TISCO ESU คาดปี 68 เศรษฐกิจโลกโต 3.2% – เศรษฐกิจไทยโต 3% ท่ามกลางวิกฤตสงครามการค้า – จับตาเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอีกครั้ง

38
มิติหุ้น  –  TISCO ESU ฟันธง!! เศรษฐกิจโลกปี 2568 ขยายตัว 3.2% แรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าคาด จับตานโยบายกีดกันทางการค้าตัวแปรสำคัญกำหนดทิศเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดเติบโต 3.0% แรงหนุนจากรายจ่ายและการลงทุนภาครัฐ – เอกชนที่กลับมา การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น ด้านราคาน้ำมันคาดไม่ปรับลงแรงตามที่ตลาดกังวล ชี้ “หุ้น” ยังเป็นสินทรัพย์น่าสนใจลงทุนแม้ผันผวนมากกว่าปี 2567 โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) และกลุ่มสถาบันการเงิน (Financials) รวมถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเร่งตัวขึ้น
นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) (Mr. Methas Rattanasorn, Economist, TISCO Economic Strategy Unit) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงที่จะโน้มไปทางด้านต่ำ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ระดับ 3.2% โดยมีปัจจัยบวกมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด (Exceptionalism) อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ สถานการณ์สงครามที่ยังไม่คลี่คลายทั้งในตะวันออกกลาง และรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งจะสร้างความไม่แน่นอนแก่ราคาพลังงานและเงินเฟ้อ รวมถึงทิศทางของนโยบายการเงินโลก นอกจากนี้ ในหลายประเทศที่รัฐบาลมีภาระหนี้สินในระดับสูง อาจหันมาลดการขาดดุลงบประมาณลง ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินได้
ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced Economy) ส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงจากประมาณการเดิม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) ที่มีแนวโน้มชะลอลงจากหลายปัจจัย อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อผลผลิต และความขัดแย้งภายในประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ดี อุปสงค์ต่อสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวตามกระแสการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) จะหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย (Emerging and Developing Asia) ขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการผลิตและการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง
  • โอกาสและความท้าทายเศรษฐกิจไทย ในสมรภูมิชิงความเป็นใหญ่ระหว่างมหาอำนาจ
ด้านเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 TISCO ESU คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.0% สูงขึ้นจากปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% โดยเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีความสมดุลมากขึ้น อาทิ การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาท รอบใหม่ที่น่าจะช่วยพยุงการบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องสู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโรคระบาด (Pre-covid Level) แม้จะชะลอตัวลงจากปีนี้ก็ตาม ขณะที่นโยบายการเงิน มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเล็กน้อยราว 0.25% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มาอยู่ที่ 2.00% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการเงินในประเทศที่มีความตึงตัวขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกประเทศ อีกทั้งคาดว่า ธปท. จะมุ่งเน้นการใช้นโยบายการเงินแบบตรงจุด (Targeted Policy) พร้อมกับการรักษาพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต (Policy Space) ด้วยท่าทีที่เป็นกลางต่อไป
ในด้านปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ให้น้ำหนักที่สงครามการค้ารอบใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศที่ทรงตัวในระดับสูงมายาวนาน รวมถึงคุณภาพของสินเชื่อที่ด้อยลงต่อเนื่อง ดังนั้น ต้องจับตาการแปลงสภาพของสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) สู่การเป็นหนี้เสีย (NPL) โดยเฉพาะสินเชื่อหมวดยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง – ล่าง เพราะอาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ขณะที่ประเด็นเรื่องการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยความท้าทายที่ต้องจับตา เพราะอาจกระทบกับเศรษฐกิจไทยราว 0.3 – 1.1 Percentage Point ของ ประมาณการ GDP ตลอดช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นที่ระดับ 60% ตามที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่ รวมถึงอัตราภาษีดังกล่าวจะถูกขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่น ๆ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา
  • น้ำมัน – ตราสารหนี้ ในยุค No Landing เมื่อเงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังไร้จุดลงจอด
ด้านนายธนธัช ศรีสวัสดิ์ นักกลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Thanathat Srisawast, Strategist, TISCO Economic Strategy Unit) กล่าวถึงมุมมองต่อราคาน้ำมันและตลาดตราสารหนี้ (Fixed Income) ว่า TISCO ESU มองว่าราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate Crude Oil (WTI) จะเคลื่อนไหวในระดับราว 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ / บาร์เรลในปี 2568 ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ระดับประมาณ 76 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล จากแนวโน้มการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ และบราซิลที่มีโอกาสเติบโตได้ช้ากว่าที่ตลาดคาด หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับค่อนข้างต่ำจาก Sentiment ที่เป็นลบมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันปริมาณการผลิตน้ำมันจาก OPEC+ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 300,000-400,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะช่วยรักษาตลาดน้ำมันโลกในปี 2568 ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงสมดุลมากกว่าจะเกินดุล (Supply Surplus) อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้แนวโน้มราคาน้ำมันไม่น่าจะลดลงรุนแรงอย่างที่ตลาดเป็นกังวล นอกจากนี้ เราคาดว่ารูปแบบราคาสัญญาน้ำมันดิบ (Oil Futures Curve) จะยังคงลักษณะค่อนข้างเป็น Backwardation (สัญญาระยะสั้นมีมูลค่าสูงกว่าสัญญาระยะยาว) ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนในสัญญา Futures ราคาน้ำมันได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบเพียงอย่างเดียว
ด้านตลาดตราสารหนี้ (Fixed Income) เรามีมุมมองค่อนข้างเป็นกลาง (Neutral) ต่อพันธบัตรระยะยาวในปี 2568 โดยคาดว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (US 10-Year Treasury Bond Yield) จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.5-5.0% สะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้นและมีโอกาสทรงตัวใกล้ระดับ 3% จากเงินเฟ้อในภาคบริการและที่อยู่อาศัย ที่ยังคงสูงและหนืดในระดับประมาณ 5% ขณะที่คณะกรรมการ Fed ได้แสดงจุดยืนที่ไม่ต้องการใช้นโยบายการเงินเชิงตึงตัวอย่างหนัก เพื่อนำเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% โดยอาจต้องแลกกับการชะลอตัวลงอย่างมีนัยของเศรษฐกิจ แต่พยายามรักษาสมดุลระหว่างเป้าหมายเงินเฟ้อและการช่วยพยุงสภาพตลาดแรงงานไม่ให้อ่อนตัวลงมากเกินไป ทำให้สภาวะการเงินยังไม่เข้มงวดพอที่จะกดเงินเฟ้อลงต่ำกว่า 3% เราจึงมองว่าสภาวะ “No Landing” (ภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าศักยภาพ และเงินเฟ้อยังสูงกว่าระดับเป้าหมาย) จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2568 ส่งผลให้ Fed มีข้อจำกัดในการลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่า 4% และมองว่า Valuation ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวคือเมื่อ Bond yield อยู่ที่ระดับประมาณ 4.5% หรือสูงกว่า
  • มุมมองตลาดหุ้นโลกท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobphol , Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit) กล่าวว่า ในปี 2568 จะเป็นปีที่ตลาดหุ้นโลกผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยหลายด้านทั้งนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คาดเดาได้ยาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นวงกว้าง เช่น มาตรการกีดกันการค้า การตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันระหว่างประเทศ ซึ่งกดดันราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตให้เพิ่มขึ้น ทำให้ในปีหน้า มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่กระทบต่อภาพการลงทุน ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยังซื้อขายในกรอบ Valuation ที่แพง ประกอบกับบอนด์ยิลด์ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง กดดันให้อัพไซด์ของตลาดมีจำกัด และเพิ่มความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับฐานแรงมีมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในปีหน้าเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างยิ่ง
มองไปในระยะข้างหน้า เงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเร่งตัว โดยเฉพาะในหมวดราคาสินค้า ซึ่งเกิดจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่
  1. ผลกระทบจากสงครามการค้าตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงมาตรการกีดกันการค้าและการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันของหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  2. การย้ายฐานการผลิตออกจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ เช่น จีน เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี ที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  3. การลดดอกเบี้ยที่เร็วเกินไปของ Fed ทำให้ภาวะการเงินและสภาพคล่องกลับมาผ่อนคลาย และอาจทำให้การบริโภคและการลงทุนกลับมาฟื้นตัวขึ้นและเป็นสาเหตุให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้
  • ผลกระทบต่อการลงทุนในปี 2568
TISCO ESU ยัง “คงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากกว่าตลาด” (Overweight) ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่จะได้อานิสงค์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เช่น การลดภาษี และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งนี้ประเมินว่าหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม Tech อาจไม่ได้เป็นผู้นำตลาดต่อไปในปีหน้า เนื่องจากระดับ Valuation ที่แพง และแนวโน้มบอนด์ยิลด์ที่สูงจะเป็นปัจจัยกดดันต่อ Valuation ของหุ้นในกลุ่มเติบโตสูง นอกจากนั้นหุ้นในกลุ่ม Tech อาจเป็นเป้าหมายของการขึ้นภาษีตอบโต้สงครามการค้าของสหรัฐฯ อีกด้วย
ทั้งนี้ TISCO ESU แนะนำให้ปรับพอร์ตการลงทุนมาเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากทั้งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายในปีหน้า โดยเน้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากนโยบายลดภาษีนิติบุคคล และมียอดขายส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงจากการถูกตอบโต้จากสงครามการค้ามีจำกัด ซึ่งได้แก่กลุ่ม สินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) และกลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ นอกจากนั้น กำไรของภาคธนาคารยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างดอกเบี้ย (Interest Margin) ประกอบกับนโยบายสนับสนุนการลดกฎระเบียบในสถาบันการเงิน (Bank De-regulation) ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการปล่อยกู้ (Bank Lending Capacity) ของภาคธนาคารในระยะข้างหน้า
นอกเหนือจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เราให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่จะได้รับผลบวกจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงจากสงครามการค้ามีจำกัด ส่วนหุ้นในตลาดเกิดใหม่อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า บอนด์ยิลด์ที่ทรงตัวในระดับสูง และแรงกดดันเงินเฟ้อซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการลดดอกเบี้ยในหลายประเทศ ขณะที่ให้ “ลดน้ำหนักการลงทุน” (Underweight) ในตลาดหุ้นไทย เพราะการเติบโตของกำไรยังไม่ชัดเจนนัก
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon