ซีเควสต์ เร่งปั้นบุคลากรทักษะสูงด้านเทคโนโลยี ROV รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมทางทะเล

20

มิติหุ้น  –  บริษัท ซีเควสต์ จำกัด (ZeaQuest Co., Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เมอร์เมด ซับซี เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (ARV) ในเครือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เร่งผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ หรือ ROV Pilot เพิ่มขึ้น 30 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Exploration and Production หรือ E&P) ในประเทศไทย และการขยายตัวของตลาดพลังงานในระดับโลก

อุตสาหกรรมทางทะเลกำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีความต้องการในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับกิจกรรมวิศวกรรมทางทะเล ตั้งแต่งานติดตั้งและซ่อมแซมท่อส่งน้ำมันใต้น้ำ งานตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างใต้ทะเล งานสำรวจทางธรณีวิทยาใต้น้ำ งานค้นหาทรัพยากรธรรมชาติและสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นมหาสมุทร ฯลฯ หลายบริษัทฯ เริ่มนำหุ่นยนต์มาใช้ในกิจกรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยผู้ปฏิบัติงานจากระยะไกล (ROV – Remotely Operated Vehicle) หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้อย่างอิสระปราศจากการควบคุมจากมนุษย์ (AUV – Autonomous Underwater Vehicle) และยานพาหนะผิวน้ำไร้คนขับ (USV – Unmanned Surface Vehicles) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ในประเทศไทยที่กำลังขยายตัว พบว่ามีสัดส่วนการใช้งาน ROV อยู่ที่ร้อยละ 70  ขณะที่ AOV และ USV อยู่ที่ร้อยละ 30

คุณธษภิชญ ถาวรสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเควสต์ จำกัด เปิดเผยว่า “บริษัท ซีเควสต์ฯ จึงเล็งเห็นโอกาสในการนำยานพาหนะใต้น้ำที่ควบคุมจากระยะไกล (ROV) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ในการปฏิบัติงานใต้ทะเลมาใช้ เพื่อลดต้นทุนการให้บริการงานวิศวกรรมใต้ทะเล ลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของนักประดาน้ำ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบและในการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงและสำรวจโครงสร้างใต้ทะเลมากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ (ROV) ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะทาง เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้มีความซับซ้อนและต้องการการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ หลายบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันยังช่วงชิงตัวบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ทำให้ค่าใช้จ่ายจัดจ้างบุคลากรสายงานนี้อยู่ในระดับสูงมาก ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) จึงสูงขึ้นตามมา หลายบริษัทจึงเลือกใช้ฟรีแลนซ์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินงานแทน แต่ก็จะขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะในระยะยาว

“การขาดแคลนบุคลากรเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมทางทะเล เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จึงเป็นเหตุผลที่บริษัท ซีเควสต์ ฯ ริเริ่มโครงการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ (ROV Pilot Development Program) โดยจัดฝึกอบรมการซ่อมบำรุงและควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ ณ ศูนย์ฝึกอบรมในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี ภายในมีสระน้ำลึกประมาณ 7 เมตรรวมถึงการให้โอกาสผู้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษาการทำงานผ่านการปฏิบัติงานจริงร่วมกับบุคลากรต่างชาติ เพื่อให้เข้าใจปัญหาต่างๆ ในการทำงานมากขึ้น ปัจจุบันบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 3 ท่าน ได้มีทักษะด้านเทคนิคผ่านเกณฑ์ในการเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ใต้ทะเลขั้นต้นที่ต้องมีชั่วโมงการทำงานตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และเนื่องจากบริษัท ซีเควสต์ฯ สามารถดำเนินธุรกิจการสำรวจ ตรวจสอบและซ่อมบำรุงโครงสร้างใต้ทะเลได้อย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทฯ จึงมีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตบุคลากรผ่านโครงการอบรมหลักสูตร ROV ของบริษัท เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญอันทรงคุณค่าของอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน” คุณธษภิชญ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ บุคลากรในโครงการอบรมหลักสูตร ROV ของบริษัท ซีเควสต์ ฯ จะต้องผ่านมาตรฐานของสมาคมผู้รับเหมาทางทะเลระหว่างประเทศ (IMCA – International Marine Contractors Association) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ Pilot ระดับ 1, Pilot ระดับ 2, Sub-Engineer และ Supervisor นอกจากนี้ ยังต้องสะสมชั่วโมงบินในการทำงานจริง คล้ายกับกระบวนการฝึกของนักบินอีกด้วย

ปัจจุบัน บริษัท ซีเควสต์ฯ มีบุคลากรด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำที่ได้รับการรับรองแล้วจำนวน 3 คน และในปีนี้ จะมีบุคลากรได้การรับรองเพิ่มขึ้นอีก 4 คน รวมเป็น 7 คน

โครงการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำหรือ ROV Pilot Development ที่ดำเนินการโดยบริษัท ซีเควสต์ ฯ จึงนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย ทั้งยังมีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

คุณธษภิชญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในอนาคต บริษัท ซีเควสต์ ฯ วางแผนที่จะยกระดับการฝึกอบรมบุคลากรโดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ เช่น การติดตั้งเครื่องจำลองสถานการณ์ (Simulator) โครงสร้างสำหรับการฝึกซ่อมบำรุง และเครื่องสร้างคลื่น เพื่อเพิ่มความสมจริงในการฝึกทักษะการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมความพร้อมให้กับบุคลากรไทยในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาบุคลากรให้เพิ่มขึ้นเป็น 30 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมเวทีโลก รวมทั้ง บริษัท ซีเควสต์ ฯ ยังมุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon