กนง. เริ่มลดดอกเบี้ย และมีแนวโน้มจะลดอีกครั้งภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

32

มิติหุ้น  –  กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% โดย 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% เนื่องจาก กนง. เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงนี้จะไม่ได้ฉุดรั้งกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt deleveraging) ท่ามกลางภาวะสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง (รูปที่ 1) และเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในขอบเขตสอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย กล่าวคือเป็นระดับที่ไม่ได้กระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจ ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าการสื่อสารของ กนง. ไม่ได้ Dovish ลงจากการประชุมครั้งก่อนมากนัก เพราะยังให้ความสำคัญกับเสถียรภาพระบบการเงิน การรักษา Policy space ของนโยบายการเงิน และมุมมองอัตราดอกเบี้ยไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการสะสมความเสี่ยงในระยะยาว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน กนง. ยังมองภาพใกล้เคียงเดิม โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 2.7%YOY และ 2.9%YOY ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ใกล้เคียงประมาณการในการประชุมเดือนมิถุนายนที่ 2.6%YOYและ 3.0%YOY ตามลำดับ ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.5% และ 1.2% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ลดลงจากประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายนที่ 0.6% และ 1.3% เล็กน้อย ส่วนภาวะการเงินตึงตัวขึ้นตามการแข็งค่าของเงินบาท และปริมาณสินเชื่อโดยรวมที่เติบโตชะลอลง โดยกลุ่มธุรกิจ SMEs เผชิญภาวะสินเชื่อหดตัวสูงขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลงต่อเนื่อง โดย กนง.จะติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อตลาดสินเชื่อและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

IMPLICATIONS

SCB EIC มอง กนง. จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะการเงินเป็นหลัก โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการปรับลดเพื่อผ่อนคลายภาวะการเงิน ท่ามกลางภาวะสินเชื่อที่เติบโตชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อทยอยปรับด้อยลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ภาวะการเงินตึงตัวจะส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งสะท้อนในการสื่อสารของ กนง. รอบนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพยายามรักษาสถานะความเป็นกลาง (Neutral stance) ของนโยบายการเงินไว้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ กนง. ประเมินว่ายังใกล้เคียงกับการประชุมครั้งก่อน และยังให้ความสำคัญปัจจัยเสถียรภาพระบบการเงินเช่นเดียวกับการประชุมครั้งก่อน ๆ โดย กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยควรมีบทบาทในกระบวนการ Debt deleveraging โดยไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการกระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงทำให้จังหวะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับผลกระทบของภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นหลัก

SCB EIC ประเมินว่าจะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งภายในไตรมาส 1/2025 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม โดยภาพเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อชะลอตัวจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความน่ากังวลของสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า แต่จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง

1) สถานการณ์สินเชื่อ SCB EIC ประเมินว่า นอกจากความกังวลของ กนง. เกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจ SMEs แล้ว การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม จากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินซึ่งจะยังมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น (รูปที่ 2) สอดคล้องกับคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ปรับด้อยลงอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 3)

2) ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประเมินว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะปรับสูงขึ้นตามความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อภาคการส่งออกสินค้าไทยได้ แม้ปัจจุบันการส่งออกจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง และ

3) ภาวะการเงินโลกจะผ่อนคลายลงต่อเนื่อง ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก สภาพแวดล้อมทางการเงินโลกจะเอื้อต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากขึ้น

SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งไปอยู่ที่ 2% ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon