปิดงาน กระตุ้นให้ผู้ร่วมงานทุกคนสอบถามสิ่งที่อยากรู้ และเก็บเกี่ยวข้อมูลให้เต็มที่ทั้งจากวิทยากร ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ CIMB Thai ทุกคนในงาน
วิทยากรคนแรก ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า โจทย์เศรษฐกิจปีหน้ามีความท้าทายอยู่ที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งผลกระทบไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากแฮริสชนะ คาดว่าดอลลาร์จะอ่อนค่า bond yield ลดลงแบบคอยเป็นค่อยไป และธปท.จะลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้านนโยบายแฮริสจะดูแลคนรายได้ระดับกลาง ปรับขึ้นภาษีภาคธุรกิจ ส่งเสริมพลังงานสะอาด และเดินหน้าสงครามการค้ากับจีนเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือ Tech War ขณะที่ถ้าทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ดอลลาร์อาจกลับมาแข็งชั่วคราว เพราะคนวิ่งไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย และสหรัฐอาจลดดอกเบี้ยแรงขึ้น ด้านนโยบายทรัมป์สนับสนุนพลังงานจากฟอสซิล ส่วนสงครามการค้า ชัดเจนมากว่าจะขึ้นภาษีจากประเทศอื่น โดยภาพรวม ปีหน้าจะได้เห็นการจบรอบของดอกเบี้ยขาลง bond yield และไม่ได้ลดลงเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะปรับตัวขึ้นมา ต้องติดตามความผันผวนกันต่อไป
ด้านความเสี่ยงประเทศไทย เปรียบได้กับสายรุ้ง ต้องแยกดูเป็นภาคส่วน ภาคก่อสร้าง โตได้แต่ไม่เต็มที่ ภาคการผลิต ตัวชี้วัดประสิทธิภาพหลัก (KPI) ยังติดลบ การส่งออก การท่องเที่ยว เป็นบวกคาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด ส่วนการใช้จ่ายการลงทุนการแจกเงินภาครัฐ ต้องติดตามผลลัพธ์ต่อไป สำนักวิจัย CIMB Thai คงคาดการณ์ GDP ปี 2024 ที่ 2.3% และ ปี 2025 ที่ 3.2% ทั้งนี้ ดร.อมรเทพ อยากฟังเสียงจากทุกคน จึงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานทำโพลล์สดๆ ผ่านการแสกน QR ‘คาดว่า GDP ปี 2025 จะเท่าไหร่’ เสียงส่วนใหญ่ในห้องสัมมนาตอบว่า 2.0-2.5%
วิทยากรคนถัดมา ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และรองคณบดี คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ เริ่มต้นโดยชวนทุกคนทำโพลล์ ‘คาดว่าแฮริสหรือทรัมป์ชนะเลือกตั้ง’ ผู้ฟัง ส่วนใหญ่เทคะแนนให้แฮริส 70% ดร.อาร์มกล่าวว่า แม้หลายโพลล์ทั้งในห้องนี้ หรือที่สหรัฐฯ จะให้คะแนนส่วนใหญ่ไปที่แฮริส แต่โพลล์สหรัฐจับไปไม่ถึงคนชนบท ซึ่งเป็นฐานเสียงของทรัมป์ เมื่อวิเคราะห์แล้ว คาดว่าทรัมป์มีโอกาสสูงที่จะกลับมา เพราะสหรัฐฯยุคไบเดน เงินเฟ้อสูง กระทบรากหญ้า และการจ้างงานในโรงงานย้ายไปจีน หากแฮริสชนะนโยบายจะไม่ต่างจากไบเดน ขณะที่ทรัมป์ชัดเจนว่าต้องการดึงการตั้งโรงงานจากประเทศต่าง ๆ กลับมาที่สหรัฐฯ เพื่อผลิตสินค้า Made in USA ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนรากหญ้าในชนบท
หากมี Trump 2.0 จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แตกต่างจาก Trump 1.0 จะมีการพลิกโฉม เพราะต้องการยุติโลกาภิวัตน์ ซึ่งความต้องการนี้ไม่ได้มาจากทรัมป์คนเดียว แต่มาจากฐานคนที่คิดเหมือนกัน ดังนั้น หากใครมองว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ คงได้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ดี ยุคนี้เป็นยุคทองของอาเซียน คู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนคืออาเซียนแล้ว เพราะยากที่จีนจะไปสหรัฐฯหรือยุโรป โจทย์ใหญ่คือ ไทยจะเชื่อมโยงกับอาเซียนอย่างไรเพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์ อีกทั้งยุคนี้เกิดความขัดแย้งทั่วโลก จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง ประเทศที่น่าจับตาว่าจะเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญคือ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม
ถัดมา เจสัน ลี หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปลุกกระแส ‘อยู่เย็นเป็นสุข’ กระตุ้นผู้ฟังในห้องซึ่งเป็นนักธุรกิจ ดำเนินการลดหรือควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Climate Mitigation) สาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน แนวทางบรรเทามีหลายรูปแบบ อาทิ ใช้พลังงานทดแทน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนเช่น ปลูกต้นไม้ และธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับกฎระเบียบที่กำลังจะบังคับใช้เร็วๆนี้ นั่นคือ ‘ระบบซื้อขายสิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจก’ (Emissions Trading System : ETS) เป็นกลไกใช้ควบคุมบริษัทหรือองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ปล่อยได้ตามสิทธิที่ถูกกำหนดเป็นจำนวนที่แน่นอน
ปิดท้ายด้วย นัชชา เลิศหัตถศิลป์ Co-founder & CEO และ สิทธิกร นวลรอด Co-founder & Chief Product Officer บริษัท CarbonWize แพลตฟอร์มวัดผลและติดตามฟุตพริ้นท์ โดย นัชชา กระตุกมุมคิดภาคธุรกิจที่กำลังตั้งเป้า Net Zero การจะรู้ว่าถึงศูนย์ ต้องเริ่มจากตรวจวัดสุขภาพร่างกายก่อน แนวทางมีหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ประเมินตนเองเบื้องต้นเพื่อเข้าใจบริบท, มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยวางแผนการเก็บข้อมูลเหมือนมีโคชส่วนตัว จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินและตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำโดยผู้ทวนสอบว่าถูกต้องตามมาตรฐาน เสริมร้างความน่าเชื่อถือให้รายงานสำปรับรายงานที่ต้องอาศัยความเป็นทางการ หรือถ้าหากต้องการรู้เฉพาะจุด สามารถเลือกบางโปรเจ็กต์ หรือบางผลิตภัณฑ์มารายงานได้ ทั้งหมดนี้ เปรียบได้กับการตรวจสุขภาพ มีคุณหมอส่งผลการตรวจ มีแผนการลด แต่สุดท้ายสิ่งที่จะชี้วัดสุขภาพความยั่งยืนของธุรกิจ คือการลงมือแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อการบรรลุเป้าหมาย Zero emissions
จบด้วยข้อมูลน่าสนใจ สิทธิกร เล่าว่า Greenland Ice Sheet Project ตั้งแท่นขุดเจาะที่กรีนแลนด์ จนพบชั้นน้ำแข็งที่มีวงรอบคล้ายวงรอบต้นไม้ น้ำแข็งแต่ละชั้นสามารถบอกภูมิอากาศย้อนไปถึงล้านปี และพบว่าทุก 1 แสนปี ก๊าซคาร์บอนมีปริมาณขึ้น-ลงเป็นวัฏจักร แต่ปัจจุบัน ปริมาณคาร์บอนพุ่งทะยานสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น 8 แสนปีก่อน โลกจึงกำลังจับตาว่าการพุ่งสูงครั้งนี้ของคาร์บอนเมื่อถึงเวลาขาลงจะลดลงมากระดับใด และจะกระทบภูมิอากาศอย่างไร
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon