ACE ปักหมุด 3 ปีข้างหน้า COD โรงไฟฟ้า 60 โครงการ

357

มิติหุ้น- “หุ้นโรงไฟฟ้า” ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “หุ้นปลอดภัย” หรือ Defensive Stock ของนักลงทุน ด้วยลักษณะธุรกิจที่มีรายได้ประจำจากการขายไฟฟ้าเข้ามาสม่ำเสมอ จึงมีความเสี่ยงต่ำ มีโอกาสเติบโตจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแรงหนุนจากนโยบายพลังงานของภาครัฐ อย่างไรก็ตามหลังผ่านช่วงการประกาศงบไตรมาส 3 ประจำปี 2567 พบว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าบางส่วนมีผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ราคาวัตถุดิบ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีผลกับแต่ละบริษัทมากน้อยต่างกันไป โดยหนึ่งในกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าที่น่าสนใจและมีการส่งสัญญาณว่าพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่วงจรการเติบโตรอบใหม่ นั่นคือ  บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ที่ทำธุรกิจพลังงานสะอาดครอบคลุมทั้งชีวมวล ชีวภาพ ขยะชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซธรรมชาติ มีโครงการรวมมากถึง 89 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมมากกว่า 647.98 เมกะวัตต์ ณ ปัจจุบัน แบ่งเป็นเปิด COD แล้ว 26 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 277.89 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนา 63 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมมากกว่า 370.09 เมกะวัตต์

กำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิจากกิจกรรมปกติ โตสองไตรมาสติด

            ไฮไลท์สำคัญของ ACE คือ กำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิจากกิจกรรมปกติที่หลังจากพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาส 1 ปี 2567 ก็มีการเติบโตต่อเนื่องติดต่อกันสองไตรมาส โดยกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ซึ่งอยู่ที่ 350.0 ล้านบาท เป็น 398.2 ล้านบาท ในไตรมาส 2 และ 462.0 ล้านบาท ในไตรมาส 3 และกำไรสุทธิจากกิจกรรมปกติเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 จำนวน 166.1 ล้านบาท เป็น 210.6 ล้านบาทในไตรมาส 2 และ 269.3 ล้านบาทในไตรมาส 3 หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของกำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิจากกิจกรรมปกติ เฉลี่ยไตรมาสละ 14.9% และ 27.3% ตามลำดับ

ขณะที่ รายได้จากการขายและบริการ (รวมรายได้จากสัญญาเช่าการเงินภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า) ในไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้น 10.7% จากไตรมาสก่อนหน้าจาก 1,566.7 ล้านบาท เป็น 1,734.2 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวลมีชั่วโมงการหยุดเดินเครื่องลดลง มีรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีรายได้เพิ่มจากการให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

เข้าสู่วงจรเติบโตรอบใหม่ จ่อ COD โรงไฟฟ้า 3 ปี เพิ่มอีกกว่า 63 แห่ง

               ในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงการปรับฐานเพื่อรอการเติบโตของบริษัทฯ หลังชนะการประมูลและได้รับ PPA ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเฟสแรกที่ ACE ได้รับคัดเลือกในประเภทโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ รวม 18 โครงการ และก็ยังทยอยชนะการประมูลและได้รับ PPA ต่อเนื่อง อาทิ ชนะการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 รวม 18 โครงการ ได้รับการลงนาม PPA โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเชียงหวาง ในพื้นที่ อบต.เชียงหวาง จ.อุดรธานี โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโชคชัย จ.นครราชสีมา ตลอดจนการได้คืนมาซึ่ง PPA โรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP 8 โครงการ เหล่านี้เสมือนเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์ล่วงหน้าเพื่อรอเก็บเกี่ยวเมื่อเติบโตในอนาคต

ซึ่งนับจากกลางปี 2567 เป็นต้นมา โครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่ทยอยลงมือก่อนสร้างก่อนหน้า ก็เริ่มผลิดอกออกผลนำ ACE เดินหน้าสู่วงจรเติบโตรอบใหม่ นำโดยการเปิด COD โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดคลองขลุง (SPP Hybrid คลองขลุง) กำลังผลิตติดตั้ง 20 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และยังมีอีกหลายโครงการที่คาดว่าจะเปิด COD เพิ่มเติม ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 5 โครงการที่เตรียมจะเปิดภายในสิ้นนี้ พร้อมประเมินว่าจะสามารถ COD โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มได้อีก 10 โครงการ และอีก 3 โครงการ ภายในปี 2568 และภายในปี 2570 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีกหลายโครงการที่คาดว่าจะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิด COD เพิ่มเติมอีกหลายโครงการในอนาคต

เทคโนโลยีโรงไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 – ขยะชุมชน

            ความก้าวหน้านี้ไม่เพียงส่งผลทางธุรกิจ แต่ธุรกิจพลังงานสะอาดของ ACE ยังช่วยสนับสนุนสังคมและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ด้วยความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่ผสมผสานเชื้อเพลิงได้หลากหลาย จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของประเทศอย่างจริงจัง ภายใต้แนวทาง “ลดเผา รายได้เพิ่ม” เปิดรับซื้อวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรมากกว่า 50 ชนิด อาทิ ฟางข้าว แกลบ ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล นอกจากลด PM 2.5 แล้วช่วยยังสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่ “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน” ของ ACE ใช้เทคโนโลยีระบบเผาตรงระบบปิด (Direct Incineration) ที่สามารถนำขยะทุกชนิดมาเทแล้วเผาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้เลย ทั้งยังเป็น Zero discharge ปลอดมลพิษตลอดกระบวนการ ต่างจากโรงไฟฟ้าขยะที่ใช้เทคโนโลยี RDF (Refuse Derived Fuel) ที่ต้องนำขยะมาผ่านการคัดแยก การลดขนาด ลดความชื้น เพื่ออัดแท่ง บรรจุและเก็บเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งทั้งสองประเภทถือเป็นเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าขยะสมัยใหม่ที่มีระบบป้องกันมลพิษที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าขยะบางแห่งในอดีตที่ใช้เทคโนโลยีแบบสมัยเก่า ทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ส่งปัญหากลิ่นเหม็น น้ำชะขยะที่กลายเป็นแหล่งเกิดเชื้อโรค ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ เกิดภาพจำที่ไม่น่าพิสมัยทำให้มีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในพื้นที่ต่างๆ เรื่อยมา

            เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของ ACE เป็นแบบเดียวกับที่เยอรมนีและญี่ปุ่น นำมาใช้แก้ปัญหาขยะล้นเมือง จึงเหมาะมากสำหรับเมืองที่ยังไม่มีระบบแยกขยะแบบประเทศไทย ยกตัวอย่าง จังหวัดขอนแก่นที่เมืองมีการขยายมากขึ้น การมี “โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเทศบาลขอนแก่น” ของ ACE นอกจากช่วยกำจัดกองภูเขาขยะเดิม ก็ช่วยกำจัดขยะใหม่ที่เกิดขึ้นแต่ละวันคู่กันด้วย เพราะขยะใหม่หากกำจัดไม่ทันจะทำให้เกิดปัญหามลภาวะ สุขภาวะ อาทิ น้ำเสีย หนู และกลิ่นได้มากกว่ากองภูเขาขยะเก่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากชุมชนและหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้าเยี่ยมชมว่าเป็น “โมเดลต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง” และมีการขยายโมเดลสู่พื้นที่สำคัญอีก 3 แห่ง ได้แก่ “โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่” ที่เปิดดำเนินการแล้วกว่า 4 ปี ล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัลด้านพลังงานอัจฉริยะ “ระดับดีเลิศ” ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุด จากเวที Smart City Solutions Awards 2024 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้มีอีก 2 แห่งที่นครราชสีมา และ อุดรธานี ที่เตรียมจะเปิดเพิ่มเติมในอนาคต

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon