ยูนิเซฟและพันธมิตรเรียกร้องให้ขยายวันลาเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับค่าจ้าง เพื่อสนับสนุนครอบครัววัยทำงาน

24

มิติหุ้น  –  ยูนิเซฟร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จัดประชุมเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางความคิดในหัวข้อ “การสนับสนุนพ่อแม่มือใหม่ด้วยวันหยุดเลี้ยงดูบุตร: สถานการณ์ปัจจุบัน แนวปฏิบัติ และการขับเคลื่อนต่อไป”  โดยเชิญตัวแทนภาครัฐและเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนถึงประโยชน์ของการขยายวันลาเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับค่าจ้างสำหรับแม่และพ่อ และนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อครอบครัวเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็ก

ในการประชุมครั้งนี้ ยูนิเซฟและพันธมิตรเรียกร้องให้ภาครัฐและเอกชนขยายวันลาเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับค่าจ้างให้กับพนักงานทั้งหญิงและชาย เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงแรกของชีวิตที่สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการสร้างการเชื่อมต่อใหม่ถึง 1,000 จุดต่อวินาที ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต โดยผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ให้เห็นว่าการขยายวันลานี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ครอบครัว และธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ยูนิเซฟได้ทำการสำรวจบริษัท 10 แห่ง โดยพบว่า การขยายสิทธิวันลาช่วยเสริมสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ลดอัตราการลาออก และประหยัดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานใหม่ นอกจากนี้ ยังช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูง และยังพบว่าผู้หญิงร้อยละ 43 และผู้ชายร้อยละ 71 ระบุว่าสิทธิลาคลอดแบบได้รับค่าจ้างเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกบริษัท

คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ช่วงขวบปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่มีค่าอย่างไม่มีอะไรมาทดแทนได้ ในช่วงนี้ทารกต้องการการดูแลใส่ใจ ความผูกพันจากพ่อแม่ โภชนาการที่เหมาะสม และการดูแลสุขภาพที่จำเป็น เช่น การสร้างภูมิคุ้มกัน พ่อแม่วัยทำงานต้องมีเวลาและให้สิ่งเหล่านั้นกับลูก ทำให้การลาเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับค่าจ้างเป็นสิ่งจำเป็นที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งเด็ก ครอบครัว นายจ้าง และสังคมโดยรวม โดยเฉพาะในสังคมสูงวัยอย่างประเทศไทย ซึ่งไม่มีการลงทุนใดจะสำคัญมากไปกว่าการลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย”

แอนนา ฮัมมาร์เกรน เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า สวีเดนได้ประจักษ์ถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการลงทุนในนโยบายที่สนับสนุนครอบครัวโดยตรง ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราได้ให้ความสำคัญกับโครงการต่าง ๆ เช่น การลาคลอดบุตรและการให้เงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตร ประสบการณ์ของเราชี้ให้เห็นว่าความพยายามเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคมและเศรษฐกิจของเราโดยรวมอีกด้วย เราภูมิใจที่บริษัทสวีเดนจำนวน 12 แห่งในประเทศไทยเป็นผู้นำในการให้คำมั่นว่าจะให้สิทธิการลาคลอดบุตรเป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนผู้ปกครองในที่ทำงาน

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน ในเรื่องนโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร โดยมีจำนวนวันลาที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าอย่างชัดเจน ทั้งนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศแนะนำให้แม่สามารถลาคลอดอย่างน้อย 18 สัปดาห์ แต่แม่ในภาคเอกชนไทยได้รับวันลาเพียง 98 วัน หรือ 14 สัปดาห์ โดยได้ค่าจ้างเต็มจำนวนจากนายจ้างเพียง 45 วัน และได้รับเงินจากสวัสดิการประกันสังคม 45 วันไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แม่ที่ทำงานในภาครัฐสามารถลาคลอดได้สูงสุด 6 เดือน ทั้งนี้ สิทธิลาของพ่อยังต่างกันมาก โดยพ่อที่ทำงานในภาครัฐมีสิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับค่าจ้าง 15 วัน แต่ภาคเอกชนยังไม่มีนโยบายนี้เลย

การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการลาคลอดที่นานขึ้นช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลดอัตราการเสียชีวิตของทารก และส่งเสริมพัฒนาการทางปัญญาของเด็ก ขณะเดียวกันก็ช่วยให้แม่รับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ดีขึ้น การขยายสิทธิพ่อลาคลอดยังช่วยให้พ่อมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกมากขึ้น สร้างสมดุลความรับผิดชอบและกระชับสายสัมพันธ์ในครอบครัว

จากการสำรวจพบว่าแม่ 7 ใน 10 คนและพ่อ 3 ใน 10 คนเห็นว่าสิทธิลาเลี้ยงดูบุตรในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ โดยแม่หลายคนต้องการลาคลอดอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อให้นมลูกซึ่งสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งนี้ จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟในปี 2565 พบว่าเด็กในประเทศไทยเพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก

ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้บริหารสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) กล่าวว่า “การขยายระยะเวลาการลาคลอดแบบมีค่าตอบแทนในประเทศไทย มิไม่ใช่เพียงสวัสดิการของพนักงานเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์เพื่ออนาคตของชาติที่ไม่อาจมองข้าม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพเด็ก ความเป็นอยู่ที่ดีของพ่อแม่ การขับเคลื่่อนเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางเพศ และความมั่นคงของสังคมโดยรวม เราต้องดำเนินการเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากการขยายสิทธิลาเลี้ยงดูบุตร ยูนิเซฟยังเรียกร้องให้ภาครัฐและเอกชนนำนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวมาปฏิบัติอย่างทั่วถึง โดยสอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมและครอบคลุมถึงครอบครัวที่มีบุตรบุญธรรม พร้อมทั้งจัดให้มีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมการให้นมบุตร การจัดเวลาทำงานแบบยืดหยุ่น การจัดบริการดูแลเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม และการจัดสรรสวัสดิการสำหรับเด็ก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเด็กและครอบครัว ตลอดจนการพัฒนาทุนมนุษย์อันเป็นรากฐานสำคัญของภาคธุรกิจและสังคมไทย

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon