ก.ล.ต. จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ “SEC Capital Market Symposium 2024” ส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยขับเคลื่อนตลาดทุน

22

มิติหุ้น  –  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนาวิชาการ “SEC Capital Market Symposium 2024” ซึ่งจัดต่อเนื่องทุกปี เพื่อสนับสนุนผลงานวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมในตลาดทุน เสริมสร้างความร่วมมือในการทำวิจัยและเผยแพร่ผลงานด้านวิชาการที่เกี่ยวกับตลาดทุน โดยเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำผลงานด้านวิชาการมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายด้านการกำกับและพัฒนาตลาดทุนต่อไป พร้อมชูงานวิจัยเกี่ยวกับความสนใจและพฤติกรรมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของผู้ลงทุนไทยในหุ้นและกองทุนรวม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567

การสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวเปิดการสัมมนา โดยได้กล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล เพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาดทุน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ข้อมูลและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ เพื่อให้การกำกับดูแลและการพัฒนาตลาดทุนมีประสิทธิภาพ และศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้กล่าวปาฐถกา ในหัวข้อ “ความสำคัญของงานวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาตลาดทุน” โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของงานวิจัยและการนำข้อมูลมาช่วยออกแบบและดำเนินนโยบาย พร้อมทั้งยกตัวอย่างการทำงานวิจัยเพื่อประกอบการทำหน้าที่กำกับและพัฒนาตลาดทุนของ ก.ล.ต. เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับการเสวนาหัวข้อ “เตรียมพร้อมสู่อนาคต: การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันและการปรับตัวของตลาดทุนไทย” มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากภาควิชาการและภาคธุรกิจจากหลากหลายสาขา ได้แก่ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายเกษม พันธ์รัตนมาลา อุปนายก สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน นายศรชัย สุเนต์ตา นายกสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์ และศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งดำเนินรายการโดย นางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายยุทธศาสตร์และแผนงาน ก.ล.ต โดยผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะมีผลกระทบต่อตลาดทุนไทยและแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ

นอกจากนี้ มีการนำเสนองานวิจัยที่เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานวิจัยหัวข้อ “Sustainable Investing in Thailand: Patterns and Preferences” ที่ได้ทำการศึกษาความสนใจและพฤติกรรมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของผู้ลงทุนไทยในหุ้นและกองทุนรวม โดยงานวิจัยนี้จะช่วยทำให้เข้าใจผู้ลงทุนได้ชัดเจนมากขึ้น โดยผลการวิจัยพบว่า ผู้ลงทุนให้ความสนใจในการลงทุนเพื่อความยั่งยืน แสดงถึงแนวโน้มและโอกาสในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนที่สามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่จัดทำโดยผู้วิจัยจาก ก.ล.ต. ใน 2 หัวข้อ ดังนี้

         (1) The Rise of Finfluencers: Mapping the Landscape on Thailand’s Capital Market งานวิจัยที่ศึกษา Landscape ของ Finfluencer ในประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจประเภทและเนื้อหาที่ผลิตโดย Finfluencer ผ่านการทำ Content analysis และศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนและตลาดทุนไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ Stakeholders ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ในการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในตลาดทุนทั่วโลกและตลาดทุนไทย

         (2) Expected Bond Liquidity on Thailand Bond Market งานวิจัยที่ทำการสร้างแบบจำลอง machine learning เพื่อใช้คาดการณ์สภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทย

นอกจากนี้ ในการสัมมนายังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมนำเสนองานวิจัยเชิงนโยบายตลาดทุนอีกหลายหัวข้อ เช่น

  • Assessing the Impact of One Report Regulation on Integrated Reporting: a Cluster-Based Comparative Study of Thai-Listed Companies
  • Share Pledging and Asset Prices Evidence from the Thai Stock Market
  • Does Observability of Downgrade Risk Matter for Corporate Investment

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาและงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/MarketData/sec_wpf.aspx

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon