ค่าแรง 400 เศรษฐกิจไทย พร้อม หรือ?

148

มิติหุ้น – หลังนายกรัฐมนตรี ประกาศชัดในปีหน้าจะผลักดันการ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ” ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ ได้ว่าเป็นประเด็นที่ต้องจับ เพราะภาคเศรษฐกิจและธุรกิจไทย ยังไม่คล่องตัวเท่าที่ควรโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ที่บางภาคส่วนยังลืมตาอ้าปากไม่ได้หลังผ่าน โควิด-19 รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ที่ประกาศออกมายังเติบโตได้ไม่ทะลุ 3% ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลกับคำถามที่ว่า เศรษฐกิจไทยพร้อมหรือยังกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบนี้?

ขึ้นค่าแรงรวดเดียวฉุด SMEs

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ว่า ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำมีแรงงานประมาณเกือบ 10 ล้านคน ทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว โดยการขึ้นค่าแรงถือเป็นภาระที่จะตกที่ SMEs และภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นเต็มที่ หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทั่วประเทศ แบบกระชาก เชื่อว่าภาคธุรกิจรับไม่ได้แน่นอน และอาจจะทำให้ SMEs กลับไปเป็น NPL อีกครั้ง

เทียบมาตรฐานแรงงาน

อีกประเด็นที่น่าจับตาคือเรื่องที่ ภาคเอกชนเสนอว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ และควรเป็นไปตามกลไกไตรภาคีจังหวัด และที่สำคัญถ้าต้องการผลักให้แรงงานมีค่าแรงสูงกว่า 400 บาท ควรจะมีการยกระดับด้วย “การสอบเทียบมาตรฐานแรงงาน” และกำหนดมาตรฐานแรงงาน ซึ่งจะทำให้เวลาเอกชนจ่ายค่าจ้าง จะรู้สึกว่าคล่องตัว และได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการจ่ายค่าแรง

ค่าแรงกับระบบเศรษฐกิจ

ด้านนักวิชาการ มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงถือเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ต้องสอดคล้องกับการเติบโตด้วย เพราะถ้าหากขึ้นค่าแรงมากเกินไปจะกลายเป็นภาระได้ เนื่องจากภาคเอกชนจะต้องแบกรับต้นทุน หรืออาจผลักต้นทุนไปให้ภาคประชาชนรับผิดชอบแทน เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 6-7% และจะทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นอย่างน้อย 3-4% บนสมมุติฐานที่ภาคเอกชนผลักภาระไปให้ประชาชน 100% แต่เชื่อว่าเอกชนจะผลักภาระไปไม่มาก หรือ ประมาณ 20-40% ซึ่งอาจดันให้เงินเฟ้อบวกขึ้นประมาณ 1% เท่านั้น

รัฐยืนยันขึ้นค่าแรงดูผลกระทบ

โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท คงจะทยอยแบ่งปรับขึ้นเป็น 3 ระยะ ซึ่งจะอิงข้อมูลจริงตามภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้ปรับขึ้นพร้อมในคราวเดียวกันทุกสาขาอาชีพ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการ SMEs โดยจะพิจารณาลงไปในแต่ละพื้นที่ที่มีสภาพเศรษฐกิจแตกต่างกัน รวมทั้งจะพยายามปรับขึ้นให้ได้แต่คงไม่ได้ทุกอาชีพ

สุดท้ายนี้เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศจะออกมาเป็นอย่างไร ภาวะเศรษฐกิจไทยจะแบกรับได้หรือไม่ รวมถึงผลกระทบต่อราคาสินค้าจะเป็นอย่างไรในในช่วงนี้คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon