กลยุทธ์ติดปีกการบินไทย สู่การเติบโตที่ไกลกว่าเดิม

351

มิติหุ้นTHAI หรือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หากไม่กล่าวถึงในเวลานี้คงไม่ได้ หลังจากผ่านพ้นมรสุม จนตั้งหลักสยายปีกผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และตั้งลำได้ชัดเจน บนรันเวย์ อีกครั้ง สะท้อนจากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2567 ที่โดดเด่นสามารถสร้างกำไรสุทธิ แตะระดับ 15,221ล้านบาท ถือเป็นภาพสะท้อนของความสำเร็จในการปฏิรูปธุรกิจและโครงสร้างองค์กรอย่างจริงจังจนสามารถฝ่าวิกฤติ และพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง ที่จะทำให้ “การบินไทย” ภายหลังยกเลิกกระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะเป็นองค์กรเอกชนที่เข้มแข็งกว่าเดิม ด้วยภาพลักษณ์ใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และบริการที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ทำให้การเดินทางในอนาคต จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะเป็นการพัฒนาต่อเนื่องที่เน้นความยั่งยืน ความโปร่งใส และการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด

น่านฟ้าสดใส เดินหน้าธุรกิจเอกชนเต็มตัว

หากนับจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 กระทรวงการคลัง เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51.03% ขายหุ้นให้กับกองทุนวายุภักษ์ ทำให้กระทรวงการคลังเหลือสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 47.86% ทำให้ การบินไทย พ้นสภาพการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ทันที และดำเนินการภายใต้การเป็น “บริษัทเอกชน” มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพและความคล่องตัว แข่งขันได้ในตลาดอุตสาหกรรมระดับนานาชาติได้อย่างดียิ่งขึ้น

อีกทั้งการพ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ ยังเป็นผลดีต่อการสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการให้กับการบินไทยลดการแทรกแซงจากภายนอก โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านบุคลากร การแต่งตั้งคณะผู้บริหาร และพนักงาน  ทำให้สามารถแต่งตั้งผู้บริหารที่มีความสามารถ เหมาะสมกับองค์กร มาบริหารงาน พิสูจน์ได้จากผลประกอบการที่ดีขึ้นในปีที่ผ่านมา รวมถึงการคัดเลือกพนักงานปัจจุบัน ที่มีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใส ยุติธรรมไร้เส้นสาย ตลอดจนมีการใช้ระบบ HR Core Value ที่ชื่อ Thai Touch มาช่วยในการจัดการบุคลากรอย่างมีระบบทำให้การตัดสินใจในการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างแม่นยำมากขึ้น รวมถึงการวัดผลและประสิทธิภาพการทำงานที่มีความเป็นระบบมากขึ้น

ขยายเส้นทาง เพิ่มฝูงบิน สู่การแข่งขันระดับโลก

ทั้งนี้ THAI ยังคงมีการขยายเครือข่ายเส้นทางบินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและแผนการมุ่งเน้นจัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่มาเพิ่มเติมเข้าฝูงบิน เช่น โบอิ้ง 787 Dreamliner ซึ่งมีน้ำหนักน้อยและมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดต้นทุนเชื้อเพลิงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะตอบโจทย์ในการยกระดับประสบการณ์ให้กับลูกค้า ทั้งคุณภาพการบริการ และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด บนทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืนในการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นในการพัฒนา Digital Marketing เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วโลกได้มากขึ้น โดยการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ในการโปรโมตเที่ยวบิน โปรโมชั่นพิเศษ พร้อมทั้งการเปิดตัวแอปพลิเคชัน “THAI Mobile” ของการบินไทย ในการให้บริการจองตั๋วโดยสาร และจัดการการเดินทางที่สะดวกครบวงจร ซึ่งผู้โดยสารสามารถเช็คอินออนไลน์ ติดตามสถานะเที่ยวบินแบบเรียลไทม์ จัดการบัญชีสะสมไมล์ Royal Orchid Plus และชำระเงินผ่านช่องทางที่หลากหลาย ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การเดินทางที่ง่ายและรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ถูกออกแบบให้ใช้งานง่ายและตอบโจทย์การเดินทางในยุคดิจิทัล

โดยภาพลักษณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาในการยกระดับธุรกิจ จะทำให้ “การบินไทย” มีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดโลกในฐานะเอกชนที่แข็งแกร่ง และพร้อมสำหรับการแข่งขันระดับโลก ที่จะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย

THAI พร้อม Take off สู่ตลาดหุ้น

จากแผนต่าง ๆ จนถึง ณ ตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงสำคัญที่ “การบินไทย” จะเดินหน้ายกเลิกการฟื้นฟูกิจการ เพื่อกลับเข้าสู่การ “ซื้อ-ขาย” ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อีกครั้ง หลังจากได้ดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ควบคู่การดำเนินธุรกิจจน EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567 เท่ากับ 27,869ล้านบาท ถือได้ว่าสูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง

โดยจากนี้เหลือเพียงการปรับโครงสร้างทุน ในส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ยังคงติดลบ 27,825 ล้านบาท ซึ่งจะมีกระบวนการปรับโครงสร้างทุน เพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน โดยได้เปิดให้เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุนแสดงเจตนาการใช้สิทธิ แปลงหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) และ/หรือใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาและการบินไทยจะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกส่วนรวมกับหุ้นที่เหลือจากการที่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่ใช้สิทธิหรือใช้สิทธิไม่เต็มจำนวนจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ ในราคาที่ผู้บริหารแผนกำหนด ที่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้การบินไทยจะมีการแถลงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ และรายละเอียดการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างทุนและพนักงานการบินไทย “การบินไทย…สู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ” ในวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2567 โดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live: Thai Airways ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 12.00 น.

นอกจากนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี จะมีการนัดประชุมเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ที่ถูกเลื่อนจากวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาไปเป็นวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 โดยมี 3 วาระสำคัญในการพิจารณา เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถร่วมลงมติได้ โดยที่ประชุมจะไม่นับคะแนนเสียงที่ไม่ได้มาประชุม

ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการปรับโครงสร้างทุน เพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2567 และภายหลังจากการปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จ “การบินไทย” จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 เพื่อแต่งตั้งกรรมการใหม่ ถือว่าเป็นการบรรลุผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการที่วางไว้

หมายเหตุ: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon