จากแนวคิดเรื่องปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องการสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ ทางกระทรวงการคลังจึงได้ เร่งพิจารณาปรับโครงสร้างภาษี เช่น การลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% จาก 20% รวมถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 15% จากเดิมอยู่ที่ 0-35% และมีแผนปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิมที่ 7% โดยมีเพดานสูงสุดที่ 15% ซึ่งยังอยู่ระหว่างศึกษา
ประเทศไทยยังขาดการลงทุน
ทางด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะประธานสมาคมไทย กล่าวว่า การขึ้นภาษีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างภาษี คนที่อยู่ในระบบภาษีจะมีไม่เพียงพอต่องบประมาณรายจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบสวัสดิการ ไม่ใช่งบลงทุน เมื่อประเทศขาดการลงทุน การแข่งขันสู้ได้ยากไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ
โดยปัจจุบันมีผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 12 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษี 4 ล้านคน และมีคนขอสวัสดิการของรัฐ 70 ล้านคน ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบที่เป็นต่างด้าว
ประเมินผลกระทบ
หุ้นได้-เสีย ประโยชน์
บล.ทิสโก้ มองว่า เรื่องของภาษีเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งรายได้ของรัฐส่วนใหญ่มาจากกรมสรรพากร เป็น VAT ราว 41.3%, ภาษีนิติบุคคล ราว 34.7%, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ราว 18% โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหากลดภาษีนิติบุคคลทุก 1% จะกระทบต่อรายได้รัฐประมาณ 3.96 หมื่นลบ. ขณะที่การปรับขึ้น VAT ทุก 1% จะทำให้รัฐมีรายได้ 1.34 แสนลบ.
ดังนั้นหากขึ้น VAT ราว 10% และลดภาษีนิติบุคคล รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 2 แสนลบ. ทำให้ขาดทุนลดลง แต่จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ขณะที่บริษัทจดทะเบียนจะกำไรดีขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่หนี้ต่ำ ซึ่งจะทำให้ SET Index มี Upside เพิ่มขึ้น 6%
ทั้งนี้ได้วางกลยุทธ์การลงทุน ได้แก่ ธีม Inflation Hedge กลุ่ม Food & Beverage แนะ CPF,GFPT, TFG, FM, ICHI, SAPPE, CBG และธีม FDI Inflow กลุ่ม Industrial estate แนะ AMATA, WHA ในส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธีม Consumption effect อย่าง CPALL, BJC, CPAXT,CRC, COM7 และหุ้นที่ได้ประโยชน์น้อย อย่าง INTUCH, EA, SISB, RCL, ITC, CKP, DELTA, HANA, TU เพราะมีการจ่ายภาษีที่ต่ำ
บจ.กำไรดีขึ้น หนุน EPS GROWTH โต 6%
ด้านบล.เอเซียพลัส มองว่า ในภาพรวมเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะในส่วนของอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากการปรับลดลงมาจะทำให้ กำไรบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้น หนุน EPS GROWTH ในปีที่เปลี่ยนแปลง เพิ่มราว 6% และในอีกทางหนึ่งน่าจะหนุนให้ FDI ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาได้มากขึ้น สำหรับ VAT และ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สุดท้ายต้องรอ ดูผลการศึกษาว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ดีมากน้อยเพียงใด
เมื่อพิจาณาแหล่งรายได้ของรัฐบาลในงบประมาณปี 67 (ต.ค.66 – ก.ย.67) ส่วนใหญ่มาจาก VAT คิดเป็นสัดส่วน 28% หากมีการปรับโครงสร้างภาษีให้มาอยู่ที่ฐาน 15% ประเมินว่าจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้มากกว่าที่สูญเสียไป
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon