คนไทยติด-ตายจากโควิด-19 สูงสุดในอาเซียน แพทย์ย้ำวัคซีนยังจำเป็นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

34

มิติหุ้น  –  สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่จบ กลุ่ม 608 และผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางเสี่ยงสุด ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเวทีชวนแพทย์ร่วมให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 พร้อมแนะนำการดูแลตนเองของกลุ่มเสี่ยง ย้ำชัดวัคซีนยังจำเป็นโดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการตายจากโรคได้ ตัวแทนผู้ป่วยจี้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและการเข้าถึงวัคซีน

แม้ว่าโควิด-19 จะถูกจัดให้เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว อารมณ์ความรู้สึกหรือความหวาดกลัวของสังคมต่อการระบาดของโรคก็ลดลงจากช่วงแรกเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของโควิด-19 กลับไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดโดยเฉพาะต่อคนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว กลุ่มเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ประกอบกับที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน กระจายไปในสื่อต่าง ๆ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิด ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงร่วมกันเปิดเวทีเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด19 ถกประเด็นผลกระทบของโรคและความจำเป็นในการดูแลป้องกันสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยมาแบ่งปันความคิดเห็น ประกอบด้วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายธนพลธ์ ดอกแก้ว ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มผู้ป่วย Health Forum และสมาคมโรคเพื่อนไตแห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สิระ กอไพศาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ดำเนินรายการ

ไทยติดเชื้อเพียบ ตายสูงสุดในอาเซียน กลุ่ม 608 ยังเสี่ยงสูง

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโควิด19 และภาระโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงว่า การระบาดของโควิด19 ยังคงมีอัตราสูง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน (16 กันยายน 2567) มีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 7 แสนราย  ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 48,000 ราย และเสียชีวิต 205 ราย ถือว่าเป็นสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ที่ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยประมาณ 490,000 ราย และเสียชีวิต 36 รายแล้ว โควิด-19 ถือว่ามีความรุนแรงที่มากกว่า ทั้งจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตที่มากกว่าอย่างชัดเจน โดยผู้เสียชีวิตนั้น ร้อยละ 80-90 เป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกลุ่ม 608 ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคอ้วน รวมทั้งสตรีมีครรภ์ด้วย การที่ประชากรส่วนใหญ่ห่างหายจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปนาน ถึงแม้หลาย ๆ คนอาจเคยติดเชื้อไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันก็อยู่ไม่นาน ประกอบกับเชื้อมีการกลายพันธุ์ไป สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เกิดโรครุนแรงภาวะแทรกซ้อนได้” รศนพ.ภิรุญ กล่าว

รศนพ.ภิรุญ เผยต่อไปว่ากลุ่มที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อป่วยเป็นโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักสูงขึ้นประมาณ ถึง เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ ถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้มีโรคร่วม “ไม่เพียงแต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ยังส่งผลต่อภาวะโรคที่คนไข้เป็นอยู่ เพราะโควิด-19 ไม่ใช่โรคของทางเดินหายใจเท่านั้น แต่เป็นโรคที่สามารถมีอาการแสดงได้ในหลายอวัยวะ เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปได้ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว ไตวาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น”

ผู้ป่วยโรคหัวใจน่าเป็นห่วง โควิด-19 กระตุ้นความรุนแรงโรค

อันตรายของโควิด-19 ที่รับรู้โดยทั่วไปคือเมื่อลงปอด จะทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น หืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง อยู่แล้ว เมื่อเชื้อลงปอดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาได้ ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจ พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าโควิด-19 ยังส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย

“ในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ เมื่อเป็นโควิด-19 ก็สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ เช่น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ เมื่อเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว อาการจะยิ่งเลวร้ายขึ้นและอาจส่งผลให้อาการทรุดหนักจนถึงขั้นหัวใจวายได้”

วัคซีน ลดความรุนแรง ลดอัตราการตายได้

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า    โควิด-19 ส่งผลกระทบได้กับทุกอวัยวะ อาจก่อให้เกิดผลกระทบเหมือนเป็นลูกโซ่ ต่อทั้งโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาได้ในหลาย ๆ ระบบ แม้กระทั่งผู้ไม่ได้มีโรคประจำตัวมาก่อน ก็พบว่าโรคบางโรคเพิ่มสูงขึ้นหลังหายจากโควิดแล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคทางสมอง เป็นภาวะที่เกิดตามหลังโควิด-19 หรือเรียกว่าลองโควิดซึ่งพบประมาณร้อยละ 15 แต่ในกลุ่ม 608 นั้น โรคมีความรุนแรงทั้งในขณะที่ป่วยอยู่และหลังจากหายป่วยแล้ว

ต่อคำถามว่าวัคซีนยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ศ. พญ.ศศิโสภิณ ยืนยันว่าวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นอยู่ “โควิด-19 มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไปนานแล้ว ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่ต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งข้อมูลปัจจุบันประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-70 ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในคนกลุ่มนี้แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้”

“ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป รวมถึงในแถบเอเชีย อาทิ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ยังคงแนะนำให้ประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต สำหรับประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด สำหรับกลุ่ม 608 โดยแนะนำเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน และไม่ขึ้นกับว่าเคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจำนวนเท่าใด” ศ. พญ.ศศิโสภิณ ชี้แจง

เตรียมพร้อมรับมือ เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูการระบาดของโควิด ช่วงปลายปี

รศนพ.ภิรุญ ชี้ว่าในปีที่ผ่าน ๆ มาเราได้เรียนรู้ว่า จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่มีการเดินทาง ผู้คนหนาแน่น ไปมาหาสู่กัน โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ และช่วงปลายปี ซึ่งตามลักษณะของการระบาด ก็พอจะคาดคะเนได้ว่า ในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ เราก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยการป้องกันตัวเองไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่แออัด และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเตรียมไว้

ยืนยัน วัคซีนโควิด มีความปลอดภัย เสี่ยงน้อยกว่าป่วยเป็นโควิด

ในประเด็นผลข้างเคียงของวัคซีนที่พูดกันอย่างกว้างขวางจนอาจสร้างความสับสน และความเข้าใจไม่ถูกต้องกับประชาชนนั้น พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชี้ว่าหนึ่งในอาการข้างเคียงที่พูดถึงกันบ่อย คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการฉีดในประเทศไทยเอง มีรายงานว่าพบได้ประมาณ 2 ในล้าน ซึ่งจะเกิดเพิ่มขึ้นในวัยรุ่นชายอายุ 18-29 ปี โดยเฉพาะหลังเข็มที่ 2 แต่หลังเข็มกระตุ้น เราแทบจะไม่เจอรายงานเลย โดยถ้าเทียบกับอุบัติการณ์ที่เราเจอในคนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีนก็พบว่าไม่ได้เจอเพิ่มขึ้นหลังเข็มกระตุ้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงจึงไม่มีความกังวลในจุดนี้

“อย่างที่อธิบายไปข้างต้นแล้วว่า โควิด19 เองก็อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้และพบได้บ่อยกว่าการฉีดวัคซีนด้วยซ้ำไป หากจะชั่งน้ำหนักแล้วประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนมีมากกว่าโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงแทบจะเทียบกันไม่ได้” พล.ต.ต. นพ.เกษม กล่าว

นอกจากนี้ ศ. พญ.ศศิโสภิณ ยังกล่าวเสริมด้วยว่าในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัคซีนโควิดมีการฉีดไปแล้วทั่วโลกมากกว่า 13,000 ล้านเข็ม ซึ่งต้องบอกว่ามากกว่าวัคซีนหลาย ๆ ตัวที่มีการใช้มาเป็นสิบ ๆ ปี มีการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิดและโควิด-19 ออกมามากมาย ซึ่งข้อมูลยังคงสนับสนุนว่า วัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะที่ใช้ในปัจจุบัน คือ วัคซีนชนิด mRNA มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่นเดียวกับวัคซีนอื่น ๆ ที่ใช้กันมายาวนาน การที่เราเคยพูดกันถึงการใช้ชีวิตแบบ new normal อย่างเช่นเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอด หลีกเลี่ยงสถานที่พลุกพล่านแออัด ในความเป็นจริงแล้ว ทำได้ยากมาก การฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง

“ที่มีการบอกว่าฉีดแล้วเป็นมะเร็ง ข้อมูลในปัจจุบันไม่พบว่าวัคซีนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง ตามที่ ร.อ. นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้เคยชี้แจงไว้แล้ว สุดท้ายอยากฝากให้ประชาชนติดตามและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันหรือสมาคมทางการแพทย์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ข้อมูลต่อไป” ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าว

ตัวแทนผู้ป่วยวอนภาครัฐ วัคซีนเข็มกระตุ้นต้องมี

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว จากเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มผู้ป่วย Healthy Forum และสมาคมโรคเพื่อนไตแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้เน้นย้ำว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโควิด-19 ด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและประชาชนกลุ่มเสี่ยง

“กลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการระมัดระวังตัวมาโดยตลอดตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เป็นการป้องกันตนเองตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำเองได้ แต่การปกป้องตัวเองด้วยวัคซีนนั้น อยู่นอกเหนือจากความสามารถของเรา จึงอยากเรียกร้องไปถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้ช่วยพิจารณาและจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประชาชน ถึงแม้ว่าวัคซีนอาจไม่จำเป็นสำหรับประชาชนส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังคงมีความจำเป็นสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและประชาชนกลุ่มเสี่ยงอยู่” นายธนพลธ์กล่าว

นอกจากนี้ นายธนพลธ์ยังแสดงความกังวลว่าตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน ไม่มีข้อมูลที่แท้จริงเนื่องจากขาดการติดตามและรายงานอย่างเป็นระบบต่างจากเมื่อเกิดการระบาดใหม่ ๆ “การไม่มีตัวเลขที่เก็บอย่างเป็นระบบระเบียบ เพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางเพราะเมื่อสาธารณชนไม่ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อว่าเพิ่มขึ้นเพียงใด ทำให้ขาดการป้องกันตัวที่ดี ทำให้โรคยิ่งแพร่กระจายได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น ขณะนี้มีเพียงเพจเดียว คือ ไทยรู้สู้โควิด ที่ยังคงให้ความสนใจและติดตามรวมทั้งนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งตัวเลขจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยสะสม แม้ว่าตัวเลขอาจจะไม่สมบูรณ์ แต่พอจะเป็นแนวทางให้ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางรวมทั้งคนในสังคมพอจะมองเห็นภาพของโควิด-19 ในบ้านเราได้ จึงอยากขอให้ติดตามเพจนี้ไว้ด้วย”

แม้ในวันนี้ เราอาจจะลืมเลือนโควิด-19 กันไปแล้ว แต่โควิด-19 ยังคงไม่ลืมและจะอยู่กับเราตลอดไป ซึ่งในประเทศไทยนั้น จากข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบว่ามีการระบาดใหญ่สองช่วง คือ เทศกาลสงกรานต์และช่วงปลายปีที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากตามสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า จะพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้อาการผู้ป่วยรุนแรง และมีความเสี่ยงต่อชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon