มิติหุ้น – นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แม้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยยังคงมีความผันผวน แต่ยังคงมีปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมพลังงาน และโรงกลั่นในปี 2568 อยู่บ้าง โดยความต้องการน้ำมันอากาศยานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเที่ยวบินพาณิชย์ โดยเฉพาะในเอเชียที่มีอัตราการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงซึ่งไทยออยล์ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดประมาณ 50% รวมถึงอุปสงค์ของน้ำมันดีเซลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย ส่วนตลาดน้ำมันเบนซินแม้ความต้องการใช้ยังคงเติบโตแต่อาจจะได้รับแรงกดดันจากอุปทานของโรงกลั่นใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการผลิตในปีหน้า ทำให้ค่าการกลั่นมีแนวโน้มฟื้นตัวได้บ้างในปี 2568 อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังคงจะเป็นปัจจัยบวก
ต่อธุรกิจโรงกลั่นในระยะยาว”
ต่อธุรกิจโรงกลั่นในระยะยาว”
ไทยออยล์พร้อมรับมือกับความท้าทาย และคว้าโอกาสในการเติบโตโดยกำหนดกลยุทธ์หลัก 4 ด้านในปี 2568 ประกอบด้วย
· – เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโรงกลั่น (Strengthen Refinery Business) และเร่งเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาด (CFP) : ไทยออยล์ให้ความสำคัญกับโครงการพลังงานสะอาดที่ถือเป็นกุญแจหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับไทยออยล์ในระยะยาว รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการเพิ่มผลผลิต (Productivity Improvement) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และควบคุมต้นทุนสำหรับความคืบหน้าโครงการ CFP มีความสำเร็จส่วนแรก คือ การทดลองเดินเครื่องจักรหน่วยกำจัดกำมะถันในน้ำมันดีเซล (HDS-4) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro 5 ซึ่งสนับสนุนนโยบายการใช้น้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นของภาครัฐในต้นปี 2567 โครงการ CFP อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างหน่วยผลิตต่างๆ และได้นำเครื่องจักรหลักเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้หน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 4 (CDU-4) มีความคืบหน้าไปมากกว่าส่วนงานอื่นๆ ในขณะที่หน่วย Residue Hydrocracking Unit (RHCU) ซึ่งเป็นหน่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตา และยางมะตอยให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลนั้น อยู่ระหว่างเร่งติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรและเชื่อมต่อระบบท่อต่างๆ โดยเป็นหน่วยผลิตที่มีความสลับซับซ้อนอยู่ในพื้นที่จำกัด จึงมีความคืบหน้าของงานน้อยกว่าหน่วยผลิตอื่น
-
ขยายห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Extension): มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย และขยายตลาดไปยังประเทศที่มีศักยภาพสูง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อยอดธุรกิจสารเคมีในกลุ่มสารฆ่าหรือยับยั้งเชื้อโรคและสารลดแรงตึงผิว (Disinfectant & Surfactants: D+S) โดยมีบทบาทสำคัญในตลาดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่มีแนวโน้มเติบโตสูง นอกจากนี้ ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน TOP for The Great Future ไทยออยล์ยังเดินหน้าศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. และพันธมิตรอื่นๆ เช่น Bio surfactant, Blue หรือ Green Hydrogen, น้ำมันอากาศยานชีวภาพ (Bio Jet),การดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS)
· – เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน (Financial Strength): ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับน่าลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
-
ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน (Drive for Sustainability): มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างคุณค่าให้กับสังคม และชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น
การส่งเสริมการศึกษา การสร้างอาชีพ และการเข้าถึงสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล
นายบัณฑิต กล่าวเสริมว่า “เรามั่นใจว่ากลยุทธ์ทั้ง 4 ด้านนี้จะช่วยให้ไทยออยล์สามารถรับมือกับความท้าทายและบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว พร้อมสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้น และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย”
ทั้งนี้ ไทยออยล์มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วงของ UJV – Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (“Samsung”), Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (“Petrofac”) และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (“Saipem”) ได้ลงมติจะไม่ดำเนินงานก่อสร้างโครงการ CFP หาก UJV– Samsung, Petrofac และ Saipem
ไม่ชำระหนี้ค้างชำระทั้งหมด ซึ่งไทยออยล์ตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้รับเหมาช่วงที่ไม่ได้รับเงินดังกล่าว โดยไทยออยล์ได้มีการทำหนังสือเร่งรัดให้ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ตลอดจนบริษัทแม่ของ UJV– Samsung, Petrofac และ Saipem ชำระค่าตอบแทนค้างจ่ายให้แก่บริษัทผู้รับเหมาช่วงมาโดยตลอด เพราะเป็นหน้าที่ตามเงื่อนไขของสัญญารับเหมาช่วงจากกรณีดังกล่าว ไทยออยล์และผู้รับเหมาช่วง ต่างเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ทำตามสัญญาของ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ดังนั้น การเร่งบริหารจัดการโครงการ CFP จึงเป็นเป้าหมายหลัก และเร่งด่วนที่ไทยออยล์มุ่งมั่นในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จโดย
เร็ว โดยได้ติดตามความคืบหน้าเหตุการณ์ล่าสุดอย่างใกล้ชิด และได้ประเมินผลกระทบทั้งด้านแผนงานของโครงการ (Project Timeline) ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธุรกิจ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไทยออยล์ ตลอดจนเตรียมแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อผลักดันการเดินหน้าโครงการ CFPให้แล้วเสร็จอย่างละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของไทยออยล์และผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี 2568 ถึงแม้ว่า สถานการณ์การเรียกร้องค่าตอบแทนค้างจ่ายของผู้รับเหมาช่วงจาก UJV– Samsung, Petrofac และ Saipem จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ CFP ให้ล่าช้า แต่ก็ไม่ได้ทำให้โครงการ CFP จะต้องเลื่อนเปิดดำเนินการออกไปอย่างไม่มีกำหนดแต่อย่างใด
แม้จะยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมาก ไทยออยล์ยังมุ่งมั่นที่จะเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon