CHAYO งบ Q3/67 สุดปังทั้งรายได้และกำไร งวด 9 เดือนรายได้พุ่ง 38.85% มั่นใจรายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 20% หลังเดินหน้าซื้อหนี้เข้าพอร์ตช่วงไฮซีซั่น

35

มิติหุ้น  –  CHAYO งบไตรมาส 3/2567 รายได้ออกมาแจ่มโต 39.83% กำไรพุ่ง 59.24% จากดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพและดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือน รายได้สุดปังเพราะได้ยอดจัดเก็บหนี้และรายได้ขายหลักประกันของหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นถึง 89.10% หลังบริษัทซื้อพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพฯ เติมอย่างต่อเนื่อง ส่วนกำไรสุทธิลดลงเล็กน้อย เหตุช่วงไตรมาส 1 บริษัทมีตั้งขาดทุนด้านเครดิตจากการปรับประมาณพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพ แต่ฟันธงผลงานปีนี้ทำได้ตามเป้าแน่นอน ลั่นรายได้จะโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานบริษัทฯ ไตรมาส 3/2567 มีรายได้รวม 526.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.83% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 376.43 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ทั้ง 2 ประเภทคือ ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวน 139.36 ล้านบาท และจากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่มีรายได้ 38.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 10.39 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่รายได้จากการบริการเร่งรัดหนี้สินมีจำนวน 7.26 ล้านบาท ลดลง 15.12% ซึ่งมีสาเหตุจากที่บริษัทฯ มอบหมายพนักงานให้ติดตามทวงถามหนี้เสียที่กลุ่มบริษัทซื้อมาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้การติดตามทวงถามหนี้ของผู้ว่าจ้างภายนอกลดลง ส่วนรายได้จากการให้บริการจัดหาคนไตรมาส 3/2567 มีรายได้ 6.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1.47 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 3 นี้ บริษัทฯ ได้รับงานจากผู้ว่าจ้างเพิ่มขึ้นส่งผลให้รายได้ธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น

ด้านกำไรสุทธิไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 138.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.24% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ 87.08 ล้านบาท เพราะสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นได้

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือน บริษัทมีรายได้ 1,498.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1,079.32 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นโดยหลักทั้งจากดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และจากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งบริษัทมียอดจัดเก็บจากหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและยอดรายได้จากการขายหลักประกันของหนี้ด้อยคุณภาพ จำนวน 572.01 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 89.10% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 302.49 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีการซื้อพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพชนิดมาบริหารเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ส่วนรายได้ดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อ จำนวน 113.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50.22% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 75.76 ล้านบาท และ ณ สิ้น 30 กันยายน 2567 มียอดลูกหนี้เงินให้กู้ยืมอยู่ที่ 1,051.89 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 861.66 ล้านบาท

ส่วนรายได้จากการบริการเร่งรัดหนี้อยู่ที่ 21.14 ล้านบาท ลดลง 22.85% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 27.4 ล้านบาท เนื่องจากให้พนักงานติดตามทวงถามหนี้เสียที่กลุ่มบริษัทซื้อมากขึ้น จึงส่งผลให้รายได้การติดตามทวงถามหนี้ของผู้ว่าจ้างภายนอก ขณะที่รายได้การให้บริการจัดหาคนอยู่ที่ 15.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.09% จากงวดเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 12.61 ล้านบาท เพราะบริษัทรับงานมากขึ้นหลังเปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566

ส่วนกำไรขั้นต้นสำหรับงวด 9 เดือนอยู่ที่ 1,241.31 ล้านบาท หรือคิดเป็น 82.80% ของรายได้ เพิ่มขึ้นจากงวด 9 เดือนของปีก่อนจำนวน 357.09 ล้านบาท หรือ 40.39% สาเหตุมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นจากธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ สำหรับกำไรสุทธิงวด 9 เดือน อยู่ที่ 286.74 ล้านบาท ลดลง 6.95%  จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 308.15 ล้านบาท เพราะบริษัทฯ มีการตั้งขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2567 เนื่องจากการปรับประมาณการพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพประกอบกับมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น

นายสุขสันต์  กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2567 โตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อนที่ทำได้ 1,527.07 ล้านบาท จากแผนเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL&NPA) มาบริหารอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าซื้อหนี้เสียเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุน 500 – 1,000 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน บริษัทฯ มีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (หนี้เสีย) ที่บริหารอยู่ในมือจำนวน 103,528 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เสียที่มีหลักประกันจำนวน  20,812 ล้านบาท และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจำนวน 82,716 ล้านบาท (โดยไม่รวมทรัพย์ที่รอการขาย หรือ NPA อีกจำนวน 566.79 ล้านบาท) ขณะที่สถานะทางการเงินปัจจุบันของบริษัทถือว่ายังมีความแข็งแกร่ง มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.07 เท่า

“ปกติช่วงไตรมาส 3 – 4 จะเป็นฤดูกาลไฮซีซั่นของธุรกิจ เพราะจะมีมูลหนี้ที่ทางสถาบันการเงินเปิดประมูลออกมาจำนวนมากกว่าครึ่งปีแรก ทำให้ราคาไม่สูงนัก และสิ่งที่บริษัทฯ ยังเน้นเสมอในการซื้อหนี้ใหม่เพื่อเติมพอร์ต คือต้องมีช่วงระดับราคาที่มีความเหมาะสมและไม่แพงเกินไป เพราะไม่อยากให้กลุ่มลูกหนี้มีภาระทางการเงินเพิ่ม ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบริษัทฯ ประเมินว่าจะมีจำนวนหนี้ด้อยคุณภาพที่เปิดประมูลลดลงหรือใกล้เคียงกับปีก่อนที่ระดับ 400,000 ล้านบาท” นายสุขสันต์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯ พร้อมเดินหน้านโยบายการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามนโยบายภาครัฐในการช่วยแก้ปัญหาหนี้ของประเทศเพื่อบรรเทาภาระการชำระหนี้ครัวเรือน โดยมุ่งเน้นการวางแผนผ่อนชำระให้สอดคล้องกับความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย เช่นเดียวกับธุรกิจการบริการเร่งรัดติดตามหนี้สินเพื่อเข้าสู่การเจรจา ปรับโครงสร้างหนี้และช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายกรณี โดยกำหนดวงเงินผ่อนชำระขั้นต่ำให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้เป็นหลัก

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon