TATG เผยผลงาน 9 เดือนปีนี้ ปั๊มรายได้ 2,040 ลบ. เดินหน้าลงทุนเครื่องจักรใหม่ รองรับดีมานด์อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้น

62

มิติหุ้น  –  ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) หรือ TATG ผู้ออกแบบและผลิตเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ (Tooling) ครอบคลุมถึงการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำหรับปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Stamping Dies) อุปกรณ์จับยึดเพื่อการตรวจสอบ (Checking Fixtures) อุปกรณ์จับยึดเพื่อการประกอบ (Assembly Jigs) และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Automotive Press Parts) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567) บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,040.37 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการผลิตฝาครอบหม้อลมเบรครถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจำนวน 85.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.22 โดยมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการมี Model รถยนต์ออกใหม่ ทำให้มีความต้องการฝาครอบหม้อลมเบรคสูงขึ้น ส่งผลให้มีรายได้จากการบริการที่เพิ่มขึ้น 86.82 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.85 จากการที่กลุ่มลูกค้าผู้ผลิตรถยนต์เริ่มออก Model รถยนต์ใหม่ และมีกำไรสุทธิ 52.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มบริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขาย ต้นทุนการขาย และบริการได้ดีกว่าปีก่อน

ทั้งนี้จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อรถยนต์มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ผู้ผลิตยานยนต์ยังเน้นตั้งรับ เพื่อรอประเมินสถานการณ์และการตอบรับการขยายตัวยานยนต์ไฟฟ้าทั้งภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ทำให้มีการคาดการณ์ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศ ปี 2567 อยู่ที่ราว 550,000 คัน ซึ่งต่ำกว่ายอดการผลิตในปี 2566 ที่ 685,628 คัน ขณะที่การผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกในปี 2567 คาดการณ์ไว้ที่ 1,150,000 คัน จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 1,156,035 คัน

“เนื่องจาก TATG มีจุดเด่น ด้านการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และเป็น One Stop Service เข้าถึงทุกกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงทำให้มั่นใจในศักยภาพของบริษัทฯ ถึงแม้ว่าสภาวะอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัว ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในเป้าหมายการดำเนินธุรกิจควบคู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี และการให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และความสามารถในการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.พยุง กล่าวทิ้งท้าย