THOHUN ผนึกกำลังเครือข่าย ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวเชียงราย

17

มิติหุ้น  –   วิกฤตอุทกภัยจากน้ำป่า ดินถล่ม และทะเลโคลน ที่ประชาชนจังหวัดเชียงรายนับพันครัวเรือนต้องเผชิญอย่างไม่ทันตั้งตัว สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมเป็นมูลค่ามหาศาล หลายหน่วยงานต่างเร่งระดมกำลังเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบอุทกภัยในห้วงเวลานั้นตามความสามารถ ร่วมกันกู้วิกฤตฟื้นฟูบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เสียหาย เพื่อให้พี่น้องชาวเชียงรายได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเดิมให้ได้เร็วที่สุด หนึ่งตัวอย่างการร่วมมือร่วมใจกู้ภัยในครั้งนี้ คือ เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) ที่มีสมาชิกซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย มูลนิธิ THOHUN จับมือพันธมิตรสถาบันอาชีวศึกษา และวิทยาลัยเทคนิค ลงพื้นที่ร่วมเยียวยาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวเชียงรายอย่างเต็มกำลัง

รศ.ดร.แสงเดือน มูลสม ผู้ประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) เล่าถึงที่มาของการสานพลังช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัยว่า “เนื่องจาก THOHUN มีความร่วมมือเชิงนโยบายกับกระทรวงต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังการระบาดของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ และภัยทางด้านสุขภาพ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา THOHUN ได้จัดทำหลักสูตรด้านสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อเตรียมความพร้อมคุณครูและนักเรียนอาชีวศึกษา ในการป้องกันโรคระบาด เช่น รู้จักใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล หรือ PPE เป็นต้น”

“สำหรับอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแล้ว THOHUN ยังได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่ตามมาหลังจากน้ำเริ่มลดลง ก็คือสภาพบ้านเรือนและของใช้ที่เสียหายของประชาชน THOHUN จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรสถาบันอาชีวศึกษาและวิทยาลัยเทคนิค นำคณาจารย์และนักศึกษาช่างเทคนิค ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ และคณาจารย์จากเครือข่ายมหาวิทยาลัย 16 มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ ลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตำบลแม่ยาว กับอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย หลังน้ำลด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความร่วมมือท่ามกลางภาวะฉุกเฉิน นอกจากมีวิทยาลัยเทคโนโลยีมีนบุรีโปลีเทคนิคแล้ว ยังมีคุณครูของวิทยาลัยอาชีวศึกษาจันทร์รวี มาเป็นกำลังเสริมในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นของประชาชนอีกด้วย”

“ผลของการลงมือทำโครงการอาสาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนถึงสองทุ่ม ระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายน 2567 ทางทีมงาน ได้ซ่อมรถจักรยานยนต์จำนวน 200 คัน เครื่องยนต์สำหรับงานเกษตรกรรมจำนวน 120 คัน อีกทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าของชาวบ้าน 147 ครัวเรือนในตำบลแม่ยาว และตำบลริมกก จังหวัดเชียงราย จำนวนทั้งสิ้น 178 ชิ้น สามารถนำกลับมาใช้งานได้ปกติ ในด้านการเยียวยาผลกระทบทางสุขภาพ มีทีมแพทย์ และพยาบาล ตรวจประเมินปัญหาสุขภาพ ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และดูแลเบื้องต้น อีกทั้งยังมีนักสิ่งแวดล้อมมาตรวจคุณภาพน้ำอุปโภค บริโภค ให้ข้อเสนอแนะและช่วยเหลือในการปรับคุณภาพน้ำให้มีความปลอดภัย โดยค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู 147 ครัวเรือน มีต้นทุนค่าใช้จ่าย 1,800 บาท/ครัวเรือน ซึ่งนับเป็นความคุ้มค่าอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งคือทำให้เกิดเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างนักวิชาการกับช่างเทคนิคยิ่งไปกว่านั้น โครงการอาสาจากการริเริ่มของ THOHUN ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายและพันธมิตร ได้กลายมาเป็นโมเดลการทำงานแบบบูรณาการ ของสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งถึงแม้ THOHUN ไม่ได้อยู่ทำงานต่อในพื้นที่ แต่ก็ยังมีการบรรจุแผนช่วยเหลือต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ ทั้งมีการสร้างทีมช่างเพื่อลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนในอนาคตอันใกล้ มีแนวคิดอันดับแรกที่ THOHUN อยากให้เกิดขึ้นเหมือนกับที่อาชีวศึกษาเริ่มแล้วก็คือ มีการพูดคุยและระดมความคิดของภาคส่วนการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชน ถึงความร่วมมือหรือแผนที่ใช้ได้จริงในการรับมือกับภัยพิบัติ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมากขึ้นทุกวัน และน้ำท่วมอาจเป็นปัญหาปลายทาง ดังนั้น ควรมีการหารือกันแผนที่ต้องทำของภาคส่วนต่าง ๆ ก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัยพิบัติ รวมทั้ง มีการจัดตั้งทีมเพื่อกำหนดว่า เวลาเกิดอุทกภัยแล้วหน่วยงานไหนที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมบ้างเมื่อน้ำลดแล้ว จะเป็นทีมไหนที่เข้าไปฟื้นฟูต่อ เป็นต้น”

“ในวันนี้ที่ THOHUN ได้ทำไปแล้วคือ การระดมสรรพกำลังจากกรุงเทพฯ ไปเชียงราย แต่เมื่อไรที่เรามีทีมที่ประจำแต่ละภาคแต่ละจังหวัด เราจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้อีก แม้ว่า 1,800 บาท/ครัวเรือน จะไม่มากนัก แต่ถ้าลดได้มากกว่านี้ก็จะทำให้ เรามีกำลังช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการระดมกำลังทรัพย์ การสนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งประธานมูลนิธิ THOHUN ก็มีแนวคิดจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นกองกลางไว้ก่อน หากเกิดเหตุก็สามารถไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้ทันที” รศ.ดร.แสงเดือน กล่าวถึงทิ้งท้าย