ส่องการศึกษาไทยในยุคที่เด็กเกิดน้อย

176

มิติหุ้น  –  ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และระบบการศึกษาในหลายมิติ หนึ่งในคณะผู้เขียนได้รับเชิญจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์และโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป” เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มประชากรในอนาคต การลดลงของประชากรวัยแรงงาน และการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ซึ่งล้วนเป็นความท้าทายสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ บทความนี้จะกล่าวถึง 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรและผลกระทบ ความท้าทายในระบบการศึกษา และแนวทางการวิเคราะห์กรอบความยั่งยืนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในโครงสร้างประชากร โดยข้อมูลจากบทความพิเศษ “จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทย ‘ตายมากกว่าเกิด’ ไปเรื่อย ๆ ” คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2083 จำนวนประชากรจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งในเวลาไม่ถึงศตวรรษ เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำกว่าการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” อย่างไรก็ตาม หากมองในระยะสั้น เช่น ปี 2050 พบว่าแนวโน้มประชากรยังขึ้นอยู่กับอัตราเจริญพันธุ์ (TFR) โดยในสถานการณ์ Medium Variant TFR จะคงที่ที่ 1.16 ส่วน Low Variant TFR จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 และ High Variant TFR จะลดลงต่ำกว่า 1.16 อย่างต่อเนื่อง หากอยู่ใน High Variant ประชากรสูงวัยจะเกินร้อยละ 20 ภายในปี 2025 ในขณะที่หากอยู่ในระดับ Low และ Medium Variant จะยังไม่ถึงระดับดังกล่าว สถานการณ์นี้สะท้อนถึงความเร่งด่วนในการวางแผนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

จากแนวโน้มโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ High, Medium หรือ Low Variant ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับปัญหาจำนวนนักเรียนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลให้ห้องเรียนและครูมีจำนวนเกินความต้องการ สถานการณ์นี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ปัญหาการกระจายตัวของนักเรียนในสายสามัญและสายอาชีวะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ซึ่งกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ม.3 แบ่งเป็นครึ่งหนึ่งในสายสามัญและอีกครึ่งหนึ่งในสายอาชีวะ แม้ว่าในปัจจุบันเราจะอยู่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แล้ว แต่ตัวเลขก็ยังสะท้อนว่าสายสามัญมีสัดส่วนสูงกว่าสายอาชีวะ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการขาดแคลนครูในสาขา STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ส่งผลให้นักเรียนมีแนวโน้มขาดพื้นฐานด้านนี้และเลือกเรียนสายสามัญมากกว่า นอกจากนี้ ผู้เรียนในระดับอุดมศึกษายังคงเลือกเรียนสายสังคมศาสตร์มากกว่าสายวิทยาศาสตร์ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปัญหาเหล่านี้น่าจะทำให้เกิดคำถามสำคัญ เช่น จะเกิดอะไรขึ้นหากสังคมไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ “ตายมากกว่าเกิด” ไปเรื่อย ๆ ? หรือจะมีแนวทางใดที่จะป้องกันไม่ให้ประชากรไทยลดลงจนเหลือเพียงครึ่งเดียวในอนาคต? การวางแผนระยะยาวที่ครอบคลุมทุกมิติน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเผชิญความท้าทายนี้

แนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยประเทศไทยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสร้างความยั่งยืนในระยะยาวได้คือการใช้ กรอบการวิเคราะห์ I = PAT ซึ่งพัฒนาโดย Harrison (1990) กรอบนี้เน้นการพิจารณาปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ I (Impact) ซึ่งหมายถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบทรัพยากร, P (Population) หรือจำนวนประชากร, A (Affluence) หรือระดับการบริโภคเฉลี่ยต่อคนในประชากร และ T (Technology) หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิตและบริโภค ในกรอบนี้ การเพิ่มหรือลดของตัวแปรแต่ละตัวส่งผลต่อผลกระทบโดยรวม (I) ตัวอย่างเช่น หากจำนวนประชากร (P) เพิ่มขึ้นโดยไม่มีการจัดการ อาจนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มากขึ้นและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (I) ในทางกลับกัน หากเทคโนโลยี (T) ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรหรือช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานของผู้สูงอายุ การบริโภคต่อหัว (A) และผลกระทบ (I) อาจลดลง ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น

ในบริบทของประเทศไทย การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น แพลตฟอร์มการทำงานทางไกล หรือเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในสายการผลิต จะช่วยบรรเทาปัญหาจากการลดลงของแรงงานวัยทำงาน พร้อมทั้งลดการบริโภคทรัพยากรเกินความจำเป็น นอกจากนี้ การสนับสนุนการศึกษาและส่งเสริมบุคลากรในสาย STEM ผ่านเทคโนโลยี เช่น แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ก็อาจช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูผู้เชี่ยวชาญ และสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต หากผู้อ่านสนใจแนวทางนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “การปันผลทางประชากรระยะที่ 3 ของประเทศไทย: โอกาสจากสังคมสูงวัยที่สร้างได้ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” โดยปิยะชาติและคณะ (2024) หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองใหม่เกี่ยวกับบทบาทของผู้สูงอายุในฐานะ “ทรัพยากรสำคัญ” ของประเทศ และแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในสังคมได้อย่างไร นอกจากนี้ยังสามารถศึกษางานวิจัย “The Prosperity Aspect of Sustainable Agronomy towards Sustainable Development: An Analytical Approach to the Future of Thai Population When Deaths are Greater Than Births” โดย Dhammasakiyo, Anil และคณะ (2024) ซึ่งนำกรอบ I = PAT มาประยุกต์ใช้เพื่อวางแผนการจัดการทรัพยากรและความยั่งยืนได้อย่างชัดเจน ผู้ที่อ่านหนังสือและงานวิจัยเหล่านี้จะได้รับแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้กับการพัฒนาสังคมไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยสร้างความท้าทายสำคัญต่อทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา และความยั่งยืนของสังคม เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาวที่ครอบคลุม ทั้งในด้านการส่งเสริมอัตราการเกิด การเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้ผู้สูงอายุ และการปรับตัวของระบบการศึกษาเพื่อสร้างทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต ซึ่งคณะผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าการใช้กรอบการวิเคราะห์อย่าง I = PAT จะสามารถช่วยประเมินแนวทางพัฒนาและจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างยั่งยืน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon